(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)
หนุ่มสาวหน้าตาดีประมาณ 5-6 คนเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ไม่คุ้นเคยด้วยอารมณ์คึกคะนอง ระหว่างนั้นพวกเขาได้เจอกับเหตุการณ์แปลกประหลาดและต้องประสพวิบากกรรมอันใหญ่หลวง จนคร่าชีวิตเพื่อนในกลุ่มไปทีละรายสองราย ใครคนใดคนหนึ่งอาจรอดชีวิต หรือในกรณีที่แย่ที่สุด - ทั้งหมดต้องสังเวยวิญญาณให้กับความอยากรู้อยากเห็นอันไร้สติของตนเอง
สก๊อตต์ บี สมิธ ใช้โครงสร้างนี้เขียนนิยายสยองขวัญเรื่อง The Ruins ออกมาในปี 2006 เขาเอางานเดิมกลับมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง ดัดแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่โดยรวมก็ถือว่ายังคงเค้าเดิมเอาไว้ หนังเรื่องนี้กำกับโดย คาร์เตอร์ สมิธ และออกฉายในปีนี้
มองผ่านๆ The Ruins ก็เล่าเรื่องเหมือนกับหนังสยองขวัญพิมพ์นิยมของอเมริกันที่คนไทยคุ้ยเคยกันอยู่ แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็แตกต่างออกไป หนังเรื่องนี้ไม่มีฆาตกรโรคจิต และกรรมวิธีการฆ่า (หรือชำแหละ) แบบวิปริต - แต่ตัวร้ายของเรื่องเป็น เถาวัลย์พันธุ์พิเศษที่กัดกินมนุษย์เป็นอาหาร คล้ายๆ กับปรสิตที่ฝังอยู่ในร่างที่เป็นโฮสต์ของมัน
คอหนังสยองขวัญที่ได้ชม คงคิดไปถึงหนังอย่าง The Body Snatcher นะครับ แต่ลีลาและอารมณ์ออกมาคนละอย่าง แต่ก็ดูเพลินใช้ได้ทีเดียว
หนังยืนพื้นตามต้นฉบับของนิยาย ตัวละครเด็กวัยรุ่น (ที่จะต้องตกเป็นอาหารอันโอชะของไม้เลื้อยดังกล่าว) กลุ่มนี้มาจากต่างชาติต่างภาษาด้วยกัน อันได้แก่ เยอรมัน, กรีก และอเมริกัน ในขณะที่ตัวละครชาวพื้นเมือง (ที่ไม่พูดภาษาสเปน) ก็มีบทบาทอย่างมาก
พวกเขาทั้งหมดเดินทางไปพักผ่อนที่แคนคุน เมืองที่มีชายหาดอันเงียบสงบในประเทศเม็กซิโก ได้รู้จักมักจี่กันที่นั่น และหนุ่มเยอรมันก็ชวนเพื่อนใหม่ไปเที่ยวที่สถูปร้างของชาวมายัน ที่น้องชายของเขาล่วงหน้าไปสำรวจก่อนแล้ว ทั้งหมดใช้เวลาไม่นานนักในการตอบรับว่าจะไปด้วย พวกเขากระเสือกกระสนที่จะไปผจญภัย - ตามนิสัยของตัวละครในหนังประเภทนี้
สถูปร้างแห่งนั้นอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 18 กิโลเมตร เดินเท้าเข้าไปในป่าอีกไม่กี่อึดใจ หากทันทีที่ไปถึง พวกเขาต้องพบกับชนพื้นเมืองที่พกอาวุธมาล้อมหน้าหลังไว้ และไล่ให้พวกเขาขึ้นไปอยู่บนสถูป โดยไม่อนุญาตให้ใครเดินลงมาบนพื้นดิน
แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าอะไรเป็นอะไร เด็กๆ กลุ่มนี้ก็ได้ล่วงรู้ทีละน้อยถึงสิ่งไม่ชอบมาพากลของไม้เลื้อยที่ปกคลุมอยู่เต็มสถูป และไม่นานนักพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อ
