"ลูก เจ้าแม่คลองประปา All Star Team" จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ คว้าชัยแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Contest ด้วยกลไกเยี่ยมนำหุ่นยนต์ลั่นกลองชัยเอาชนะ "กล้วยตาก" ทีมอาชีวศึกษาจากพิษณุโลก ทีมแชมป์เตรียมบินไปแข่งที่ญี่ปุ่น ส.ค.นี้
การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2552 ได้ทีมชนะเลิศจากการแข่งขันภายในวันสุดท้ายของงาน "ถนนเทคโนโลยี" ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท ระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.52 โดยทีมที่คว้าชัยคือ "ลูกเจ้าแม่คลองประปา All Star Team" จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งในรอบ 4 ทีมสุดท้าย พวกเขายังได้ประชันกับเพื่อนร่วมสถาบัน "ลูกเจ้าแม่คลองประปา" ก่อนจะเอาชนะ แล้วไปชิงชัยกับทีม "กล้วยตาก" ตัวแทนระดับอาชีวศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก
ผู้เข้าแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ทั้งหมด 3 ตัว เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ 2 ตัว และหุ่นยนต์บังคับด้วยคน 1 ตัว ทั้งสามตัวจะต้องเดินจากจุดเริ่มต้นเพื่อไปตี "กลองชัย" ที่ปลายทาง โดยมี "หุ่นยนต์อัตโนมัติ" ซึ่งอยู่หน้าสุดกับ "หุ่นยนต์บังคับด้วยคน" ที่อยู่ท้ายสุดช่วยกันหาม "หุ่นยนต์โดยสารอัตโนมัติ" ด้วยเสลี่ยงหามหรือ "คาโก" (Kago) และหุ่นยนต์โดยสารอัตโนมัตินี่เองรับหน้าที่ลั่นกลองชัย ซึ่งทีมไหนตีกลองได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ
รอบชิงชนะเลิศทีมลูก เจ้าแม่คลองประปา All Star Team สลับเป็นฝ่ายแดง-ฝ่ายน้ำเงินกับทีมกล้วยตากในการแข่งขัน 3 รอบ โดยรอบแรกทีมตัวแทนจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ชนะไปก่อนด้วยการลั่นกลองชัยได้ในเวลา 32 วินาที ถึงรอบสองยังคงมาแรงแต่ต้องชะงักบริเวณ Goal zone ซึ่งเป็นบริเวณให้หุ่นยนต์โดยสารอัตโนมัติตรงเข้าไปตีกลอง ทางทีมกล้วยตากจึงได้โอกาสชนะในรอบนี้ด้วยการตีกลองในเวลา 37 วินาที
ทั้ง สองจึงต้องลุ้นกันต่อในรอบสุดท้าย ซึ่งหนนี้เป็นโอกาสของลูกเจ้าแม่คลองประปาที่หุ่นยนต์ทั้งสามตัวขึ้นสะพาน ที่เสมือนเป็นภูเขาและลดเลี้ยวผ่านเสา 3 ต้นที่เป็นตัวแทนของต้นไม้ในป่า ไปจ่อที Goal Zone ได้ก่อนอีกครั้ง และไม่พลาดที่จะลั่นกลองชัยได้ก่อน การเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นจึงจบลงด้วยชัยชนะของทีมจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
นายธีรพล โชติวัฒนวาณิชย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ภายหลังคว้าชัยท่ามกลางเสียงเชียร์และบรรยากาศแสดงความยินดีที่อึกทึกว่า จุดเด่นของหุ่นยนต์ที่ทีมพัฒนาขึ้นมาคือกลไกดีและสปริงทรงตัวดี อีกทั้งยังเพิ่มความเร็วของหุ่นยนต์ได้และได้หาความเร็วที่พอดีเพื่อความ แน่นอนในการบังคับหุ่นยนต์
นอกจากนี้หุ่นยนต์โดยสารอัตโนมัติซึ่งจะ ปลดตัวออกจากเสลี่ยงหามหรือคาโกโดยอัตโนมัติก่อนลั่นกลองชัยของทีมลูก เจ้าแม่คลองประปา All Star Team ยังมีไม้ตีกลองถึงสามอัน ซึ่งช่วยให้ตีกลองชัยทั้งสามใบได้พร้อมกัน ต่างจากทีมอื่น ซึ่งจุดเด่นนี้ธีรพลบอกกับเราว่าได้ปรับปรุงหุ่นยนต์มาเรื่อยตลอดการแข่งขัน ในหลายๆ รอบที่ผ่านมา ก่อนถึงรอบชิงชนะเลิศในวันนี้
ทั้งนี้ ธีรพล พร้อมด้วยเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนคือ อมรเทพ เพียรพร้อม และขจรศักดิ์ จันทร์แจ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเดินทางไปแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ระดับเอเชียและแปซิฟิก (ABU Asia-Pacific Robot Contest) ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้กติกาการแข่งขันเดียวกันนี้ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน "ร่วมตะลุยลั่นกลองชัย" (Travel Together For the Victory Drums)
ในรอบชิงชนะเลิศนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมชมการแข่งขัน 2 ทีมแรกในรอบ 4 ทีมสุดท้าย พร้อมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งร่วมชมการแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศและมอบรางวัลด้วย
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ระดับประเทศไทยนี้จัด ขึ้นโดย บมจ.อสมท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) ส่วนการแข่งขัน ABU ระดับเอเชียและแปซิฟิกนั้น จัดขึ้นโดย สหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union) หรือ ABU ซึ่งสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสมาชิกจะร่วมกันเวียนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2545 ณ ประเทศญี่ปุ่น และไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี 2546