ผ่านไปเกือบเดือนนักดาราศาสตร์ทั่วโลกยังไม่หายฉงน สิ่งใดกันแน่ที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดี หลังนักดูดาวสมัครเล่นชาวออสซี่ตรวจพบคล้ายรอยไหม้บนพื้นผิวดาวเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เหมือนกับร่องรอยถูกดาวหางพุ่งชนเมื่อ 15 ปีก่อน แต่คาดว่าวัตถุปริศนาน่าจะมีขนาดราว 300 เมตร ส่วนร่องรอยถูกชนล่าสุดค่อยๆ ใหญ่ขึ้นและจางลง อาจเลือนหายไปในอีกไม่เกินครึ่งเดือน
สมาคมดาราศาสตร์ไทย จัดกิจกรรมรวมพลคนรักดาวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.52 ณ บริเวณด้านหน้าที่ทำการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (อาคาร 4) เอกมัย โดยมีการบรรยายพิเศษเรื่อง "ดาวพฤหัสบดีถูกชน" เป็นหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีเยาวชนและประชาชนที่สนใจดาราศาสตร์เข้าร่วมฟังจำนวนมาก และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยหลังการบรรยายพิเศษ มีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ เพื่อสังเกตร่องรอยดาวพฤหัสบดีถูกชนด้วย แต่น่าเสียดายที่ท้องฟ้าปิดจึงไม่สามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีได้
นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช หนึ่งในสมาชิกของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา นายแอนโทนี วีสลีย์ (Anthony Wesley) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวพฤหัสบดี และตรวจพบร่องรอยสีดำบริเวณใกลักับขั้วโลกใต้ของดาวพฤหัสบดี ที่ดูคล้ายกับมีวัตถุขนาดใหญ่บางอย่างพุ่งเข้าชนพื้นผิว เพราะร่องรอยดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับร่องรอยที่เกิดจากดาวหางชูเมคเกอร์-เลวี่ 9 (Shoemaker-Levy 9) พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดีเมื่อ 15 ปีที่แล้ว
ทันทีที่นายวีสลีย์ตรวจพบร่องรอยคล้ายดาวหางพุ่งชนดาวพฤหัสบดี เขาก็บันทึกภาพดังกล่าวไว้ แล้วติดต่อไปยังนักดาราศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งต่อมาในวันที่ 20 ก.ค. นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อินฟาเรดบันทึกภาพดาวพฤหัสบดี ทำให้ได้ภาพพื้นผิวของดาวพฤหัสบดี ที่มีบริเวณต้องสงสัยเป็นบริเวณที่สว่างจ้ามากกว่าบริเวณอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าบริเวณนั้นมีความร้อนสูงมากกว่าบริเวณอื่น จึงยืนยันได้ว่าดาวพฤหัสบดีน่าจะถูกวัตถุบางอย่างพุ่งชนจริงดังที่สงสัยกัน ซึ่งวัตถุที่ว่านั้นอาจเป็นได้ทั้งดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย
นักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีจากกล้องโทรทรรศน์อินฟาเรดมาคำนวณกลับ เพื่อหาขนาดของวัตถุปริศนาที่ทำให้เกิดร่องรอยดังกล่าว ได้ผลออกมาว่าวัตถุปริศนาที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้น่าจะเป็นดาวหางที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร ซึ่งหากดาวหางขนาดนี้พุ่งชนโลก จะก่อให้เกิดหลุมอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของปากหลุมประมาณ 3 กิโลเมตรเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ผ่านมาแล้วเกือบเดือน นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่าอะไรคือวัตถุปริศนาที่พุ่งชนพื้นผิวดาวพฤหัสบดีโดยที่ไม่มีใครคำนวณล่วงหน้าได้ และเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ อีกทั้งขณะนี้ร่องรอยที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ดังกล่าวก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น และมีสีจางลงเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าร่องรอยนี้จะสลายกลมกลืนไปกับชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีในอีกประมาณครึ่งเดือนข้างหน้า
กรณีที่ดาวหางพุ่งชนดาวพฤหัสบดี นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงดาวหางชูเมคเกอร์-เลวี่ 9 (Shoemaker-Levy 9) พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดีเมื่อเดือน ก.ค. 2537 โดยดาวหางได้แตกกระจายออกเป็น 21 ชิ้น ก่อนพุ่งเข้าชนดาวพฤหัสดี แต่นักดาราศาสตร์สามารถบันทึกร่องรอยการชนได้เพียงสิบกว่ารอยเท่านั้น และนักดาราศาสตร์ได้คำนวณไว้ว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุวัตถุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 เมตร พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดีมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ครั้ง ในรอบ 500 ปี
ทั้งนี้ ผลสรุปของเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะติดตามความคืบหน้าต่อไป และหากมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ จะนำมารายงานต่อทันที.