xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ยิวปลูกถ่ายตับอ่อนหมูในหนูสำเร็จ อนาคตหวังใช้ในคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยอิสราเอลทดลองปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตับอ่อนของหมูในหนูทดลองได้สำเร็จ อนาคตอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์ได้ โดยได้นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวในระหว่างการประชุมโครงการความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 52
อิสราเอลเผยผลงานวิจัย ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตับอ่อนของหมูในหนูสำเร็จ เนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ดี และสร้างอินซูลินได้ด้วย แต่ยังต้องวิจัยต่อถึงผลข้างเคียงระยะยาว หวังนำมาใช้กับคนในอนาคต

ศ.เยียร์ เรสเนอร์ (Prof. Yair Reisner) หัวหน้าภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เวซแมน (Weizmann Institute of Science) ประเทศอิสราเอล เปิดเผยผลงานวิจัยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อนของหมู เพื่อการรักษาเบาหวาน ในระหว่างการประชุมโครงการความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล (Thai-Israeli Science and Technology Cooperation Project) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ค.52 ที่ผ่านมา โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมฟังด้วย

ศ.เรสเนอร์ และทีมวิจัยได้ทดลองนำเนื้อเยื่อตับอ่อนของหมู ไปปลูกถ่ายให้กับหนูทดลอง พบว่าเนื้อเยื่อตับอ่อนของหมูสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างอินซูลิน เพื่อรักษาอาการเบาหวานในหนูทดลอง SCID mice ได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจสามารถพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาแก่มนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกถึงผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นจากการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากสัตว์ต่างเผ่าพันธุ์ ศึกษาการลดความเป็นพิษของการกดภูมิคุ้มกัน รวมถึงพัฒนาวิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ที่ใช้โดสของเนื้อเยื่อในปริมาณน้อยที่สุด

นอกจากนั้น ยังวางแผนที่จะขยายการวิจัยไปสู่การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตับและม้ามด้วย เพื่อพัฒนาไปสู่การนำเนื้อเยื่อจากหมูมาใช้ปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรคต่างๆ ในคนต่อไปในอนาคต

การนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล ที่ได้รับการผลักดันโดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหวังจะสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างทั้งสองประเทศ และให้ประเทศไทยได้เรียนรู้แนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆของโลกอย่างอิสราเอล

ด้าน ดร.กีรวิชญ์ เพชรกุล นักวิทยาศาสตร์ไทย ที่เพิ่งกลับจากการไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกในอิสราเอล 2 ปี และได้มาร่วมฟังการประชุมครั้งนี้ด้วย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ว่างานวิจัยเรื่องการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะในประเทศอิสราเอลก้าวหน้ามากในระดับโลก

อีกทั้งในอนาคตมีความเป็นไปได้ ที่จะสามารถนำเนื้อเยื่อหมูมาปลูกถ่ายในคนเพื่อการรักษาโรคหรือซ่อมแซมอวัยวะ เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับของมนุษย์มากที่สุด แต่ก็ยังต้องศึกษาและพัฒนาอีกหลายขั้นตอนเพื่อยืนยันว่าสามารถใช้ได้จริงโดยไม่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย

ทั้งนี้ ดร.กีรวิชญ์ ได้ทุนไปศึกษาวิจัยหลังปริญญาเอกในสาขาชีววิทยาโมเลกุลและชีวเคมี ที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เนเกฟ (The National Institute for Biotechnology in the Negev) มหาวิทยาลัยเบน-กูเรียน แห่งเนเกฟ (Ben Gurion University of the Negev) เมืองเบียร์เชวา อิสราเอล โดยบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้นักศึกษากล้าคิดกล้าทำ ทำให้วิจัยค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และให้ทุนเรียนแก่นักศึกษาปริญญาโท-เอก ทุกคน

ทั้งยังมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีมาก และหลังจากที่ได้ไปทำวิจัยในอิสราเอลแล้วก็ประทับใจมากกว่าก่อนหน้าที่จะไป ซึ่งหากมีโอกาสก็อยากจะไปศึกษาหรือดูงานที่อิสราเอลเพื่อนำความรู้กลับมาสู่ประเทศไทย.
ศาสตราจารย์เยียร์ เรสเนอร์
ดร.กีรวิชญ์ เพชรกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น