สเปนพบฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ อายุ 475 ล้านปี ยาวถึง 1 เมตร เก่าแก่สุดเท่าที่เคยพบ นักวิจัยเผยเพราะอาศัยอยู่ในทะเลที่น้ำเย็นจัด เลยทำให้ตัวใหญ่
สภาวิจัยแห่งชาติสเปน (Spanish National Research Council: CSIC) เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกในประเทศสเปน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอายุมากถึง 475 ล้านปี และมีขนาดลำตัวยาวถึง 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ 15 เซนติเมตร
ทีมนักบรรพชีวินวิทยาสเปน พบฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ดังกล่าวภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติคาบาเนรอส (Cabaneros National Park) ประเทศสเปน ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ก้นทะเลในยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น (Lower Ordovician period) ฟอสซิลหนอนทะเลดังกล่าวพบฝังตัวอยู่ในหินราบเรียบที่เป็นแนวยาวประมาณ 5 เมตร
ฮวน คาร์ลอส กูเตียร์เรซ มาร์โค (Juan Carlos Gutierrez Marco) นักบรรพชีวินวิทยาผู้ศึกษาฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ เปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นรอยคล้ายน้ำเมือกที่ถูกหลั่งออกมาและทำให้บริเวณนั้นแข็งตัวและไม่พังทลายลง ทำให้รักษาสภาพไว้รักษาสภาพฟอสซิลไว้ได้ง
"นี่เป็นร่องรอยของหนอนยักษ์ที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด ตั้งแต่ที่เคยมีการค้นพบมา ซึ่งฟอสซิลหนอนยักษ์ที่พบก่อนหน้านี้ครั้งล่าสุด พบในปีนี้ที่แคว้นเดวอน (Devon) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และคำนวณอายุได้ 200 ล้านปี" กูเตียร์เรซ มาร์โค เผย พร้อมอธิบายด้วยว่าทำไมหนอนทะเลยักษ์ดึกดำบรรพ์นี้จึงมีขนาดใหญ่โตนัก
"ช่วงเวลาเมื่อกว่า 450 ล้านปีก่อน ประเทศของเราเป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวใต้ทะเลของแผ่นดินทวีปในสมัยดึกดำบรรพ์ที่ยังติดกันเป็นผืนเดียวกัน ที่เรียกว่า กอนด์วานา (Gondwana) คาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian Peninsula) (ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ซึ่งก็คือประเทศสเปนในปัจจุบัน) เป็นดั่งขั้วโลกใต้ในยุคสมัยนั้น สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่เย็นจัด จะมีระบบเมตาบอลิซึม (metabolism) ที่ทำให้ร่างกายของพวกมันมีขนาดใหญ่กว่าโดยทั่วไป หรือที่เรียกันว่า โพลาร์ ไจแกนทิซึม (polar gigantism)" กูเตียร์เรซ มาร์โค อธิบาย