สถานีอวกาศพร้อมอ้าแขนรับลูกเรือเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว หลังโซยุชทะยานฟ้านำนักบินอวกาศขึ้นไปประจำอีก 3 คน จาก 3 ชาติ เบลเยียม แคนาดา และรัสเซีย ไปพบกับลูกเรือที่ประจำอยู่ก่อนแล้วจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและรัสเซีย เมื่อเชื่อมต่อสำเร็จศุกร์นี้ไอเอสเอสจะกลายเป็นสถานีอวกาศทีมีลูกเรือหลากหลายชาติ เบ็ดเสร็จจะมีลูกประจำสถานีอวกาศทั้งหมด 6 คน
ยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียทะยานฟ้าจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ในคาซัคสถาน เมื่อเวลา 17.34 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยรายงานของสเปซไฟลท์นาว มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เพื่อนำนักบินอวกาศ 3 คน คือ แฟรงก์ เดอ ไวนน์ (Frank De Winne) จากเบลเยียม โรเบิร์ต เธิร์สก (Robert Thirsk) จากแคนาดา และ โรมัน โรมาเนนโก (Roman Romanenko) จากรัสเซีย ขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศ โดยยานจะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศศุกร์นี้
สำหรับนักบินอวกาศที่ประจำอยู่แล้วได้แก่ เจนนาดี พาดาลกา (Gennady Padalka) นักบินอวกาศจากรัสเซีย ไมเคิล บาร์รัตต์ (Michael Barratt) นักบินอวกาศจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) โคอิชิ วากาตะ (Koichi Wakata) นักบินอวกาศจากญี่ปุ่น ซึ่งแทนที่ทั้งสามจะแตะมือกับลูกเรือที่ขึ้นไปใหม่แล้วมุ่งหน้าเดินทางกลับโลกเหมือนเช่นเคย ครั้งนี้บีบีซีนิวส์ระบุว่าลูกเรือหน้าเก่าจะอยู่ประจำบนสถานีอวกาศร่วมกับลูกเรือชุดใหม่
การลำเลียงลูกเรือขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศในภารกิจเอกซ์พิดิชัน 20 (Expedition 20) หนนี้เป็นครั้งแรกที่สถานีจะรองรับลูกเรือถึง 6 คน โดยหลังจากนี้ 4 เดือน เดอ ไวนน์ซึ่งมีกำหนดประจำบนสถานีอวกาศ 6 เดือนจะรับหน้าที่เป็นผู้บังคับการบนสถานีอวกาศในภารกิจเอกซ์พิดิชัน 21 (Expedition 21) ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ตัวแทนจากยุโรปได้รับหน้าที่นี้ แต่ช่วงแรกเขาได้รับหน้าที่เป็นวิศวกรประจำเที่ยว
ชมคลิปยิงจรวดปล่อยยานโซยุซ ผ่าน youtube