xs
xsm
sm
md
lg

อีก 3,500 ล้านปี โลกมีสิทธิ์ชนดาวเพื่อนบ้าน ไม่อังคารก็ศุกร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีก 3,500 ล้านปีข้างหน้า โลกและดาวอังคารหรือดาวศุกร์อาจโคจรมาเข้าใกล้กันหรือชนกันได้ (ภาพประกอบจาก www.gemini.edu
ทีมนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสศึกษาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบโลกมีโอกาสชนกับดาวศุกร์หรือไม่ก็ดาวอังคารในอีกราว 3,500 ล้านปีข้างหน้า แต่โอกาสที่ว่ามีเพียง 1 ใน 2,500 เท่านั้น ทว่าก็อย่าชะล่าใจ เพราะหากโลกโชคไม่ดี สิ่งมีชีวิตบนบนดาวสีน้ำเงินก็มีสิทธิ์สูญพันธุ์ได้ (ถ้ายังคงมี "ชีวิต" อยู่จนถึงวันนั้น)

เพราะอิทธิพลของวงโคจรดาวเคราะห์ที่สับสนอลหม่าน อาจทำให้ระบบสุริยะเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิงที่ควบคุมไม่ได้ และเป็นเหตุให้โลกชนเข้ากับดาวศุกร์หรือดาวอังคารได้ ตามรายงานผลการศึกษาวิจัยของทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดยจาค ลาสการ์ (Jacques Laskar) จากหอดูดาวปารีส (Observatoire de Paris) ประเทศฝรั่งเศส ที่ศึกษาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารเนเจอร์ (Nature)

ทว่าโอกาสที่จะเกิดการชนกันของโลกกับดาวเคราะห์เพื่อนบ้านนั้น มีเพียงแค่ 1 ใน 2,500 เท่านั้น และถึงจะเกิดขึ้นจริง ก็อีกตั้ง 3,500 ล้านปีข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้ลาสการ์ เปิดเผยในเอเอฟพีว่า พวกเขาศึกษาระบบสุริยะจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และพบว่ามีโอกาสถึง 99% ที่ดาวเคราะห์จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไปตลอดช่วงเวลาการเป็นดาวฤกษ์ที่ให้กำเนิดชีวิต

ทว่าหลังจากนั้น ดวงอาทิตย์ก็จะขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นดาวยักษ์แดงที่กลืนกินโลกและดาวเคราะห์วงในดวงอื่นๆ เข้าไปแล้ว ทั้งดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร

ทีมวิจัยได้ทดลองสร้างแบบจำลองคอมพิเตอร์ดูการโคจรของระบบสุริยะ ที่ไม่เสถียรในช่วง 5,000 ล้านปีข้างหน้า ซึ่งไม่เหมือนกับแบบจำลองที่เคยมีมาก่อนหน้า เพราะพวกเขาได้พิจารณาถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (theory of general relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ด้วย และพบว่าในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่หากเป็นช่วงระยะยาวนานกว่านั้นจะส่งผลให้วงโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

จากความเป็นไปได้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งหมด 2,501 กรณี จะมี 25 กรณีที่ระบบสุริยะจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจนทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์เปลี่ยนแปลงไป

และในจำนวนนี้จะมี 1 กรณีที่ดาวอังคารจะโคจรผ่านเข้ามาใกล้โลกมากๆ ในระยะห่างเพียง 794 กิโลเมตร ซึ่งมันเกือบจะเหมือนการปะทะกันของดาวเคราะห์ 2 ดวงเลยก็ว่าได้ เพราะแรงโน้มถ่วงที่มีต่อกันอาจจะทำให้ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ได้เหมือนกัน

"สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก (ถ้าหากว่ายังมีอยู่ถึงตอนนั้น) ต้องสูญพันธุ์ไปจนเกือบหมดอย่างแน่นอน" ลาสการ์ กล่าว

เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ทีมวิจัยได้เพิ่มแบบจำลองคอมพิวเตอร์เข้าไปอีก 200 แบบ และค่อยๆ เปลี่ยนวงโคจรของดาวอังคารในแต่ละช่วงเวลา พบว่ามี 5 แบบจำลองที่เผยให้เห็นการชนกันของดาว 2 ดวง ในซึ่งอาจเป็นดวงใดดวงหนึ่งในกลุ่มที่มีดวงอาทิตย์ โลก ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร โดยที่ 1 ใน 4 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญที่พบในทุกกรณีของแบบจำลองการโคจรอย่างยุ่งเหยิงของดาวเคราะห์นั่นคือ ดาวเคราะห์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น โดยที่ดาวพุธจะนำไปก่อนเพื่อน และจะเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่สูญเสียเสถียรภาพ เนื่องจากมีมวลน้อยที่สุดและในบางช่วงเวลาวงโคจรของดาวพุธยังจะได้รับอิทธิพลจากดาวพฤหัสบดีด้วย ซึ่งมีผลทำให้วัตถุที่เล็กกว่าสูญเสียเสถียรภาพได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น