xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนายาใหม่ใช้เวลานาน เสนอศึกษายาที่มีอยู่ดีกว่ารอแต่ยา-วัคซีนไข้หวัด 2009 ที่มีไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เดวิด เฟดสัน ขณะบรรยายพิเศษเรื่อง Generic agents and their potential use in modifying the host response to pandemic influenza ที่อาคาร สวทช. โยธี เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 52
อดีตศาสตราจารย์แพทย์ ม.เวอร์จิเนียร์มาบรรยายในไทย แนะทุกฝ่ายร่วมมือกันต้านหวัดใหญ่ 2009 เผยยาและวัคซีนไม่พอสำหรับคนทั่วโลกแน่ พร้อมแนะหาวิธีใหม่ช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโอกาสได้ยาน้อย เสนอให้นักวิทย์หยิบยาเก่าจากโรคอื่นมาวิจัยใหม่ในเรื่องไข้หวัดใหญ่ อาจมีฤทธิ์ช่วยได้

ดร.เดวิด เฟดสัน (David Fedson) อดีตศาสตราจารย์จาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia School of Medicine) สหรัฐฯ ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแนวทางรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในหัวข้อเรื่อง "Generic agents and their potential use in modifying the host response to pandemic influenza" ที่อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิจัยไทยที่สนใจเรื่องไข้หวัดใหญ่เข้าร่วมฟังกว่า 30 คน รวมทั้งสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.สวทช. สรุปให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า จากการประเมินสถานการณ์การป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้มียาโอเซลทามิเวียร์เพียงพอสำหรับ 260 ล้านคนทั่วโลก ส่วนวัคซีนจะสามารถผลิตได้ราว 430 ล้านโดส ในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้รับยาและวัคซีนก่อนก็คือผู้ที่อยู่ในประเทศใหญ่ๆ ที่สามารถผลิตวัคซีนได้เอง

แล้วประชาชนที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่มีทั้งยาและวัคซีนจะทำอย่างไร? ซึ่งดร.เฟดสัน ตั้งคำถามขึ้นว่า จะมีอะไรที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้นอกจากวัคซีนและยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งหากค้นหายาตัวใหม่ก็อาจต้องใช้เวลานานมาก จึงได้เสนอแนะว่าน่าจะนำยาตัวอื่นที่มีการใช้รักษาโรคอื่นอยู่ในปัจจุบัน มาศึกษาว่าสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้หรือไม่

ดร.เฟดสัน ตั้งสมมติฐานว่ายาบางชนิด เช่น ยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ น่าจะเป็นประโยชน์ได้หากนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ยังไม่เคยมีใครศึกษาทดลองกันมาก่อน จึงน่าจะมีการนำมาศึกษากันเพื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้ เพราะยาในกลุ่มลดการอักเสบก็มีการนำมาใช้อยู่บ้างในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เสียชีวิต อาจเนื่องมาจาก 2 สาเหตุ คือ เสียชีวิตจากไวรัสที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น หรืออาจเสียชีวิตเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากเกินไป ซึ่งยาโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นั้นช่วยลดจำนวนไวรัสได้ดังที่รู้กันอยู่แล้ว

ทว่ายังไม่เคยมีการศึกษาว่า หากลดการทำงานของภูมิคุ้มกันลงบ้างอย่างเหมาะสมแล้วจะช่วยผู้ป่วยได้หรือไม่ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษาวิจัยกันต่อไปถึงวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อจะได้มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นนอกจากการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ดร.เฟดสัน ยังได้ยกตัวอย่างถึงการทดลองของนักวิทยาศาสตร์เมื่อประมาณ 35 ปีก่อน ที่ทดลองฉีดไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดที่รุนแรงและชนิดที่ไม่รุนแรง เข้าไปในไก่ตัวเดียวกัน พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ไวรัส 2 สายพันธุ์ดังกล่าว มีการผสมผสานกันเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากรณีเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่น หากเชื้อไวรัสเอช5เอ็น1 (H5N1) และ เอช1เอ็น1 (H1N1) มีโอกาสมาเจอกันในร่างกายของคนคนเดียวกัน ก็อาจเกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนดีเอ็นเอและกลายพันธุ์เป็นไวรัสตัวใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้

ดร.เฟดสัน ยังชี้แนะอีกด้วยว่า การควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้น ขณะนี้มีเพียงไม่กี่ร้อยคนทั่วโลกที่พูดถึงการผลิตวัคซีนกันอย่างจริงจัง ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มของนักไวรัสวิทยา นักระบาดวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่โดยตรง ทั้งที่จริงแล้วยังต้องการความร่วมมือจากทุกๆ คน จึงจะเป็นผล นักวิจัยสาขาอื่นก็สามารถร่วมคิดหาหนทางยับยั้งการระบาดของโรคนี้ได้เช่นกัน

รศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางที่ ดร.เฟดสัน เสนอแนะมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา และที่จริงควรมีการศึกษาผลของยาตัวอื่นต่อการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ตั้งแต่การระบาดเพิ่งเริ่มต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมียาโอเซลทามิเวียร์อยู่เพียงพอ ซึ่งแพทย์ก็จะเลือกใช้ยานี้ก่อนอยู่แล้ว ฉะนั้นการนำยาตัวอื่นมาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ทดแทนยาโอเซลทามิเวียร์จึงอาจยังไม่มีการดำเนินการในตอนนี้

"การบรรยายครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรองรับกับเหตุการณ์ร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่ง ดร.เฟดสัน เป็นตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ที่น่าชื่นชมมาก และ สวทช. ก็จะนำไปพิจารณาถึงแนวทางการวิจัยต่อไปในอนาคต" รศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ดร.เดวิด เฟดสัน
รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น