xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งที่การแพทย์ก้าวหน้า แต่ใยเรายังเจ็บป่วย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั้งๆ ทฤษฎีใหม่ โลกที่เต็มไปด้วยสุขอนามัยช่วยให้เราห่างไกลโรคติดต่อ แต่อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (ภาพไลฟ์ไซน์/Dreamstime)
ทั้งๆ ที่โลกมีวิทยาการก้าวหน้า และการแพทย์สมัยใหม่ก็ก้าวไปไกลมาก แต่เรายังพบการระบาดของโรคใหม่ๆ อยู่เสมอ และ "โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ที่เปลี่ยนชื่อมาหลายรอบ และกำลังระบาดจนเป็นที่วิตกไปทั่วโลกนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในโรคมากมายที่รุมเร้าสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นเพราะคนเราจะป่วยง่ายกว่าในอดีต?

ขณะที่ภาพรวมคนเรานั้น มีแนวโน้มอายุยืนกว่าก่อน อายุเฉลี่ยของคนเราทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30 ปี ขึ้นมาเป็น 67 ปีในศตวรรษที่ 20 แต่เราก็ยังคงเจ็บป่วยในจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

ทั้งโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือแม้กระทั่งโรคแพ้ละอองฟาง (hay fever) จึงเกิดคำถามจากไลฟ์ไซน์ดอตคอมว่า ทำไมเราจึงป่วยกันบ่อยนัก ท่ามกลางเหตุผลมากมาย เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งของโรคในปัจจุบันนี้ อาจเป็นเพราะชีวิตที่มีสุขอนามัยเกินพอดี รูปแบบการใช้ชีวิตที่จมอยู่บนโต๊ะทำงาน รวมถึงการปราศจากปรสิตภายในช่องท้องของเรา

"โดยเฉลี่ยของประชากรโลกเรา แข็งแรงกว่าสมัยก่อนมาก" นาโอมิ โรเจอร์ส (Naomi Rogers) นักประวัติศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐฯ ให้ความเห็นและบอกว่า ในอดีตโรคติดต่อเป็นสาเหตุการตายหลักทั่วโลก แต่ช่วงราวๆ ปี 2490 มีช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่เผชิญกับโรคเรื้อรัง ซึ่งกลายปัญหาที่นำไปสู่ความไร้สมรรถภาพและความตายแทน

แม้ว่าโรคติดต่อจะถูกมองว่าเป็นเพียง "อดีต" ของชาวตะวันตก และเป็นปัญหาของประชากรในโลกที่สามมาหลายทศวรรษ จนกระทั่งเชื้อ "เอชไอวี" (HIV) เริ่มระบาดในช่วงทศวรรษของปี 2520 และ 2530 โรเจอร์สคิดว่าความโอหังที่ทำให้คนคิดเช่นนั้น ได้หายไปแล้ว

แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโรคติดต่อและการระบาดได้หายไปจากสหรัฐฯ เช่นกัน พร้อมๆ กับการพัฒนาโครงสร้างใหม่ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และตอนนี้ต่างต้องเผชิญกับภาวะ "ช็อค" กับการระบาดครั้งใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา

ยุคสมัยใหม่ ได้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพเฉพาะตัวมากขึ้น โดยไลฟ์ไซน์ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่า เด็กอเมริกันที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังได้เพิ่มขึ้นราวๆ 4 เท่าตัวภายใน 50 ปีที่ผานมา ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นของ "เด็กอ้วน" เป็น 4 เท่าใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหอบหืดเป็น 2 เท่าตั้งแต่ทศวรรษของปี 2520

"มันผสมผสานระหว่างสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต" โรเจอร์สกล่าวและเธอยังได้อธิบายว่า ผู้คนใช้ชีวิตนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานและกำลังกายน้อยลงกว่าเมื่อก่อน และ "อาหารขยะ" ก็ยังหาได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้มีแนวคิดที่ค่อนข้างมีอิทธิพลว่า ปัญหาของโรคเกี่ยวกับการเผาพลาญพลังงานอาหารอย่างโรคอ้วนและโรคเบาหวานนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ

"ผลการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงตั้งท้องที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสถานที่จำหน่ายอาหารขยะมากๆ นั้น จะมีน้ำหนักเพิ่มในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงอุ้มท้องที่อาศัยอยู่ไกลออกไปในระยะทางหลายกิโลเมตร นั่นเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ดังนั้นสังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นมีความอันตรายอยู่ในตัวเอง" โรเจอร์สยกตัวอย่าง

นอกจากนี้ โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย โจเอล ไวน์สตอค (Joel Weinstock) หัวหน้าภาควิชาทางเดินอาหารจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University Medical Center) ในแมศซาชูเสตต์ส สหรัฐฯ ยกตัวอย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ซึ่งโรคที่ไขมันซึ่งหุ้มอยู่รอบๆ ระบบประสาทเสื่อมลง ได้ปรากฏจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งโรคเบาหวานในเด็กซึ่งไม่ค่อยได้ยินกันนัก จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 5,000 หรือ 10,000 เป็น 1 ใน 250 คนในบางพื้นที่

"แม้แต่โรคแพ้ละอองฟาง ซึ่งสร้างความรำคาญให้คนผู้คน 1 ใน 4 ของสหรัฐฯ ก็เป็นโรคที่อุบัติขึ้นในวงกว้างภายในศตวรรษที่ 20 ศตวรรษเดียว จะเป็นยังไงถ้าผมจะบอกว่าคุณว่ายังมีบางประเทศที่ไม่รู้ว่าโรคแพ้ละอองฟางนั้นเป็นยังไง" ไวน์สตอคตั้งคำถาม

ความผิดปกติที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจขึ้นอยู่กับสุขอนามัยที่ดีขึ้นมาก ซึ่งช่วยลดการติดเชื้อลงได้มากทั่วโลก โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีผลต่อแอนติเจน ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ระบบภูมิคุ้มจำแนกและทำปฏิกริยาด้วยได้อย่างจำเพาะ อย่างเช่นองค์ประกอบของไวรัสและแบคทีเรีย แต่ไวน์สตอคระบุว่า ระบบภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องถูกควบคุม และไม่แสดงออกเมื่อสิ่งแปลกปลอมไม่ได้สร้างความเจ็บป่วยให้กับเรา

"สิ่งที่เราคิดว่า กำลังเกิดขึ้นคือ กลไกตามปกติมีประสิทธิผลน้อยลง เนื่องจากเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ว่า สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการขาดแอนติเจน และเราจำเป็นต้องให้แอนติเจนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่" ไวน์สตอคกล่าว และบอกว่าหากเราย้อนกลับไปดูชาติพันธุ์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 จะพบว่า เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนมีปรสิตในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ในลำไส้

ไวน์สตอคกล่าวว่า ปรสิตมีผลอย่างมากในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อที่จะอาศัยได้อย่างมีความสุขตลอดไปในลำไส้ของเรา ซึ่งทฤษฎีของเราคือ เมื่อเราเริ่มลดจำนวนปรสิตลงนั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยส่วนหนึ่งของ "ทฤษฎีอนามัย" เขายังได้ชี้ให้เห็นว่า ถนนอันสกปรกนั้น เราพบเห็นม้า วัว-ควายในชีวิตประจำวันมากกว่าทุกวันนี้

"ทฤษฎีของเราคือ เมื่อเราย้ายไปอยู่สิ่งแวดล้อมที่มีสุขอนามัยดีเกินไป ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 50-100 ปีที่ผ่านมานี่เอง นำไปสู่การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ"

"เราไม่ได้ว่าสุขอนามัยไม่ใช่สิ่งที่ดี เราไม่ได้ต้องการให้ผู้คนกระโจนลงน้ำและได้รับเชื้อโรคปนเปื้อนกลับมา แต่เราต้องการความเข้าใจที่ดีขึ้นว่า ปัจจัยอะไรในสุขอนามัยที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและอะไรที่ก่อโทษ เพื่อประเมินความสมดุลใหม่และหวังว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดระหว่างสองปัจจัย" ไวน์สตอคกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น