นาซาเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 160 ราย เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จากทั้งหมดที่วางแผนไว้ 900 คน เพื่อให้สอดรับกับแผนการปลดระวางยานอวกาศ 3 ลำ ในปีหน้า โดยยังเหลือภารกิจอีก 8 เที่ยวบิน พร้อมได้ข้อสรุปยานลำใหม่ "โอไรอัน" ขนาด 4 ที่นั่ง หวังประหยัดงบและเวลาเพื่อให้ทันใช้งานตามกำหนดในปี 2558
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) วางแผนจะปลดระวางยานอวกาศเอนเดaเวอร์ (Endeavour), แอตแลนติส (Atlantis) และดิสคัฟเวอรี (Discovery) ในปี 2553 ฉะนั้นจึงต้องมีการเลิกจ้างานพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานทั้ง 3 ลำออกด้วยบางส่วน รวมแล้วประมาณ 900 คน โดยรอยเตอร์รายงานว่านาซาจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. ปีนี้ ทว่าได้เริ่มทยอยเลิกจ้างพนักงานชุดแรกแล้วจำนวน 160 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
"นับเป็นการสูญเสียความสามารถในการผลิตที่สำคัญครั้งแรกของเรา" จอห์น แชนนอน (John Shannon) ผู้จัดการโครงการยานอวกาศของนาซา กล่าวกับผู้สื่อข่าว ซึ่งสเปซด็อตคอมรายงานว่าพนักงานของนาซาที่ถูกเลิกจ้างเป็นชุดแรก เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในส่วนของโรงงานสร้างจรวดขับดัน (solid rocket boosters) และถังเชื้อเพลิงสำหรับยานอวกาศ ที่ตั้งอยู่ในมลรัฐยูทาห์และนิวออร์ลีนส์ ซึ่งโรงงานไม่จำเป็นต้องผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้สำหรับเที่ยวบินที่เหลือของยานทั้ง 3 ลำ อีกต่อไปแล้ว
"ผมรักยานอวกาศ ผมทุ่มเททำงานกับยานอวกาศมาโดยตลอด แต่ในบางครั้งคุณก็ต้องตัดสินใจในสิ่งที่ยานนี้ถูกกำหนดให้เป็นไป และผมก็จะบอกว่ามันก็ควรเป็นไปตามนั้น" แชนนอน กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า พนักงานทั้ง 900 คน ที่จะถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ จะมีบางส่วนที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในโครงการอื่นๆ แทน เช่น โครงการสร้างยานลำใหม่ของนาซา
ทั้งนี้ นาซาจะปลดระวางยานเหล่านี้ในปีหน้า โดยยังเหลือภารกิจในการต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติและซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) รวม 8 เที่ยวบิน โดยในวันที่ 11 พ.ค. นี้ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) มลรัฐฟลอริดา จะมีการปล่อยยานแอตแลนติสเพื่อพานักบินออกไปซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์ฮับเบิล โดยนาซายังได้เฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไข้หวัดหมู หรือไข้ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช1เอ็น1 (H1N) แต่เป็นเรื่องดีที่ว่านาซายังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเชื้อร้ายดังกล่าว
หลังจากที่ยานอวกาศทั้ง 3 ลำที่ปฏิบัติภารกิจมานานหลายปีถูกเลิกใช้งาน นาซาก็ได้เตรียมสร้างยานลำใหม่ที่จะนำมาใช้งานแทนแล้วคือยาน "โอไรอัน" (Orion) ที่ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์คล้ายแคปซูลเหมือนกับยานอพอลโล (Apollo) เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นยานขนส่งนักบินและเครื่องมืออุปกรณ์ระหว่างโลกและสถานีอวกาศ นาซายังหวังจะใช้ยานลำใหม่นี้เป็นพาหนะพานักบินสหรัฐฯกลับไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งด้วยในปี 2563 โดยยานโอไรอันนี้มีกำหนดเที่ยวบินแรกในปี 2558
อย่างไรก็ตาม แรกเริ่มนาซาได้ออกแบบยานโอไรอันไว้ 2 รูปแบบ คือ แบบ 6 ที่นั่ง สำหรับลูกเรือที่จะขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ ที่ขณะนี้กำลังมีการยายสถานีอวกาศให้รองรับนักบินประจำการได้เป็น 6 นาย จากเดิม 3 นาย และอีกแบบหนึ่ง คือ ยาน 4 ที่นั่ง สำหรับภารกิจการเดินทางไปดวงจันทร์
ทว่าเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นาซาได้สรุปแล้วว่าจะเลือกสร้างยานโอไรอันแบบ 4 ที่นั่งก่อน ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งงบประมาณและเวลา เพื่อให้โอไรอันสามารถเริ่มปฏิบัติภารกิจแรกได้ทันตามกำหนด และยานโอไรอันคงจะต้องรับภาระหนักทีเดียว เพราะจะเป็นยานลำเดียวของนาซาที่มีหน้าที่ทั้งภารกิจต่อเติมสถานีอวกาศ และภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์และดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก รวมทั้งภารกิจเดินทางไปดวงจันทร์