นอกเหนือจากการเล่นกับอารมณ์ของคนดูอย่างมีชั้นเชิง (การบีบให้ตัวละครทั้งหมดอยู่ในฉากเพียงฉากเดียวกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเรื่อง) และงานกำกับภาพที่แปลกตา ของ ดาริอุส คอนด์จิ - - The Ruins ยังเข้มข้นในแง่ที่มันทำให้ตัวละคร (ที่ดูเหมือนโง่ๆ และรนหาที่) มีเหตุผลในการกระทำของตนเอง หรืออย่างน้อยที่สุด การตัดสินใจในทุกครั้งที่เกิดขึ้น – ก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเบาหวิวและเกินจริง
เหนือสิ่งอื่นใด บทเรียนอันล้ำค่าที่ หนุ่มสาวชาวอเมริกันได้สำเหนียกก็คือ การวางตนเองเป็นผู้ชิตเหนือดินแดนที่ไม่เคยมีใครย่างกรายมาก่อน – ถือเป็นความพลาดพลั้งอย่างมหาศาล ฉากที่ดูเย้ยหยันมากๆ ตอนหนึ่งคือ การที่เด็กหนุ่มนักศึกษาแพทย์ พยายามใช้ความรู้ของตนเอง พูดภาษาต่างๆ กับชาวพื้นเมือง แต่ก็จนปัญญาจะสื่อสารกับพวกเขาได้ และการยิ่งอธิบาย ก็ยิ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่บานปลาย
ที่น่าเศร้าก็คือ ช่วง 10 นาทีแรกของเรื่อง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนดูมีความสุขกันมากที่สุดแล้ว และชะตากรรมทั้งหมดทั้งมวล ก็เกิดจากการรนหาที่จริงๆ
ใครชอบหนังทำนองนี้ ขอแนะนำอีกเรื่องหนึ่งครับ
Bread and Circus หนังแหวะจากประเทศนอร์เวย์ ของผู้กำกับ มาร์ติน โล้ก ก็มีอะไรพิลึกๆ ใกล้ๆ กัน แต่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันทีเล่นทีจริงมากกว่า
มันเป็นหนังในลักษณะเดียวกับ Bad Taste ของ ปีเตอร์ แจ็กสัน ที่อุดมไปด้วยความเสื่อมทรามทางรสนิยม ผู้ชมจะได้สัมผัสฉากประเภทตัวละครมุดเข้าไปในโพรงทวารหนักที่เต็มไปด้วยของเสียเหนียวเหนอะหนะ, ฉากขวานจามลงไปบนหัวแล้วเลือดก็กระฉูดออกมา หรือฉากที่คนถูกฟันด้วยดาบขาดเป็นสองท่อน
และฉากเปิดเรื่องที่แรงที่สุด คนดูได้เห็นโลกของเราลอยอยู่ในอวกาศ แต่โลกนั้นอยู่ระหว่างกลางของขาสองข้างที่ใหญ่มากๆ ขานั้นชันขึ้นคล้ายคนกำลังเตรียมคลอดลูก
ตัดภาพมาเป็นพื้นดินโล่งๆ แห่งหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายอวัยวะเพศหญิงขนาดใหญ่ มันเปิดอ้าออก และมนุษย์ผู้ชาย (อายุราว 30 ปีเห็นจะได้) ก็หลุดออกมาพร้อมน้ำคร่ำ ชาย 2 คนในชุดนักบวชโบราณมาจับตัวมนุษย์ผู้นั้นไปทำความสะอาด จับใส่สูทแล้วให้ถือกระเป๋านักธุรกิจ สั่งให้เดินตรงเข้าไปในเมือง
ในขณะเดียวกัน ทหารเลวกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มแรก ก็ออกสืบค้นมนุษย์ที่เกิดมาจากพื้นธรณี นำไปสู่มหกรรมการฆ่าที่แปลกพิสดารครั้งใหญ่ และในตอนท้าย มนุษย์ที่ใส่สูทผู้นั้นก็ได้พบว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ของกลุ่มคลั่งศาสนาและชนชั้นปกครอง เมื่อเขาหมดประโยชน์แล้วจะถูกฆ่าทิ้ง เขาพยายามหนี และไปเจอบัญญัติ 10 ประการบนแท่นหิน และแบกกลับมาเพื่อมาเผยแผ่แก่คนทั่วๆ ไป
