xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมฟอสซิลไพรเมต 47 ล้านปี เชื่อเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมลิงสู่คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอห์น ฮอรัม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ แถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในหตระกูลไพรเมต พร้อมนำตัวอย่างฟอสซิลมาจัดแสดงด้วยที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (เอเอฟพี)
พบฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ 47 ล้านปี ในเยอรมนี ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน แต่ถูกนักล่าฟอสซิลเก็บเงียบ ทีมวิจัยเพิ่งพบและนำมาศึกษาได้ 2 ปี เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษในสายวิวัฒนาการของคนกับลิง ล่าสุดนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์ก แต่ยังมีนักวิทย์บางส่วนค้าน ไม่น่าจะใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตในตระกูลคน

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) ในเมืองนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา นำฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลไพรเมตอายุ 47 ล้านปี ออกจัดแสดง พร้อมการแถลงข่าว และการบรรยายพิเศษจากทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาฟอสซิลดังกล่าว โดยมีนักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน และผู้สนใจร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.52 ที่ผ่านมา

จอห์น ฮอรัม (Jorn Hurum) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งออสโล (University of Oslo Natural History Museum) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่าฟอสซิลนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ในบรรดาฟอสซิลของไพรเมตที่เคยค้นพบกันมาแล้ว โดยมีความสมบูรณ์ถึง 95% มีแม้กระทั่งเล็บที่ปลายนิ้ว ส่วนที่ขาดหายไปเป็นเพียงส่วนปลายของขาข้างหนึ่งเท่านั้น และในระบบทางเดินอาหารของฟอสซิลดังกล่าวยังมีหลักฐานของอาหารมื้อสุดท้ายที่กินเข้าไป ซึ่งบ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้กินพวกใบไม้และผลไม้ป็นอาหาร

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ฟอสซิลดังกล่าวนั้นมีอายุ 47 ล้านปี มีลักษณะคล้ายลิง มีขนาดพอๆ กับแมว มี 4 ขา มีหางยาว และเป็นเพศเมีย จึงได้รับการตั้งชื่อให้ว่า "ไอดา" (Ida) ตามชื่อลูกสาวของฮอรัม และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ดาร์วิเนียส มาซิลลี (Darwinius masillae) โดยตั้งตามชื่อของชาร์ลส ดาร์วิน (Charls Darwin) นักธรรมชาติวิทยาผู้เป็นบิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ และแหล่งที่ค้นพบคือ บริเวณแหล่งขุดค้นฟอสซิล เมสเซิล พิต (Messel Pit) ประเทศเยอมนี ซึ่งที่บริเวณนี้มีการขุดค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในยุคอีโอซีน (Eocene) แล้วจำนวนมาก

ทั้งนี้ ฟอสซิลของไอดาถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 โดยนักสะสมฟอสซิลผู้หนึ่ง และอยู่ในครอบครองของเอกชนเรื่อยมา กระทั่งกลุ่มของเฮอรัมไปพบเข้าในปี 2549 จึงขอซื้อต่อมาศึกษาวิจัยและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์

"เธอบอกเล่าเรื่องราวมากมายให้พวกเรารู้ ตั้งแต่พวกเราเริ่มศึกษาตัวอย่างฟอสซิลที่สมบูรณ์อย่างน่าเหลือเชื่อนี้" ฮอรัม กล่าว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์อัศจรรย์ใจอย่างมากที่ฟอสซิลนี้ได้รับการรักษาไว้อย่างดีเป็นระยะเวลายาวนานถึงเพียงนี้ และสันนิษฐานว่าไอดาน่าจะตายตั้งแต่อายุยังน้อยเพียง 9-10 เดือนเท่านั้น

แม้ว่าไอดาจะมีหางยาว ทว่ากลับมีลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกับลักษณะของมนุษย์ เช่น มีนิ้วหัวแม่มือที่เป็นอิสระจากนิ้วอื่นๆ มีแขนสั้นและขา รวมทั้งมีดวงตาที่มองตรงไปข้างหน้า (forward facing eyes) และเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตนี้เป็นบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างมนุษย์ ลิงใหญ่ รวมทั้งสัตว์ไพรเมตอื่นๆ โดยทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาครั้งนี้ในวาสารวิทยาศาสตร์พลอสวัน (PloS ONE)

