xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยใส่หน้ากาก-ไม่ป่วยล้างมือ ป้องกัน "หวัดใหญ่ 2009” ชะงัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ใส่หน้ากากให้คนป่วยป้องกันคนอื่นติดไข้หวัดใหญ่ได้ 80% แต่คนไม่ป่วยใส่หน้ากากป้องกันตัวเองได้แค่ 10% (เอพี)
แนะวิธีป้องกัน "ไข้หวัดใหญ่ 2009” ได้ผลชะงัด ให้คนป่วยสมหน้ากาก ป้องกันคนอื่นติดเชื้อได้ถึง 80% แต่คนไม่ป่วยสวมแล้วกันตัวเองติดเชื้อได้แค่ 10% แนะล้างมือให้สะอาดดีกว่า ส่วน "ยาทามิฟลู" ได้ผลดีกับหวัดนกแต่ป้องกันหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ไม่เด็ดขาด เพราะใช้ป้องกันการปล่อยเชื้อไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะวิธีป้องการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 H1N1 ระหว่างการสัมมนา "วช.กับการแก้วิกฤติโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอA 2009 H1N1” เมื่อวันที่ 15 พ.ค.52 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่าวิธีการป้องกันที่ดีสุดคือ "การล้างมือ" เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เราอาจไปสัมผัสมา แต่ไม่อยากเห็นคนที่ไม่ป่วยสวมหน้ากากอนามัย เพราะป้องกันการติดโรคได้เพียง 10% แต่ถ้านำหน้ากากไปสวมให้คนที่ป่วยจะป้องกันการติดโรคได้ถึง 80%

“ถ้ามีหน้ากากอยู่ 1 อันแล้วเห็นคนป่วย เอาหน้ากากไปสวมให้เขา จะป้องกันการติดโรคได้มากกว่า เพราะคนปกติสวมหน้ากากแล้วกันไม่ให้ติดโรคได้เพียง 10% และเมื่อเห็นคนป่วยสวมหน้ากากแล้ว ควรชื่นชมเพราะเขามีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าไปถึงแอลเอ (ลอสแองเจลลิส สหรัฐฯ) จะแปลกใจมากที่ไม่มีคนปิดปากเลย เพราะคนไม่ป่วยเขาไม่สวมหน้ากาก ถ้าป่วยเขาจึงสวมหน้ากาก" ศ.นพ.ยงกล่าว

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ยงยังแนะนำด้วยว่า หากไอหรือจาม ไม่ควรเอามือปิด เพราะมือยังนำเชื้อไปป้ายยังที่อื่นๆ ได้อีก หากไม่มีผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากาก ให้เอาแขนเสื้อส่วนบนปิด ไม่ใช่แขนเสื้อส่วนล่างเพราะเราอาจเผลอนำเชื้อไปป้ายที่อื่น ทั้งนี้หากเราป่วยเราควรมีความรับผิดชอบต่อคนอื่นที่จะไม่นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น

“จริงๆ ไข้หวัดใหญสายพันธุ์ใหม่ ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ระบาดตามฤดูกาลอยู่แล้ว คนที่ตายส่วนมากมีประวัติเป็นโรคอื่นร่วมด้วย อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ อัตราการตายจริงๆ น่าจะอยู่ที่ 0.5% แต่ก่อนหน้าที่บอกว่าอัตราตาย 6% นั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการนับเฉพาะยอดคนป่วยที่ไปโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะมีผู้ป่วยจริงๆ 60,000 คน ส่วนอัตราการตายที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 0.1%” ศ.นพ.ยงกล่าว

ส่วนการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์หรือทามิฟลูนั้น ใช้ได้ผลดีกับไข้หวัดนก แต่ไม่นำมาใช้ในการป้องกันเด็ดขาด เพราะยาดังกล่าวใช้ในการรักษาและป้องกันการปลดปล่อยเชื้อ ไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ ขณะที่การฉีดวัคซีนนั้นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ เห็นได้จากสหรัฐฯ ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันมาก แต่ก็ยังป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ส่วนวัคซีนจะช่วยให้อาการรุนแรงน้อยลงหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้

“ถ้าคนไทยอยากฉีดวัคซีนก็ไม่มีใช้ฉีด เพราะทั่วโลกผลิตวัคซีนได้เพียงปีละ 400 ล้านโดส โดย 50% ใช้ในสหรัฐฯ อีก 25% ใช้ในยุโรป และที่เหลือกระจายกันไปทั่วโลก สำหรับไทยนั้นจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน โดยให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่โรครุนแรงขึ้นเมื่อรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อหลายสายพันธุ์ เราไม่ได้ป้องกันตัวเราเอง แต่ป้องกันการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่" ศ.นพ.ยงให้ความเห็น

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีนักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนให้ความสนใจเข้าร่วมด้วย.
ป้ายรณรงค์ให้ล้างมือข้างศูนย์โรคติดต่อของโรคพยาบาลปรินเซสมาร์กาเรตต์ในฮ่องกง (เอเอฟพี)
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น