ด้วยทุนสร้างที่น่าจะต่ำมากๆ ทำให้ Bread and Circus ไม่ต้องมีการประนีประนอมเพื่อใคร มันถ่ายทำอย่างง่ายๆ เลือกนักแสดงที่ใจเด็ด กล้าที่จะเล่นอะไรที่อุจาดและหวาดเสียว รวมถึงกล้าที่จะโจมตีระบอบกษัตริย์ ความเชื่อทางศาสนา และการทหาร โดยปราศจากความยำเกรง- สถาบันทั้ง 3 ถูกจัดออกมาในอยู่ในลักษณะคล้ายกับเด็กๆ เล่นขายของ กล่าวคือทุกอย่างดูปลอม และน่าหัวเราะเยาะ
มีการเปรียบเทียบอย่างทื่อๆ ไร้ชั้นเชิงอยู่เต็มไปหมด ทั้งการพูดถึง Mother Earth แบบให้เป็นรูปธรรม (คือผืนดินที่มีอวัยวะเพศและทวารหนักจริงๆ), การแสดงให้เห็นกระบวนการขัดเกลาของสังคมที่มีต่อมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาคนหนึ่ง (เราได้เห็นเขาถูกขัดล้าง แต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ หลังจากลืมตาดูโลกได้ไม่นาน) หรือแสดงความกักขฬะของทหารที่ใช้ความรุนแรงโดยอ้างกฎหมาย หรือการตัวละครได้บรรลุอะไรบางอย่าง ก็จะปรากฏแสงทิพย์จากสวรรค์ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
และ Bread and Circus ก็เป็นวลีที่หมายถึง การที่ประชาชนถูกหล่อล่อจากชนชั้นปกครองด้วยความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีคำถามต่อการปฏิบัติงานของผู้นำ คล้ายกับการที่ผู้ใหญ่เอาขนมปังมาล่อเด็กๆ ให้เกิดความเชื่องและลืมไปว่าก่อนหน้านี้เคยโดนหวดก้นหนักเพียงใด
ดูเข้ากับสถานการณ์ในบ้านเราดีนะครับ
หนุ่มสาวหน้าตาดีประมาณ 5-6 คนเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ไม่คุ้นเคยด้วยอารมณ์คึกคะนอง ระหว่างนั้นพวกเขาได้เจอกับเหตุการณ์แปลกประหลาดและต้องประสพวิบากกรรมอันใหญ่หลวง จนคร่าชีวิตเพื่อนในกลุ่มไปทีละรายสองราย ใครคนใดคนหนึ่งอาจรอดชีวิต หรือในกรณีที่แย่ที่สุด - ทั้งหมดต้องสังเวยวิญญาณให้กับความอยากรู้อยากเห็นอันไร้สติของตนเอง
สก๊อตต์ บี สมิธ ใช้โครงสร้างนี้เขียนนิยายสยองขวัญเรื่อง The Ruins ออกมาในปี 2006 เขาเอางานเดิมกลับมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง ดัดแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่โดยรวมก็ถือว่ายังคงเค้าเดิมเอาไว้ หนังเรื่องนี้กำกับโดย คาร์เตอร์ สมิธ และออกฉายในปีนี้
มองผ่านๆ The Ruins ก็เล่าเรื่องเหมือนกับหนังสยองขวัญพิมพ์นิยมของอเมริกันที่คนไทยคุ้ยเคยกันอยู่ แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็แตกต่างออกไป หนังเรื่องนี้ไม่มีฆาตกรโรคจิต และกรรมวิธีการฆ่า (หรือชำแหละ) แบบวิปริต - แต่ตัวร้ายของเรื่องเป็น เถาวัลย์พันธุ์พิเศษที่กัดกินมนุษย์เป็นอาหาร คล้ายๆ กับปรสิตที่ฝังอยู่ในร่างที่เป็นโฮสต์ของมัน
คอหนังสยองขวัญที่ได้ชม คงคิดไปถึงหนังอย่าง The Body Snatcher นะครับ แต่ลีลาและอารมณ์ออกมาคนละอย่าง แต่ก็ดูเพลินใช้ได้ทีเดียว