จากการศึกษาฟอสซิลไอดา นักวิจัยพบว่า กระดูกบริเวณข้อมือข้างหนึ่งหัก จึงทำให้ไอดาอาจจะทุกข์ทรมานและไม่สามารถทำอะไรได้สะดวกนัก และเป็นไปได้ว่าในขณะที่ไอดามาดื่มน้ำที่ทะเลสาบเมสเซิล และสูดเอาไอระเหยของคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณดังกล่าวเข้าไปมากเกิน จึงทำให้ขาดอากาศหายใจจนสลบ และพลัดตกลงไปยังก้นทะเลสาบที่มีสภาวะบางอย่าง ที่ทำให้ฟอสซิลถูกรักษาไว้ในสภาพเกือบสมบูรณ์แบบ ได้เป็นระยะเวลาหลายสิบล้านปี ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

"ฟอสซิลนี้สมบูรณ์มากๆ ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในนี้เกือบหมด ซึ่งไม่เคยพบฟอสซิลไพรเมตที่ไหนสมบูรณ์แบบเท่านี้มาก่อนเลย ในการฝังศพมนุษย์คุณอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ร่างที่ถูกฝังมีความสมบูรณ์เหมือนอย่างฟอสซิลนี้ก็ได้" ฮอรัม กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุปของทีมวิจัยและจากความสมบูรณ์ของฟอสซิล ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาฟอสซิลของไอดามีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของมนุษย์และลิง

"ผมไม่คิดว่ามันจะมีความใกล้ชิดกับสายวิวัฒนาการของลิง ลิงใหญ่ และมนุษย์ มากเท่าใดนัก ผมอยากจะบอกว่ามันห่างไกลกันมาก แล้วที่คุณแยกสายวิวัฒนาการมาจากตรงนั้นและยังคงเป็นไพรเมตอยู่" ความเห็นของ เค. คริสโตเฟอร์ เบียร์ด (K. Christopher Beard) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคาร์เนกี (Carnegie Museum of Natural History) ในเมืองพิตส์เบิร์ก

เบียร์ด ยังบอกอีกว่ายังมีฟอสซิลอีกจำนวนมาก ที่พบในประเทศจีนและอยู่ในยุคเดียวกันและมีขนาดเล็กกว่านี้ กินอาหารที่หลากหลายมากกว่า แต่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากกว่าว่าวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลิง ลิงใหญ่ และมนุษย์ ซึ่งโดยมูลฐานแล้วฟอสซิลดังกล่าวนี้น่าจะเป็นของสัตว์ชนิดอื่นที่แตกต่างออกไป

ทางด้านจอห์น ฟลีเกิล (John Fleagle) นักวิทยาศาสตร์จากสเตต ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ นิวยอร์ก (State University of New York) เมืองโสตนนีบรูค ให้ความเห็นว่าทีมวิจัยให้ผลการวิเคราะห์เพียงด้านเดียวที่เกี่ยวกับรอยต่อระหว่างฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่พบใหม่กับสัตว์ไพรเมตขึ้นสูง หรือที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ที่เรียกว่า แอนโธรพอยด์ (anthropoids) และรวมทั้งมนุษย์ด้วย แต่ไม่ได้บอกตรงๆ เกี่ยวกับกำเนิดของแอนโธรพอยด์.
ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อายุ 47 ล้านปี ที่ค้นพบตั้งแต่ปี 2526 ในประเทศเยอรมนี แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งไปเจอและนำมาศึกษาเมื่อปี 2549 (เอเอฟพี)
ฟอสซิลนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ไอดา โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างคนกับลิง (เอเอฟพี)
ไมเคิล บลูมเบิร์ก (กลาง) พ่อเมืองนิวยอร์กซิตี้ มาร่วมในงานแถลงข่าวฟอสซิลของไอดาด้วยโดยมีจอห์น ฮอรัม (ขวา) นักวิจัยเป็นผู้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับฟอสซิลดังกล่าว (เอเอฟพี)
หนุ่มน้อยผู้นี้เพ่งพินิจฟอสซิลไอดาราวกับจะค้นหาให้ได้ว่านี่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์กับลิงจริงหรือเปล่า (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น