xs
xsm
sm
md
lg

วท. ตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติ เน้นท้องถิ่นใช้วิทย์วางแผนรับมือระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) นายประพันธ์ คูนมี, ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ดร.รอยล จิดรดอน ผอ.สสนก., และ ดร.สมชาย ใบม่วง ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมเสวนาในงานเปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ CIST (ภาพจาก วท.)
กระทรวงวิทย์ฯ เปิดตัวศูนย์ใหม่ เตรียมรับมือภัยพิบัติจากโลกร้อน ผอ.ศูนย์ย้ำ ไม่ใช่ศูนย์เตือนภัย แต่มุ่งใช้วิทย์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาระยะยาว เน้นให้ท้องถิ่นนำข้อมูลไปใช้วางแผนพัฒนาระยะยาว เบื้องต้นเตรียมนำร่องที่หมู่บ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ พร้อมเตือนปีนี้น้ำจะมากตั้งแต่ต้นฤดูฝน แต่อาจทิ้งช่วงกลางฤดู แนะประชาชนสำรองน้ำเผื่อแล้ง

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในงานเปิดตัว ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ ซีไอเอสที (Climate Impact Sciene and Technology: CIST) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.52 ที่ผ่านมา โดยมีนายประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษา รมว.วท. เป็นประธานกรรมการศูนย์ฯ ซึ่งมีสื่อมวลชนร่วมทำข่าวคับคั่ง รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยได้มีการเสวนาเรื่อง "การคาดการณ์ลักาณะอากาศของฤดูฝนประจำปี 2552" ด้วย

"ซีไอเอสทีจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมความรู้และข้อมูลความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภัยพิบัติธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อนำมาใช้ในการคาดการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่เป็นผลกระทบมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในด้านต่างๆ สำหรับนำไปวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทำงานของศูนย์ซีไอเอสทีไม่ได้เน้นในด้านการพยากรณ์อากาศหรือการเตือนภัยพิบัติแต่อย่างใด ซึ่งนั่นจัดเป็นเรื่องต้นน้ำ แต่ศูนย์จะมุ่งเน้นทางด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงภายหลังมีการเตือนภัย นำข้อมูลจากการเตือนภัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นเรื่องกลางน้ำและปลายน้ำ และในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้มาก่อน

"การทำกิจกรรมใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ประมง หรือการท่องเที่ยว การวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมและประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งในการะประเมินความเสี่ยงนั้นประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง ทั้งจากข้อมูลและประสบการณ์ที่ผ่านมา, หาแนวทางลดความเสี่ยง เช่น มีแหล่งน้ำสำรอง, การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง, กระจายความเสี่ยง และประกันความเสี่ยง เช่น การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน" ดร.อานนท์ อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน

ทั้งนี้ ในการทำงานของซีไอเอสทีจะมีการร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิอากาศสารสนเทศ (สทอภ.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน เป็นต้น

"เราต้องการนำข้อมูลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระดับท้องถิ่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูว่าจะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้เกิดเครือข่ายชุมชนในการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้มีข้อมูลที่มากพอและแม่นยำสำหรับนำมาใช้ประกอบกับการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไปได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการเก็บข้อมูล แต่สำคัญที่ว่าชุมชนจะต้องเข้าใจ มีความตั้งใจ และเห็นความสำคัญของเรื่องนี้" ผอ.ซีไอเอสที ให้ข้อมูล

ในเบื้องต้นซีไอเอสทีจะเริ่มนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยจะเริ่มที่หมู่บ้านเกาะกลาง ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นแห่งแรก และรวมถึงหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีความพร้อมและสนใจที่จะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น นอกจากนี้ซีไอเอสทีจะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาแบบจำลองคาดการสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และวิจัยพัฒนาในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม ผอ.ซีไอเอสที ได้เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ อุณหภูมิ และระดับน้ำทะเล ซึ่งพยากรณ์ได้ว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้ของประเทศไทยจะอยู่ประมาณ 970-1044 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ปรกติเล็กน้อย แต่ไม่สูงเท่าปีที่แล้ว และคาดว่าปริมาณฝนจะมากตั้งแต่ต้นฤดู และอาจทำให้ฝนทิ้งช่วงในกลางฤดูได้ ส่วนช่วงปลายฤดูยังไม่ชัดเจนว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ฉะนั้นไม่ประชาชนจึงไม่ควรชะล่าใจ และควรสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีฝน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน

นอกจากนั้นในช่วงต้นฤดูฝนที่มีฝนตกหนักนั้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในบางพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เสี่ยงอาจสังเกตได้จากแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงว่ามีปริมาณน้ำเยอะจนเต็มหรือไม่ เนื่องจากเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก อาจทำให้ปริมาณน้ำในชั้นดินมากจนใกล้อิ่มตัวในบางพื้นที่ ทั้งนี้อาจระบายออกบ้าง เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำในช่วงต้นฤดูฝนนี้

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อแจ้งข้อมูลหรือขอข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 1313 และหลังจากนี้จะพัฒนาเว็บไซต์ของศูนย์ต่อไป.
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ CIST (ภาพจาก วท.)
บรรยากาศคับคั่วในระหว่างแถลงข่าวเปิดตัว CIST ภายในศูนย์บริการร่วม วท. ซึ่งจะเป็นที่ทำการของ CIST ด้วย (ภาพจาก วท.)
กำลังโหลดความคิดเห็น