xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม? ความหลากหลายชีวภาพกำลังถูก "เอเลียนสปีชีส์" รุกราน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลาซักเกอร์ซึ่งติดในทะเบียนรายชื่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรายการที่ 1 ซึ่งต้องกำจัดทิ้ง
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่ารอบๆ ตัวเรา เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่เป็น "เอเลียนสปีชีส์" และได้สร้างปัญหาให้สังคมไทยมายาวนาน ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ "ผักตบชวา" ที่กีดขวางคมนาคมทางน้ำ และปัจจุบันมีปัญหาจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นมากขึ้น และสร้างความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับ 2 รองจากการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์

ดร.จานากา เดอ ซิลวา (Dr.Janaka de Silva) ผู้แทนจากสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงคำนิยามของเอเลียนสปีชีส์ (alien species) หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นว่า หมายถึงสิ่งมีชีวิต ซึ่งเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ถิ่นประจำ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ โดยความตั้งใจนั้นอาจเป็นการนำเข้าเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง เ่ช่น เพื่อการเกษตร เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่รุกราน (Invasive) สิ่งมีชีวิตประจำถิ่นได้ เพราะไม่มีคู่แข่งเนื่องจากสิ่งแวดล้อมนอกถิ่นฐานเดิมของเอเลียนสปีชีส์นั้นไม่มีศัตรูโดยธรรมชาติ ยกตัวอย่างเ่ช่น "ผักตบชวา" ที่มีคู่แข่งอยู่ในถิ่นกำเนิด แต่เมื่อออกไปอยู่ถิ่นอื่นจึงสามารถเจริญเติบโตโดยไม่มีคู่แข่ง

แต่ใช่ว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการเคลื่อนย้ายไป-มาทั่วโลกนั้น จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่รุกรานสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งมีชีิวตนั้นๆ สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ หรือแม้ขยายพันธุ์ได้แต่หากเพียงแค่ปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาตินั้นๆ ก็กลายเป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นนั้น

สำหรับ "ผักตบชวา" นั้นสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ข้อมูลว่า เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สร้างปัญหาในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นสิ่งที่กีดขวางการคมนาคมทางน้ำ จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติในการควบคุมผักตบชวาออกมา แต่กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากไม่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ เพราะวัชพืชน้ำดังกล่าวไปแพร่กระจายเกินกว่าจะดูแล

ข้อมูลจาก ดร.จานากา ภายในงานประชุมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพ : ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน" ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.52 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ยังระบุด้วยว่า เอเลียนสปีชีส์ที่รุกรานสิ่งมีชีวิตอื่นนั้นเป็นปัจจัยของการสูญเสียความหลากลหายชีวภาพอันดับที่ 2 รองจากการบุกรุกของคนเพื่อนำพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพไปใช้ประโยชน์

ด้าน นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า ปี 2553 นั้นเป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะมีการประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น และทุกประเทศตั้งเป้าลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีนัยสำคัญ และต้องรายงานว่าได้ทำอะไรบ้างเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว ซึ่งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลในความหลากหลายทางชีวภาพได้

“ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดยังไม่รุกราน บางชนิดพันธุ์ต้องกำจัด และบางชนิดก็เข้ามานานแล้ว เช่น ผักตบชวา หอยเชอรี่ ซึ่งเราอาจจะรู้สึกภูมิใจต่อความหลากหลายทางชีวภาพของเรา แต่จะเกิดปัญหาความไม่ยั่งยืนและไม่สมดุลได้ หากเราไม่ทราบว่าความหลากหลายทางชีวภาพลดลงหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร" นางนิศากรกล่าว

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เม.ย.52 เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมและกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อให้เกิดการป้องกัน ควบคุม กำจัด เฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ ซึ่งทาง สผ.ได้ทำทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุมและกำจัดสำหรับประเทศไทย แนบท้ายมาตรการนี้ โดยแบ่งชนิดพันธุ์ออกเป็น 4 รายการ

รายการที่ 1 คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 82 ชนิด อาทิ ไมยราบยักษ์ ผักตบชวา หอยเชอรี่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งมีชีวิตในรายการนี้ต้องถูกกำจัดทิ้ง

รายการที่ 2 คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน 52 ชนิด เช่น กบบุลฟร๊อก หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งมีชีวิตในรายการนี้ อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง ควบคุม ไม่ให้แพร่กระจาย

รายการที่ 3 คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย 49 ชนิด อาทิ อีกัวน่า เม่นขนสั้น เป็นต้น ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ

รายการที่ 4 คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย 91 ชนิด เช่นหอยขวานจีน นกปรอดก้นแดง เป็นต้น ซึ่งต้องเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

ทาง สผ.ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การระบาดของชิดพันธุ์ต่างถิ่นส่วนใหญ่ มักเกิดจากการนำเข้ามาของหน่วยงานราชการ เช่น ไมยราบยักษ์ที่เคยนำมาใช้เพื่อป้องกันตลิ่งพังก็กลายเป็นปัญหาวัชพืชที่รุกรานระบบนิเวศน์ทางภาคเหนือของไทย เป็นต้น