หนังยืนพื้นตามต้นฉบับของนิยาย ตัวละครเด็กวัยรุ่น (ที่จะต้องตกเป็นอาหารอันโอชะของไม้เลื้อยดังกล่าว) กลุ่มนี้มาจากต่างชาติต่างภาษาด้วยกัน อันได้แก่ เยอรมัน, กรีก และอเมริกัน ในขณะที่ตัวละครชาวพื้นเมือง (ที่ไม่พูดภาษาสเปน) ก็มีบทบาทอย่างมาก
พวกเขาทั้งหมดเดินทางไปพักผ่อนที่แคนคุน เมืองที่มีชายหาดอันเงียบสงบในประเทศเม็กซิโก ได้รู้จักมักจี่กันที่นั่น และหนุ่มเยอรมันก็ชวนเพื่อนใหม่ไปเที่ยวที่สถูปร้างของชาวมายัน ที่น้องชายของเขาล่วงหน้าไปสำรวจก่อนแล้ว ทั้งหมดใช้เวลาไม่นานนักในการตอบรับว่าจะไปด้วย พวกเขากระเสือกกระสนที่จะไปผจญภัย - ตามนิสัยของตัวละครในหนังประเภทนี้
สถูปร้างแห่งนั้นอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 18 กิโลเมตร เดินเท้าเข้าไปในป่าอีกไม่กี่อึดใจ หากทันทีที่ไปถึง พวกเขาต้องพบกับชนพื้นเมืองที่พกอาวุธมาล้อมหน้าหลังไว้ และไล่ให้พวกเขาขึ้นไปอยู่บนสถูป โดยไม่อนุญาตให้ใครเดินลงมาบนพื้นดิน
แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าอะไรเป็นอะไร เด็กๆ กลุ่มนี้ก็ได้ล่วงรู้ทีละน้อยถึงสิ่งไม่ชอบมาพากลของไม้เลื้อยที่ปกคลุมอยู่เต็มสถูป และไม่นานนักพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อ
นอกเหนือจากการเล่นกับอารมณ์ของคนดูอย่างมีชั้นเชิง (การบีบให้ตัวละครทั้งหมดอยู่ในฉากเพียงฉากเดียวกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเรื่อง) และงานกำกับภาพที่แปลกตา ของ ดาริอุส คอนด์จิ - - The Ruins ยังเข้มข้นในแง่ที่มันทำให้ตัวละคร (ที่ดูเหมือนโง่ๆ และรนหาที่) มีเหตุผลในการกระทำของตนเอง หรืออย่างน้อยที่สุด การตัดสินใจในทุกครั้งที่เกิดขึ้น – ก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเบาหวิวและเกินจริง
เหนือสิ่งอื่นใด บทเรียนอันล้ำค่าที่ หนุ่มสาวชาวอเมริกันได้สำเหนียกก็คือ การวางตนเองเป็นผู้ชิตเหนือดินแดนที่ไม่เคยมีใครย่างกรายมาก่อน – ถือเป็นความพลาดพลั้งอย่างมหาศาล ฉากที่ดูเย้ยหยันมากๆ ตอนหนึ่งคือ การที่เด็กหนุ่มนักศึกษาแพทย์ พยายามใช้ความรู้ของตนเอง พูดภาษาต่างๆ กับชาวพื้นเมือง แต่ก็จนปัญญาจะสื่อสารกับพวกเขาได้ และการยิ่งอธิบาย ก็ยิ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่บานปลาย
ที่น่าเศร้าก็คือ ช่วง 10 นาทีแรกของเรื่อง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนดูมีความสุขกันมากที่สุดแล้ว และชะตากรรมทั้งหมดทั้งมวล ก็เกิดจากการรนหาที่จริงๆ
ใครชอบหนังทำนองนี้ ขอแนะนำอีกเรื่องหนึ่งครับ
Bread and Circus หนังแหวะจากประเทศนอร์เวย์ ของผู้กำกับ มาร์ติน โล้ก ก็มีอะไรพิลึกๆ ใกล้ๆ กัน แต่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันทีเล่นทีจริงมากกว่า
