นักวิทย์สหรัฐพัฒนาวัคซีนป้องกันมาลาเรีย ทดสอบประสิทธิภาพในเด็กแอฟริกาหลายร้อยคนให้ผลดีเกินคาด ป้องกันการติดเชื้อได้กว่า 65% ใช้ร่วมกันวัคซีนอื่นในทารกแรกเกิดได้ไม่เป็นอันตรายและไม่รบกวนวัคซีนอื่น หวังนำไปใช้จริงในพื้นที่ระบาดหนักก่อนเป็นอันดับแรก
เอเอฟพีรายงานความสำเร็จของนักวิจัยสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียให้กับเด็กชาวแอฟริกาได้ผลมากถึง 65% จากการทดสอบในระดับคลินิก ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิคัล (New England Journal of Medicine) เมื่อเร็วๆ นี้
วิลเลียม คอลลินส์ (William Collins) และจอห์น บาร์นเวล (John Barnwell) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรีย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า นี่เป็นวัคซีนแรกที่ป้องกันมาลาเรียเห็นผลมากที่สุดทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับคลินิก และนับเป็นการเริ่มต้นที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง
วัคซีนดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยกลาโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ในช่วงแรกทดสอบกับอาสาสมัครขาวสหรัฐฯ และต่อมาจึงร่วมกับองค์กรไม่หวังผลกำไรอย่าง พาธ มาลาเรีย วัคซีน อินิชิเอทีฟ (PATH Malaria Vaccine Initiative) ในปี 2544 เพื่อทดสอบวัคซีนในแอฟริกา ซึ่งแบ่งการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกทดสอบในเด็กอายุตั้งแต่ 5-17 เดือน ในเคนยาและแทนซาเนีย รวมทั้งสิ้น 894 คน ตามที่ระบุในเอพี ตลอดช่วง 8 เดือน ที่ติดตามผลหลังจากที่ให้วัคซีนไปแล้ว พบว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันเด็กจากเชื้อมาลาเรียได้ราว 53% เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งก็นับว่าได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมาลาเรียเป็นโรคระบาดรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในการทดลองนี้พัฒนาต่อมากจากวัคซีนแรกที่เคยทำการทดลอบไปก่อนหน้านั้นแล้วและได้ผลเพียง 35% เท่านั้น
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งทดสอบในเด็กทารกอายุไม่เกิน 12 เดือน ในประเทศแทนซาเนีย จำนวน 340 คน ควบคู่กับการให้วัคซีนในเด็กแรกเกิดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ จากการติดตามผลหลังจากนั้น 6 เดือน พบว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อมาลาเรียได้มากถึง 65% ส่วนในจำนวนที่ติดเชื้อ วัคซีนก็ช่วยพัฒนาการของโรคในระดับคลินิกได้ถึง 59% ที่สำคัญวัคซีนนี้ไม่ไปรบกวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนอื่นๆ ด้วย
"จากผลการทดสอบ มีความเป็นไปได้ที่เราจะให้วัคซีน อาร์ทีเอส,เอส (RTS,S) ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียร่วมกับการให้วัคซีนในเด็กแรกทารกตามปรกติ ซึ่งควรนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนักก่อนเป็นอันดับแรกโดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย" คอลลินส์ ระบุ
ด้านคริสเตียน ลูค (Christian Loucq) ผู้อำนวยการ พาธ มาลาเรีย วัคซีน อินิชิเอทีฟ กล่าวว่าพวกเขาเข้าใกล้ความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียสำหรับเด็กๆ ชาวแอฟริกามากขึ้นแล้ว และประวัติศาสตร์การแพทย์ก็แสดงให้เห็นอยู่เสมอว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสูงสุดในการควบคุมและลดอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อได้เยี่ยมยอด และแน่นอนว่าตอนนี้โลกก็ยังต้องการวัคซีนที่จะเอาชนะโรคร้ายแรงอีกหลายโรคอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
ทั้งนี้ โรคมาลาเรียเป็นโรคระบาดรุนแรงในเขตร้อน โดยเฉพาะเด็กๆ ในแถบซาฮาราของทวีปแอฟริกา สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อปรสิตในกลุ่มพลาสโมเดียมโดยมียุงเป็นพาหะ ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีจะมีประชากรโลกติดเชื้อมาลาเรียราว 247 ล้านคน และเสียชีวิตปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประกาศออกมาว่าจะเดินหน้าหาวิธีต่อสู้กับโรคมาลาเรีย โดยตั้งเป้าให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ภายในปี 2558