ไบโอเทค - โครงการความร่วมมือนำร่อง “โครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” โดยความร่วมมือของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาพอนามัยของครูและนักเรียนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
ในภาพรวมเด็กๆมองเห็นปัญหาของชุมชน รู้จักเรียนรู้และวางแผนงานร่วมกัน โดยนำผลที่ได้ มาเชื่อมโยงสู่ชุมชนของตน พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือและแนวร่วมอย่างดีจากสถานศึกษา ทั้งหมดเป็น การทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน โดยใช้ใจเป็นตัวตั้ง ทำให้ผลที่ได้รับเกินความคาดหมาย
เมื่อเด็กๆมองเห็นปัญหา!!!
"พวกเรามีความสุขที่สุดในชีวิต” ได้ยินประโยคนี้แล้วแทบไม่น่าเชื่อว่ามาจากความรู้สึกของเด็กๆ ทั้งๆที่เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ มันคือเรื่องใหญ่!! มันช่างเป็นอะไรที่ยุ่งยาก มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องมีหลักการและเหตุผลที่เกินความเข้าใจ... (นี่เป็นความคิดของเด็กสายศิลป์คนหนึ่ง...) แต่ดูเหมือนว่าคงต้องเปลี่ยนความคิดเดิมๆนี้แล้ว เพราะจากการบอกเล่าของคุณครูพบว่า นักเรียนไม่ว่าจะ เด็กหน้าห้องหรือเด็กหลังห้อง ต่างก็มีความสุขและสนุกที่จะมองหาปัญหา พร้อมที่จะค้นหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องต่างๆให้กับชุมชนของตัวเอง
“เจียดค่าขนมคนละ 20 บาท เพื่อโครงงานที่สมบูรณ์” นี่คือส่วนหนึ่งของความทุ่มเทของเด็กๆ ประกอบกับพลังใจที่มุ่งมั่นของคุณครูในการถ่ายทอดแนวคิด และพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาตลอดเวลาที่เด็กต้องการ จึงเกิดโครงงานที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นับเป็นจุดเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จากเรื่องใหญ่...กลายเป็นเรื่องเล็ก จากวิชาวิทยาศาสตร์ที่ยากเกินเข้าใจ.... กลายเป็นวิชาที่สนุกสนานและไม่น่ากลัวอีกต่อไป จากแนวคิดเล็กๆของเด็กๆ จะจุดประกายสู่เรื่องใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ด้วยภาระการเรียนที่หนักหนาของนักเรียนมัธยม และภาระการสอนของคุณครูที่เต็มทุกคาบวิชา แต่ความมุ่งมั่นของคนทั้งสองวัยก็พร้อมจะทุ่มเท และจัดสรรเวลา เพื่อร่วมกันจัดทำ“โครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” ได้อย่างลงตัว นี่เป็นเรื่องที่น่าทึ่งและได้ใจคนที่นั่งฟังการบรรยายในวันนั้น...
ตัวอย่าง โครงงานจากแนวคิดเด็กๆชาวเหนือเจ้า......
ไอศกรีมสมุนไพร เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ผลงานจาก โรงเรียน ถิ่นโอภาสวิทยา เกิดจากแนวคิดที่ว่าเด็กๆชอบดื่นน้ำอัดลมที่ไม่มีประโยชน์ ประกอบกับหมู่บ้านขายของเก่า มีถังไอติมเก่าๆ จึงประยุกต์มาทำไอศกรีมสมุนไพรแบบโบราณ ได้ผลการตอบรับจากน้องๆชั้นประถมเป็นอย่างดี
ปรสิตในปลาน้ำจืด ผลงานจาก โรงเรียน สา จ.น่าน จากการที่คน ในท้องถิ่นบริโภคลาบปลาดิบเป็นอาหารหลัก ทำให้เด็กๆสนใจศึกษาการฝังตัวและลักษณะของปรสิตทั้งภายในและภายนอกปลาตะเพียน โดยผลที่ได้นำไปเผยแพร่ต่อชุมชน เพื่อให้เกิดการบริโภคปลาเป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