xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในเอเชีย "เชลล์ อีโค-มาราธอน" ชวนเยาวชนไทยร่วมลงสนามแข่งปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล (ที่ 2 จากซ้าย) แถลงข่าวการจัดการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ครั้งแรกในเอเชีย ที่จะจัดขึ้นในปี 2553 ที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีสมาชิกทีม ThaiGer จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การร่วมแข่งขันในยุโรปมาแล้วถึง 2 ครั้ง (ภาพจาก เชลล์)
"เชลล์" เตรียมเปิดสนามแข่ง "เชลล์ อีโค-มาราธอน" ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียปีหน้าที่มาเลเซีย ชวนนักเรียนนักศึกษาไทย ร่วมลงสนามประลองความสามารถด้านยานยนต์ประหยัดพลังงาน หวังกระตุ้นเยาวชนประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ พร้อมปลูกจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 16 ก.ค. เป็นต้นไป

บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด แถลงข่าวการจัดการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน (Shell Eco-marathon) ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่จะจัดขึ้นที่สนามรถแข่งนานาชาติเซปัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี 2553 พร้อมกันนี้ได้เปิดตัวสมาชิกทีมไทยเจอร์ (ThaiGer) ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน 2009 ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ร่วมงานแถลงข่าวพร้อมกับสื่อมวลชนอีกจำนวนมาก ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน เป็นการแข่งขันที่มอบรางวัลให้แก่ยานพาหนะที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด โดยใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด ซึ่งได้เริ่มจัดการแข่งขันขึ้นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ปี 2528 โดยจัดต่อเนื่องกันในทวีปยุโรปมานาน 25 ปีแล้ว และในปี 2550 ได้มีการขยายไปจัดการแข่งขันในสหรัฐอเมริกาครั้งแรก

"ในอนาคตเราจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานถึง 3 ประการด้วยกัน คือ ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น, เข้าถึงแหล่งพลังงานได้ยากขึ้น และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นจากการใช้พลังงานที่มากขึ้น ฉะนั้นเราจึงต้องคิดค้นเทคโนโลยีและหาแหล่งพลังงานใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานของโลกได้อย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"

"การแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน จึงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายผู้เข้าแข่งขัน ในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยสร้างยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นการปลูกจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าให้กับเยาวชนรุ่นใหม่" นางพิศวรรณ กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน และหวังว่าการจัดการแข่งขันขึ้นในภูมิภาคเอเชีย จะมีทีมนักศึกษาของไทยเข้าร่วมแข่งขันกันมากขึ้นด้วย

สำหรับในปี 2553 นี้ จะมีการจัดแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย โดยจะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย และจะหมุนเวียนไปจัดการแข่งขันในประเทศอื่นๆในภูมิภาคต่อไป โดยเชื่อว่านักเรียนนักศึกษาของประเทศในเอเชียก็มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศในยุโรปหรือสหรัฐฯ และการเปิดสนามแข่งขันในภูมิภาคเอเชียจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในการเดินทางไปแข่งขันในยุโรปหรือสหรัฐฯได้ และนำค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นมาใช้เสริมในการสร้างสรรค์รถที่จะนำเข้าแข่งขันได้

ส่วนในการแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน 2009 ที่เยอรมนี เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีทีมจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วยในชื่อทีมว่า ไทยเจอร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร (School of Renewable Energy Technology : SERT) และภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันฟาคโฮคชูเลอ ในสตราลซุนด์ (University of Applied Sciences, Fachhochchule Stralsund) เยอรมนี โดยเข้าร่วมการแข่งขันในนามของประเทศไทย ร่วมกับอีกกว่า 202 ทีม จาก 29 ประเทศทั่วโลก แ

นับเป็นการลงสนามแข่งขันครั้งที่ 2 ของทีมไทยเจอร์ ซึ่งเข้าแข่งขันในประเภทยานพาหนะต้นแบบแห่งอนาคต และใช้เชื้อเพลิงจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยล่าสุดสามารถทำให้ยานพาหนะวิ่งได้ไกลสุดถึง 1,050 กิโลเมตร ในการใช้เชื้อเพลิงเทียบเท่ากับการใช้น้ำมัน 1 ลิตร ขณะที่ทีมที่ชนะเลิศในประเภทเดียวกัน เป็นทีมนักศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสามารถนำยานพาหนะวิ่งได้ไกลสุดถึง 3,771 กิโลเมตร โดยใช้เชื้อเพลิงเทียบเท่ากับการใช้น้ำมัน 1 ลิตร

ดร.สุขฤดี สุขใจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมไทยเจอร์ เปิดเผยว่า การเข้าร่วมแข่งขันดังกล่าวทำให้สมาชิกในทีม ได้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีมชาวเยอรมัน และได้พบปะกับทีมที่เข้าแข่งขันจากประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และได้รับคำแนะนำจากทีมชั้นนำที่เข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วหลายครั้ง

ในปีหน้าก็จะเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งจากการเข้าแข่งขันมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้เห็นจุดบกพร่องของยานพาหนะของทีมตนเอง และควรจะแก้ไขอย่างไรบ้าง โดยหวังว่าในการแข่งขันปีหน้าจะสามารถนำรถวิ่งได้ครบรอบตามกติกาที่กำหนดก็พอใจแล้ว ส่วนจะชนะเลิศหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้ การแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. ยานพาหนะต้นแบบแห่งอนาคต (Futuristic Prototypes) เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันออกแบบประดิษฐ์ยานพาหนะ 3 หรือ 4 ล้อ โดยใช้เทคโนโลยีและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

2. ยานพาหนะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ขับขี่ในปัจจุบัน (Urban Concept Vehicles) เป็นยานพาหนะที่ออกแบบให้ใกล้เคียงกับรถยนต์ในปัจจุบันทั้งในด้านรูปลักษณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้

โดยสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะได้ทั้งเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมประเภทต่างๆ เช่น ดีเซล เบนซิน แอลพีจี หรือใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็ได้ เช่น เซลล์เชื้องเพลิงไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

นักเรียนนักศึกษาคนใด ที่อยากแสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ซึ่งเชลล์เปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนและนักศึกษาจากทุกสถาบันที่สนใจ โดยมีเกณฑ์การรับสมัครเบื้องต้นดังนี้ ผู้สมัครต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป, ทีมที่สมัครจะต้องได้รับการรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา และได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาต้นสังกัด

ทีมที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจะมีได้เข้าร่วมแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน ภูมิภาคเอเชีย 2010 ที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ค. 2553 ที่สนามรถแข่งนานาชาติเซปัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยเชลล์จะให้งบประมาณสนับสนุนทีมละ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้คำแนะนำต่างๆ พร้อมทั้งจัดหาผู้สนับสนุนเพิ่มเติมให้ด้วย โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2552 เป็นต้นไป ไม่จำกัดจำนวนทีมที่รับสมัคร และสำหรับทีมที่ส่งใบสมัคร 10 ทีมแรก จะได้รับเงินสนับสนุนพิเศษเพิ่มเติมอีกด้วย หรือดูรายละเอียดการรับสมัครเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.shell.com/eco-marathon
ดร.สุขฤดี สุขใจ (ขวาสุด) เล่าประสบการณ์การนำทีม ThaiGer เข้าแข่งขัน เชลล์ อีโค-มาราธอน 2009 ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก เชลล์)
สมาชิกทีม ThaiGer ทั้ง 4 คน จากทั้งหมด 16 คน (ภาพจาก เชลล์)
กำลังโหลดความคิดเห็น