มูลนิธิสยามกัมมาจล - เสวนาการ์ตูนไซไฟไทยในมหกรรมวิทย์ 2009 แนะเคล็ดลับง่ายๆ คนเขียนการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ควรเป็นนักอ่านที่ดี ต้องอ่านให้มากๆ เพื่อใช้ความรู้เป็นฐานแต่งแต้มจินตนาการสู่การสื่อสารวิทยาศาสตร์แนวใหม่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้มาก ยก “ญี่ปุ่น” เป็นแบบอย่างที่ดี ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกล การผลิตสื่อการ์ตูนไซไฟก็ยิ่งสะดวก ด้าน สวทช.เปิดประกวดการ์ตูนไซไฟครั้งแรกของไทย ชวนเยาวชนประลองฝีมือ
ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 ณ อิมแพค เมืองทองธานี นอกจากจะมีความรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอวดโฉม สร้างความรู้ ความสนุกสนาน และความบันเทิงให้แก่ผู้มาชมงานอย่างมากมายแล้ว เมื่อวันที่ 16 ส.ค.52 ที่ผ่านมายังมีการเสวนาในหัวข้อ “การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล” เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รู้จักกับวิธีการสื่อสารวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่เป็นที่น่าจับตามองชนิดนี้ โดยมี ดร.นำชัย ชีวะวิวรรธน์ นักวิจัยและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี นายอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ นักเขียนการ์ตูนมือรางวัลมาสาธิตการวาดภาพการ์ตูนอย่างง่ายๆ สร้างสีสันให้แก่วงเสวนา
เมื่อเริ่มการเสวนา นายสมบุญ เกรียงอารีกุล นักเขียนการ์ตูน ที่พ่วงตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ “ไอ้มดแดง” กล่าวว่า การ์ตูนเป็นสื่อที่เข้าถึงและจูงใจเด็กและเยาวชนได้มากที่สุด โดยที่ตัวเยาวชนเองเกิดความเคยชินอย่างไม่รู้ตัว สำหรับประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มากที่สุด ผู้เขียนการ์ตูนหลายเรื่องได้นำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นแกนหลักของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เด็กและเยาวชนของญี่ปุ่นได้รับความรู้ด้านนี้มาตั้งแต่เล็ก อาทิ การ์ตูนเรื่อง “เจ้าหนูปรมาณู” โดย อ.เทะซึกะ โอซามุ ซึ่งพูดถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ล้ำสมัย ปลุกให้คนญี่ปุ่นลุกขึ้นมามีความหวังกับชีวิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นชาติที่พ่ายแพ้สงคราม
หรือแม้แต่เรื่อง “โดราเอมอน” โดย อ.ฟูจิโกะ เอฟ.ฟูจิโอะ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีสำหรับนักอ่านชาวไทย ซึ่งสอดแทรกความรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ง่ายไปจนถึงยากให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านภาพการ์ตูนได้อย่างกลมกลืน โดยในส่วนของประเทศไทย ในอดีตก็เคยมีการ์ตูนเล่มอย่าง “ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์” จุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนมาแล้ว เช่นที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองซึ่งเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้พัฒนาไปเป็นความชื่นชอบในภาพยนตร์แนวฮีโร่อย่าง “ไอ้มดแดง” ที่มีส่วนผสมของวิทยาศาสตร์ผสมผสานอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บท” ก็เป็นพื้นฐานสำคัญของการ์ตูนไซไฟที่มองข้ามไม่ได้ นายวรากิจ เพชรน้ำเอก นักเขียนและประธานชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ “อาณานิคมหมายเลขศูนย์” แนะนำว่า การเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ได้ดี สนุกสนาน น่าติดตาม คุณสมบัติสำคัญของนักเขียนคือต้องเป็นนักอ่านตัวยง คือเมื่อรู้ตัวว่าต้องการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในเรื่องใดจะต้องเป็นผู้ค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นนั้นๆ อย่างมากมาย ยกตัวอย่างตัวเขาเองที่แม้ไม่ได้เรียนจบมาทางวิทยาศาสตร์แต่ก็สนใจใฝ่หาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการแต่งนิยายวิทยาศาสตร์ โดยอีกปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะทำเรื่องราวที่แต่งขึ้นมีความสนุกสนานและน่าสนใจมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
“ประเทศที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญได้นั้น จะต้องมีการสนับสนุนจากรัฐให้เกิดการ์ตูนไซไฟขึ้นอย่างครบวงจร ทั้งคนเขียนเรื่อง คนวาดการ์ตูน รวมทั้งยังต้องมีการตลาดที่ดี เหมือนอย่างการกีฬาของไทยที่กำลังมาแรง วิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องที่กำลังมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ใกล้ตัว” นายสมบุญ เสริมและว่า ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น การผลิตการ์ตูนก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนกว่าการ์ตูนแต่ละเรื่องจะผลิตออกมาได้อาจต้องใช้เวลา 6-7 เดือนทีเดียว แต่เวลานี้ใช้เวลาสั้นกว่านั้นมาก
โดยล่าสุด สวทช. ร่วมกับสมาคมการ์ตูนไทย ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัด “โครงการประกวดการ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 1” (Sci-Fi Comic Contest) ขึ้นเพื่อเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งนางรัตนา กิติกร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า เวทีการประกวดดังกล่าวจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมได้รับรู้ มูลนิธิสยามกัมมาจลซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริม “การมีจิตอาสาพัฒนาสังคมผ่านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน” เชื่อแน่ว่าเยาวชนไทยเป็นผู้มีความสามารถจะได้ใช้โอกาสนี้สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สวทช.จะได้เดินสายเปิดตัวโครงการในสี่ภูมิภาค เยาวชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.scbfoundation.com และเว็บบล็อก www.okkid.net หรือโทรศัพท์สอบถามเบอร์ 0-2291-3052-3 ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 20 ก.ย.52 เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารวิทยาศาสตร์แก่สังคม และพาให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป.