xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลใหม่ "ดาวหาง" อาจไม่ใช่เหตุสัตว์โลกสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก อาจไม่ได้มีต้นเหตุมาจากดาวหางพุ่งชนโลก (บีบีซีนิวส์)
นักวิทย์มะกันชูทฤษฎีใหม่ ดาวหางชนโลกอาจไม่ใช่ต้นเหตุทำสิ่งมีชีวิตโลกสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หลังใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ศึกษาการเกิดดาวหางคาบยาว ที่อาจโคจรมาปะทะกับโลกได้ แต่ก็ยังไม่หายสงสัย ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกหรือไม่

ทีมนักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในซีแอตเติล สหรัฐฯ ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เสมือนจริงจำลองการพัฒนาของกลุ่มของดาวหาง ที่เข้ามาในระบบสุริยะตลอดช่วงเวลา 1.2 พันล้านปีที่ผ่านมา เพื่อไขข้อข้องใจว่าดาวหางเหล่านี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะพุ่งเข้าชนโลกของเรา พร้อมกับได้รายงานผลการศึกษาวิจัยในวารสารไซน์ (Science)

นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า สิ่งมีชีวิตในประวัติศาสตร์โลกของเราจำนวนมากแค่ไหน ที่สูญพันธุ์ไปด้วยเหตุเพราะดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็เห็นพ้องต้องกันว่า ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งเข้าชนโลกเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน เป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ลง แต่เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้งกันแน่

จากการศึกษาแบบจำลอง นาธาน เคบ (Nathan Kaib) และทีมวิจัยพบว่าดาวหางค่อยๆ ปรากฏขึ้นในเมฆของออร์ต* (Oort Cloud) ซึ่งเป็นดงดาวหางจำนวนนับพันล้านดวง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ปีแสง และเชื่อว่าบริเวณรอบนอกของเมฆของออร์ตเป็นต้นกำเนิดของดาวหางคาบยาวที่ผ่านเข้ามาใกล้โลก ตามที่ระบุในบีบีซีนิวส์

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมฆของออร์ตเป็นแหล่งรวมเศษซากที่เหลือจากการกำเนิดระบบสุริยะเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน และเป็นแหล่งกำเนิดดาวหางคาบยาว ขณะที่ดาวหางคาบสั้น จะเป็นกลุ่มดาวหางที่มีต้นกำเนิดอยู่ภายในระบบสุริยะตรงบริเวณแถบไคเปอร์ (Kuiper belt) เช่น ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's comet) ที่มีระยะเวลาโคจรเข้ามาใกล้โลกในทุกๆ 75 ปี

วงโคจรของดาวหางคาบยาวจากเมฆของออร์ต จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถูกรบกวนด้วยแรงโน้มถ่วงของดวงดาวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และผลของมันไปกระตุ้นให้ดาวหางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะถี่มากขึ้น หรือเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฝนดาวหาง (comet showers)

ทว่าเคบและทีมวิจัยเสนอขึ้นใหม่ หลังจากศึกษาแบบจำลองว่า บริเวณเมฆของออร์ตชั้นใน อาจเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบยาวส่วนใหญ่ที่ผ่านเข้ามาในวงโคจรของโลก ซึ่งข้อเสนอนี้ชี้ให้เห็นว่าดาวหางที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนจำนวนไม่น้อยมาจากแหล่งกำเนิดที่ต่างไปจากที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจกันเมื่อก่อนหน้านี้ แต่ก็มีนัยสำคัญต่อการสืบสาวหาสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม วัตถุที่อยู่ภายในเมฆของออร์ตชั้นใน มีจำนวนเท่าไหร่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่นักวิจัยสร้างสมมติฐาน โดยให้มีจำนวนวัตถุสูงสุดที่อาจเป็นไปได้ในบริเวณเมฆของออร์ตชั้นใน จะมีวัตถุเพียง 2 หรือ 3 ส่วน จากทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว ที่สามารถโคจรมาปะทะกับโลกของเราได้ในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมา แต่ก็มีจำนวนไม่มากที่เข้าพุ่งชนโลกของเราได้จริงๆ เนื่องจากมีดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เป็นเกราะกำบังให้ ซึ่งแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ช่วยเหวี่ยงให้ดาวหางเหล่านั้นออกไปไกลจากโลกได้ หรือไม่ก็ดึงดูดเข้าหาและพุ่งชนตัวเองแทน

ทว่าการสูญพันธุ์ครั้งย่อยบนโลกเมื่อราว 40 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเกิดจากดาวหางที่เป็นหนึ่งในจำนวนของฝนดาวหางจากเมฆของออร์ต และน่าจะเป็นฝนดาวหางที่มีความรุนแรงมากที่สุดด้วยในประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์

"สิ่งนั้นมันบอกแก่คุณว่าฝนดาวหางที่มีกำลังรุนแรงมากที่สุด เป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งย่อยเท่านั้น และฝนดาวหางชุดอื่นๆ ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้รุนแรงน้อยกว่า ฉะนั้นฝนดาวหางน่าจะไม่ใช่ต้นเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ก็ยังไม่ช่วยขจัดข้อสงสัยไปได้ว่าของดาวเคราะห์น้อยที่เคยพุ่งชนโลก ทำให้ยุคไดโนเสาร์สิ้นสุดลงอย่างที่เชื่อกันหรือไม่" เคบ กล่าว.



*Oort Cloud : เมฆของออร์ต ดงดาวหางของออร์ต เป็นดงดาวหางนับพันล้านดวง อยู่ล้อมรอบระบบสุริยะเป็นทรงกลมห่างจากดวงอาทิตย์ออกไป 1 ปีแสง เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของดาวหางคาบยาว เมื่อมีดาวฤกษ์ผ่านเข้ามาใกล้จะกระตุ้นทำให้ดาวหางเริ่มเคลื่อนที่ออกจากดงดาวหางเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน

(เรียบเรียงจากพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทย สมาคมดาราศาสตร์ไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น