xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคเล็งศึกษา "เห็ดพิษ" รวบรวมข้อมูลเห็ดห้ามกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล
ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดราเผย  "ไบโอเทค" วางแผนจะร่วมกับ สธ. ศึกษาเห็ดพิษ รวบรวมข้อมูลตั้งแต่การบริโภคเห็ดของคนไทย ไปจนถึงการจำแนกชนิดเห็ดที่กินได้หรือไม่ได้ พร้อมศึกษาหาที่มาของพิษในเห็ด หวังได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และลดปัญหาผู้ป่วยจากเห็ดพิษ

ในระหว่างการแถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "วิวัฒนาการของเห็ดรา นับจากยุคชาร์ลส ดาร์วิน" โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เมื่อวันที่ 1 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล หัวหน้าห้องปฏิบัติการราวิทยา ของไบโอเทค เปิดเผยว่า ไบโอเทคมีแผนการจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดพิษ และให้ความรู้กับประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาผู้ป่วยและเสียชีวิตเนื่องจากการบริโภคเห็ดพิษ

ดร.สายัณห์ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า จากข้อมูลทางสาธารณสุข มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีราว 7-8 คน ซึ่งชาวบ้านที่เก็บเห็ดจากในป่าอาจแยกแยะเห็ดพิษบางชนิดไม่ออก เพราะลักษณะที่คล้ายกับเห็ดที่เคยบริโภคกันอยู่แล้วมาก จึงอาจเก็บรวมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นเห็ดพิษ เมื่อบริโภคเข้าไปก็เกิดอาการเจ็บป่วย และบางรายอาจเสียชีวิตได้

"ที่ผ่านมาไบโอเทคได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษที่ผู้ป่วยบริโภคเข้าไป ซึ่งค่อนข้างยากลำบาก จึงมีโครงการจะร่วมมือกันศึกษาเกี่ยวกับเห็ดพิษ โดยจะศึกษาตั้งแต่วัฒนธรรมการบริโภคเห็ดของคนไทยในแต่ละท้องที่ แยกแยะชนิดเห็ดที่กินได้หรือไม่ได้"

"ศึกษาพิษในเห็ดว่าเกิดจากเห็ดหรือเห็ดดูดซึมสารพิษเข้าไป รวมทั้งศึกษาอาการป่วยที่เกิดจากเห็ดพิษแต่ละชนิด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ช่วยบรรเทาปัญหาการบริโภคเห็ดพิษได้ และเป็นแนวทางศึกษาวิจัยต่อไป" ดร.สายัณห์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลดังกล่าวแล้วจะมีการรวบรวมเป็นหนังสือเกี่ยวกับเห็ดพิษด้วย โดยดร.สายัณห์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับเห็ดจำนวนมาก โดยบอกว่าเห็ดชนิดใดกินได้บ้าง แต่ยังไม่พบว่ามีหนังสือที่เกี่ยวกับเห็ดพิษโดยเฉพาะ หรือหนังสือที่บอกว่าเห็ดชนิดไหนกินไม่ได้บ้าง ขณะที่ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องเห็ดพิษกันค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นเห็ดคนละชนิดกับในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ดร.สายัณห์จะไม่ใช่ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่เป็นนักวิจัยด้านเห็ดราที่อยู่ในไบโอเทคซึ่งจะเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ดร.สายัณห์ บอกอีกว่า ห้องปฏิบัติการราวิทยายังเปิดให้บริการวิเคราะห์และจำแนกชนิดของเชื้อราที่สร้างความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมเป็นปีแรก โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อประมาณต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะให้บริการพร้อมกับเก็บข้อมูลความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดจากเชื้อรา เพื่อวิเคราะห์มูลค่าความเสียหายอย่างจริงจัง เพื่อหวังหาแนวทางแก้ปัญหาและลดมูลค่าที่ภาคอุตสาหกรรมต้องสูญเสียไปในส่วนนั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น