มันเป็นหนังในลักษณะเดียวกับ Bad Taste ของ ปีเตอร์ แจ็กสัน ที่อุดมไปด้วยความเสื่อมทรามทางรสนิยม ผู้ชมจะได้สัมผัสฉากประเภทตัวละครมุดเข้าไปในโพรงทวารหนักที่เต็มไปด้วยของเสียเหนียวเหนอะหนะ, ฉากขวานจามลงไปบนหัวแล้วเลือดก็กระฉูดออกมา หรือฉากที่คนถูกฟันด้วยดาบขาดเป็นสองท่อน
และฉากเปิดเรื่องที่แรงที่สุด คนดูได้เห็นโลกของเราลอยอยู่ในอวกาศ แต่โลกนั้นอยู่ระหว่างกลางของขาสองข้างที่ใหญ่มากๆ ขานั้นชันขึ้นคล้ายคนกำลังเตรียมคลอดลูก
ตัดภาพมาเป็นพื้นดินโล่งๆ แห่งหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายอวัยวะเพศหญิงขนาดใหญ่ มันเปิดอ้าออก และมนุษย์ผู้ชาย (อายุราว 30 ปีเห็นจะได้) ก็หลุดออกมาพร้อมน้ำคร่ำ ชาย 2 คนในชุดนักบวชโบราณมาจับตัวมนุษย์ผู้นั้นไปทำความสะอาด จับใส่สูทแล้วให้ถือกระเป๋านักธุรกิจ สั่งให้เดินตรงเข้าไปในเมือง
ในขณะเดียวกัน ทหารเลวกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มแรก ก็ออกสืบค้นมนุษย์ที่เกิดมาจากพื้นธรณี นำไปสู่มหกรรมการฆ่าที่แปลกพิสดารครั้งใหญ่ และในตอนท้าย มนุษย์ที่ใส่สูทผู้นั้นก็ได้พบว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ของกลุ่มคลั่งศาสนาและชนชั้นปกครอง เมื่อเขาหมดประโยชน์แล้วจะถูกฆ่าทิ้ง เขาพยายามหนี และไปเจอบัญญัติ 10 ประการบนแท่นหิน และแบกกลับมาเพื่อมาเผยแผ่แก่คนทั่วๆ ไป
ด้วยทุนสร้างที่น่าจะต่ำมากๆ ทำให้ Bread and Circus ไม่ต้องมีการประนีประนอมเพื่อใคร มันถ่ายทำอย่างง่ายๆ เลือกนักแสดงที่ใจเด็ด กล้าที่จะเล่นอะไรที่อุจาดและหวาดเสียว รวมถึงกล้าที่จะโจมตีระบอบกษัตริย์ ความเชื่อทางศาสนา และการทหาร โดยปราศจากความยำเกรง- สถาบันทั้ง 3 ถูกจัดออกมาในอยู่ในลักษณะคล้ายกับเด็กๆ เล่นขายของ กล่าวคือทุกอย่างดูปลอม และน่าหัวเราะเยาะ
มีการเปรียบเทียบอย่างทื่อๆ ไร้ชั้นเชิงอยู่เต็มไปหมด ทั้งการพูดถึง Mother Earth แบบให้เป็นรูปธรรม (คือผืนดินที่มีอวัยวะเพศและทวารหนักจริงๆ), การแสดงให้เห็นกระบวนการขัดเกลาของสังคมที่มีต่อมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาคนหนึ่ง (เราได้เห็นเขาถูกขัดล้าง แต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ หลังจากลืมตาดูโลกได้ไม่นาน) หรือแสดงความกักขฬะของทหารที่ใช้ความรุนแรงโดยอ้างกฎหมาย หรือการตัวละครได้บรรลุอะไรบางอย่าง ก็จะปรากฏแสงทิพย์จากสวรรค์ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
และ Bread and Circus ก็เป็นวลีที่หมายถึง การที่ประชาชนถูกหล่อล่อจากชนชั้นปกครองด้วยความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีคำถามต่อการปฏิบัติงานของผู้นำ คล้ายกับการที่ผู้ใหญ่เอาขนมปังมาล่อเด็กๆ ให้เกิดความเชื่องและลืมไปว่าก่อนหน้านี้เคยโดนหวดก้นหนักเพียงใด
ดูเข้ากับสถานการณ์ในบ้านเราดีนะครับ