สินค้าฉลากเขียวมีมานานแล้ว สินค้าที่มีฉลากคาร์บอนก็เพิ่งเริ่มต้นในปีนี้ และสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์คาร์บอนฟรุตพริ้นท์ ก็กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จักตราสัญลักษณ์ตัว G อีกมาตรฐานหนึ่งที่เป็นเครื่องการันตีสินค้าว่ามาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Production) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ด้วยการมอบตราสัญลักษณ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นางวรวรรณ ประชาเกษม นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่าได้เริ่มจัดทำโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549 โดยประชาสัมพันธ์และเชิญชวนผู้ประกอบการมาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติ และคณะกรรมการเข้าไปตรวจประเมินผล สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ จะได้รับตราสัญลักษณ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือตราสัญลักษณ์ตัวจี (G)
"สำหรับเกณฑ์การประเมิน คณะกรรมการจะพิจารณาจากการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ, ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือวัตถุมีพิษ, ใช้พลังงานอย่างประหยัดหรือใช้พลังงานสะอาด, มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และมีระบบการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ซึ่งขณะนี้เรามีเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 6 เกณฑ์ ได้แก่ การผลิตกระดาษสา, สุรากลั่น, สิ่งทอขนาดเล็ก, ผักผลไม้แช่เย็น/แช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์ไม้ และน้ำตาล และในอนาคตเราจะขยายออกไปเพิ่มมากขึ้นอีก" นางวรวรรณ ชี้แจงรายละเอียด
ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2551 มีผู้ประกอบการมาเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 300 ราย และมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์และได้รับตราสัญลักษณ์ตัว G ประมาณ 60 ราย สำหรับการมอบตราสัญลักษณ์ในปีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยตราสัญลักษณ์ตัว G แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเยี่ยม (สีทอง), ระดับดีมาก (สีเงิน), และระดับดี (สีทองแดง)
อย่างไรก็ตาม นางวรวรรณให้ข้อมูลต่อว่าในปีที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ในหมู่ผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับในปี 52 ได้จัดงานโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นกับสิ่งแวดล้อมขึ้นที่สยามดิสคัฟเวอรี เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักโครงการและสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ตัว G กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้ความรู้ในการพัฒนากระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสะอาด ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และหากผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและได้รับตราสัญลักษณ์ตัว G ก็จะช่วยชูจุดเด่นให้สินค้านั้นยิ่งขึ้น ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและองค์กร และเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสู่มาตรฐานสากลต่อไป โดยการมอบตราสัญลักษณ์ตัว G ในขณะนี้จะมอบโล่ห์และเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา และในอนาคตอาจมีการพัฒนาฉลากสัญลักษณ์ตัว G ให้ติดกับสินค้าทุกชิ้นของสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว
ด้าน น.ส.ธนพร แสนพิทยาพร เจ้าของร้าน A&M Cotton Design ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าฝ้ายทอมือรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และได้รับตราสัญลักษณ์ตัว G สีทองแดง เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้ในปี 51 ซึ่งเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง และมีเกณฑ์การประเมินที่เข้มงวด กว่าจะมอบตราสัญลักษณ์ตัว G ให้กับสินค้าแต่ละอย่าง
"รู้สึกดีที่มีองค์กรที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภูมิใจที่สินค้าของเราผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับตราตัว G ทองแดง เหมือนสินค้าเราได้รับ อ.ย. เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้ลูกค้าได้รู้ว่าเราคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ ใช้สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ เช่น มะเกลือ ใบกระบก ในขั้นตอนการผลิตจะทำแบบแฮนด์เมดทั้งหมด ใช้วิธีการผลิตที่มีมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ไม่ใช้เครื่องจักรเลย และจะพยายามปรับปรุงการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ในขั้นสูงขึ้นไป" น.ส.ธนพร กล่าว ซึ่งร้านของเธอตั้งอยู่ที่ เดอะมอลล์ บางกระปิ ส่วนสถานที่ผลิตอยู่ที่ จ.เชียงใหม่
ส่วนนายยุทธนา อภิโชติกร เจ้าของร้าน สุดารัตน์กระดาษสา จาก อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าได้เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปีแรก แต่เพิ่งได้รับตราลัญลักษณ์ตัว G สีทองแดง เมื่อปี 51 โดยเหตุที่เข้าร่วมเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ขณะที่มนุษย์มีส่วนทำลายโลกมากด้วยเช่นกัน และถ้าอุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยรักษาโลกได้ก็ยินดีที่จะมีส่วนร่วมด้วย
"เราเน้นใช้หลัก 3 อาร์ (3R) คือ ลดการใช้ (reduce), ใช้ซ้ำ (reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เช่น นำน้ำแช่ปอสามาใช้ซ้ำ ใช้น้ำต้มเยื่อปอสามาใช้ซ้ำโดยเติมโซดาไฟเพิ่มเข้าไปอีกเล็กน้อย ทำให้ช่วยลดการใช้สารเคมีได้ ส่วนเศษปอสาที่เหลือทิ้งก็นำกลับมาใช้ใหม่ และเพิ่มความสวยงามและความหลากหลายให้กระดาษสาด้วยวัสดุที่เหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด หรือใช้ตะแกรงตากปลาช่วยเพิ่มลวดลายให้กระดาษสา เป็นต้น ส่วนน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตก็นำไปผ่านระบบกรองแบบธรรมชาติด้วยก้อนหิน ดิน ทราย และต้นไม้พวกพุทธรักษา หญ้าแฝก ต้นกก เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้" นายยุทธนาอธิบาย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนที่ได้รับตราสัญลักษณ์ตัว G ได้มาร่วมออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสินค้าอื่นๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในงานนิทรรศการโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี ระหว่างวันที่ 2-10 มิ.ย. 52