ส่วนการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในเชิงการค้าก็ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะทำให้เราละเลยสัตว์พันธุ์พื้นเมือง จึงได้ร่างมาตรการนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเป็นภารกิจในฐานะภาคีคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวิตตั้งแต่ปี 2547

สำหรับการแก้ปัญหานั้น สผ.จะดูในเชิงนโยบาย และรับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่ค่อยประสานงานและหารือกับแต่ละหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรง เช่น การกำจัดหอยเชอรี ทางกรมวิชาการเกษตรก็มีแนวทางให้เกษตรกรนำไปผลิตปุ๋ย เป็นต้น แต่จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานของไทยยังตระหนักตามอนุสัญญาฯ ไม่ดีพอ หรือบางครั้งแผนที่มีไม่สอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญา

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้รับความเห็นจาก นายปียชนิตว์ เกษสุวรรณ ว่าที่นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเข้าร่วมงานประชุมความหลากหลายทางชีวภาพครั้งนี้ บอกกับเราว่า ปัญหาเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในบ้านเรา ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ รองจากการตัดไม้ทำลายป่า

"ทาง IUCN ได้ประเมินความเสียหายจากชนิดพันธ์ต่างถิ่นที่รุกรานไว้สูงถึง 2.5% ของ GDP โลก เรื่องนี้ในบ้านเราเท่าที่เคยติดตามมาก็มีการพูดคุยกันมานานพอสมควร เช่น ปัญหาผักตบชวา และการปล่อยปลาต่างถิ่นอย่าง "ปลาเทศบาล” และ "ปลาหมอสี" ลงในแหล่งน้ำ อีกทั้งก็มีปัญหาใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น ปัญหาของน้ำอับเฉาเรือที่นำแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตทางทะเลเข้ามาอย่างไม่ตั้งใจ” ปียชนิตว์กล่าว

อีกทั้ง การนำเข้าสัตว์เลี้ยงและสัตว์ทางเศรฐกิจที่ไม่มีการศึกษานั้น ปียชนิตย์บอกว่า อาจจะเกิดการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้ รวมทั้งยังต้องระมัดระวังในหลายๆ กิจกรรมที่มีการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เช่น "สปาปลา" ซึ่งมีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ ถ้าควบคุมดูแลดีก็อาจไม่เกิดปัญหา แต่เท่าที่เขาทราบพบว่ามีสปาบางแห่งใช้ลูกปลาหมอสีเกรดรองมาใช้ ซึ่งหากควบคุมไม่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาการปล่อยปลาที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติลงแหล่งน้ำจำนวนมากได้

"ปัญหาที่อาจจะพบได้อีกลักษณะหนึ่งก็คือ ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและไม้ประดับ ซึ่งแม้จะมีการควบคุมการนำเข้าที่ดีแต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ไม่น้อย เพราะสัตว์หรือพืชที่มีการขยายประชากรจำกัดในอีกซีกโลกหนึ่งอาจจะถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและมีผู้ควบคุมตามธรรมชาติ แต่หากถูกนำเข้ามาในบ้านเรา อาจจะเกิดการขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว หรือมีการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้" ปียชนิตย์กล่าว

เขาเสนอแนะว่า อาจจะต้องใช้การวิจัยหรือข้อมูลเทียบเคียงจากพื้นที่ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมคล้ายเราว่าการนำเข้าสิ่งมีชีวิตใดจะสร้างผลกระทบกับประเทศได้ หรือมีการรวบรวมข้อมูลสัตว์ที่เป็นผู้ควบคุมตามธรรมชาติไว้ เพื่อพิจารณาร่วมกันด้วย โดยเฉพาะสัตว์ที่นำเข้าในตลาดสัตว์เลี้ยงเลี้ยง เช่น ปลาหมอสี ปลาขนาดใหญ่สำหรับกีฬาตกปลา แมงมุม งู กบขนาดใหญ่ และกลุ่มสัตว์ฟันแทะ ซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมเมืองที่การเลี้ยงสัตว์มีพื้นที่จำกัด ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

"ข้อดีคือสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงและส่งออกได้ แต่หากปล่อยปละละเลยก็จะเป็นปัญหาเพราะมีโอกาสที่จะกลายเป็นสัตว์ผู้รุกรานได้ เพราะสัตว์กลุ่มนี้สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้อย่างดีมาก ดังนั้นสัตว์กลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เลี้ยงและผู้เพาะพันธุ์ให้ดี" ปียชนิตว์กล่าว.
บรรยากาศงานประชุมความหลากลหายทางชีวภาพ เรื่อง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
ดร.จานากา เดอ ซิลวา (Dr.Janaka de Silva)
โปสเตอร์แสดงสิ่งมีชีวิตที่ติดอันดับชนิดพันธุ์ต่างถินที่รุกราน
กำลังโหลดความคิดเห็น