xs
xsm
sm
md
lg

ได้โอกาสอวดลายเส้นไทย ส่งประกวดการ์ตูนไซ-ไฟก่อน 20 ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์  กับหนังสือ ท่องแดนวิทยาศาสตร์ ผลงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ของเขาเอง และตัวอย่างการ์ตูน ดวงอาทิตย์ที่รัก
เห็นการ์ตูนญี่ปุ่นมาก็มาก การ์ตูนเกาหลีก็เข้ามาตีตลาดหนังสือวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย ถึงเวลาที่การ์ตูนไทยจะอวดลวดลายเล่าเรื่อง จินตนาการแบบวิทย์ๆ กันบ้าง กับเวทีประกวด "การ์ตูนไซ-ไฟ" ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยรวมทีมประกวด ใครมีแววได้สิทธิ์ดันทำการตลาดแอนนิเมชัน-คาร์แรคเตอร์ต่อยอดผลิตภัณฑ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม ได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดการ์ตูนไซ-ไฟไทยก้าวไกลสู่สังคม ครั้งที่ 1 (Sci-fi Comic Contest) โดยเปิดรับสมัครเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่งผลงานการ์ตูนด้านไซ-ไฟเข้าประกวด เพื่อคัดเลือกผลงาน 10 ทีมตีพิมพ์เผยแพร่เป็นรูปเล่มหนังสือการ์ตูน โดยที่ 10 ทีมซึ่งผ่านการคัดเลือกยังได้รับโอกาสเข้าค่าย "การ์ตูนไซไฟก้าวไกลสู่สากล" ทั้งนี้ แต่ละทีมรวมกลุ่มเป็นทีมละ 3 คน ส่งผลงานการ์ตูนภาษาไทยความยาวไม่เกิน 6 หน้ากระดาษ A4 ก่อนวันที่ 20 ก.ย.52

ดร.กฤษฏ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมิเดีย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคดนโลยีแห่งชาติ หัวหน้าโครงการประกวดฯ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือนักเรียน นักศึกษา และมองว่าเป็นโครงการนี้เป็นความท้าทาย โดยก่อนนี้ สวทช.เคยทำโครงการการ์ตูนชีวจริยธรรมมาครั้งหนึ่ง จึงเห็นแนวทางว่าการทำโครงการครั้งนี้มีความเป็นไปได้ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมจะได้รับการฝึกฝนการเขียนการ์ตูน ซึ่งสมาชิกทีม 3 คน อาจจะแบ่งกันทำงาน เป็นคนเสนอพลอตเรื่อง คนวาภาพ และคนประสานงานทุกอย่าง ซึ่งจะเป็นการฝึกทำงานเป็นทีม

นอกจากเผยแพร่ผลงานผู้ผ่านการคัดเลือกในรูปแบบหนังสือการ์ตูนแล้ว ดร.กฤษฏ์ชัยกล่าวว่า ผู้ที่มีผลงานที่จะส่งเสริมในเชิงธุรกิจได้ยังจะได้รับโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเขียนการ์ตูนในต่างประเทศ และผลงานของทีมที่สมบูรณ์ที่สุดยังจะได้ต่อยอกต่อไปในรูปของแอนนิเมชันหรือคาร์แลกเตอร์ต่าง เช่นเดียวกับการ์ตูนของต่างประเทศ อย่าง "มิคกี้เม้าส์" หรือ "โดราเอมอน" ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เป็นการ์ตูนในหนังสือ

พร้อมกันนี้โครงการประกวดฯ ยังได้นำร่องเผยแพร่การ์ตูนจากนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลงานคนไทย 9 เรื่อง ได้แก่ มีนัดกับไอน์สไตน์ สารรัก แรงแค้น ตำนานกระสือ ผู้พิทักษ์คุณธรรม ดวงอาทิตย์ที่รัก ลูกแก้วชีวิต ยาสารภาพบาป อาณานิคมหมายเลขศูนย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผลงานของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือเรื่อง "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ใน "โครงการนิทานดาว" ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นิยายไซ-ไฟดังกล่าวเขียนขึ้นในช่วงเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในเมืองไทยเมื่อปี 2538 ซึ่งอีกหลายปีกว่าจะเกิดปรากฎการณ์นี้อีก และเมื่อถึงตอนนั้นเกิดความคิดว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คงมีการแก่งแย่งพลังงานกันเยอะ แต่คงมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นพลังงานได้มาฟรี และและบางพื้นที่ถูกใช้ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ จนไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์บนฟ้าได้ แต่ตัวเอกของเรื่องอยากเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคา จึงเกิดเป็นเรื่องราวขึ้น

นอกจากนี้อดีต รมต.วิทยาศาสตร์ฯ ยังมีผลงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อีก 5-6 เรื่อง รวมถึงบทละครหุ่นเรื่อง "ตะลุยแดนเลือด" สำหรับรายการ "หุ่นหรรษา" ที่ดำเนินรายการโดย "ครูแอ๋ว" หรือ อรชุมา ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ละครหุ่นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นที่วิ่งไปตามกระแสเลือดและไปดูร่างกายส่วนต่างๆ แต่เขาบอกกับเราว่างานเขียนไม่ใช่งานหลักของเขา และเขาจะเขียนได้เมื่อเกิดจินตนาการในเรื่องนั้นๆ แต่ปัจจุบันมีภารกิจอื่นมาก และไม่บังเกิดจินตนาการเหมือนเมื่อก่อน จึงยังไม่มีผลงานเขียนใหม่ๆ ออกมา

สำหรับผู้ที่สนใจส่งการ์ตูนไซ-ไฟเข้าประกวด ผู้มีสิทธิ์ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ม.ปลายและอุดมศึกษา รวมทีมๆ ละ 3 คน ส่งผลงานเข้าประกวดได้เพียงทีมละ 1 ชิ้น โดยวาดภาพการ์ตูนและพิมพ์หรือเขียนเนื้อเรื่องเป็นภาษาไทย ด้วยความยาวไม่เกิน 6 หน้ากระดาษ A4 ส่งผลงานได้ถึงวันที่ 20 ก.ย.52

จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือก 10 ทีม เข้าค่ายอบรมการผลิตการ์ตูน แล้วประกวดชิงชนะเลิศอีกครั้งวันที่ 1 ธ.ค.52 สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2291-3052-3 , โทรสาร 0-2291-3054 , E-mail: Jupiter-ice@hotmail.com , www.okkid.net
 ดร.กฤษฏ์ชัย สมสมาน (ขวาสุด) ระหว่างแถลงข่าวโครงการประกวดการ์ตูนไซ-ไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น