xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนจัด-แล้งนาน "เพลี้ยแป้งชมพู" ระบาดโคราชหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนา ภัยแล้ง โลกร้อน มหันตภัยใกล้ตัว (ซ้ายไปขวา) ดร.แสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล ผศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ผู้ดำเนินการเสวนา นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ และ นายประวิทย์ จีระพงษ์
ผู้เชี่ยวชาญ "ศัตรูพืช" จากกระทรวงเกษตร เผยภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำอากาศร้อนจัด-แล้งนาน ส่งผล "เพลี้ยแป้งชมพู" ระบาดหนักในโคราช กินพื้นที่เพาะปลูก 350,000 ไร่ จังหวัดต้องทุ่มงบแก้ปัญหาระยะสั้นกว่า 100 ล้านบาท ระบุเป็นเพลี้ยสายพันธุ์ต่างประเทศ เข้ามาเ ติบโตได้ดีในอากาศที่ร้อน-แล้งนานขึ้น ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องรอข้อมูลกรมวิชาการเกษตร

นางลาวัลย์ จีระพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารศัตรูพืช สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยระหว่างเสวนา "ภัยแล้ง โลกร้อน มหันตภัยใกล้ตัว" ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.52 ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทำให้อากาศร้อนจัด-แล้งนาน ส่งผลให้เกิดการระบาดของ "เพลี้ยแป้งสีชมพู" ซึ่งมีข้อมูลการระบาดทั่วประเทศ 17 จังหวัด แต่ระบาดหนักที่สุดใน จ.นครราชสีมา ในพื้นที่เพาะปลูก 350,000 ไร่

เพลี้ยแป้งดังกล่าว นางลาวัลย์ระบุว่า เป็นเพลี้ยสายพันธุ์ต่างประเทศที่เข้ามาเจอสภาพอากาศร้อนจัดและแล้งนานในเมืองไทย ทำให้เจริญเติบโตได้ดี แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเพลี้ยดังกล่าวมากนัก เนื่องจากเป็นเพลี้ยสายพันธุ์ใหม่ แม้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ของศัตรูพืชชนิดนี้ยังไม่ทราบ ต้องรอข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรซึ่งประสานงานกันอยู่แล้ว ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยในส่วนของ จ.นครราชสีมา ทางจังหวัดได้ตั้งงบฉุกเฉิน 100 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นก่อน

ทั้งนี้ ในช่วงภูมิอากาศแห้งแล้งเกษตรกรต้องเผชิญกับการระบาดของศัตรูพืชหลายชนิดอยู่แล้ว อาทิ หนอนใยผัก เพลี้ยไฟที่สร้างปัญหาต่อข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนเจาะข้าวโพด ซึ่งจะระบาดในช่วงแล้งมากๆ เป็นต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืชจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ยกตัวอย่างปัญหาว่า ปีที่ผ่านมามีเกษตรกรยิงตายตัวเนื่องจากปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเรื่องการจัดการที่ไ่ม่ดี ทั้งการจัดการปัญหาหนี้สินและการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ด้วย

“ต่อไปหากเกิดภาวะโลกร้อนที่อากาศมีความผันผวนมาก เราจะรับมือกับปัญหาศัตรูพืชระบาดอย่างไร" นางลาวัลย์ตั้งคำถามให้คิดกับผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งร่วมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วย พร้อมทั้งเล่าสถานการณ์น่าห่วงว่า ศัตรูพืชซึ่งเคยเป็นแมลงต่างถิ่่น (exotic) บางชนิด ได้กลายเป็นแมลงประจำถิ่นแล้ว ส่วนเพลี้ยแป้งสีชมพูขณะนี้ได้สรา้ง
ความเสียหายให้พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศร่วม 800,000 ไร่แล้ว

ด้าน ดร.แสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันคือผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และได้ยกนิยาม "ภัยแล้ง" จากกรมอุตุนิยมวิทยามาว่าคือ ภัยจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบ

ความแห้งแล้งมี 3 แบบ คือ ความแห้งแล้งทางสภาพอากาศ ที่เกิดจากฝนไม่ตกเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดผลความแห้งแล้งต่อเนื่องอีก 2 แบบ คือ ความแห้งแล้งด้านการเกษตร ที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนและสภาพดินที่เกิดจากการวางแผนการใช้ที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์ และภัยแล้งแบบสุดท้ายคือภัยแล้งที่เป็นผลจากวัฏจักรของน้ำ

“สำหรับภัยแล้งในไทยเกิดจากฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือฝนตกน้อยกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อการเกษตร เศรษฐกิจ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงปัญหาสังคม ทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากภาคเกษตรเข้าเมือง เป็นผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น เด้กไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ไม่มีปัญหาใดที่เกิดข้นอย่างเป็นเอกเทศ" ดร.แสงจันทร์กล่าว

ส่วน นายประวิทย์ จีระพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยธรรมชาติว่า โดยรวมแล้วประเทศไทยมีฝนรวมเฉลี่ยรายปีลดลง และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสุงขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มว่าจะเกิดภัยแล้งเพิ่มขึ้น และสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในไทยนั้นมองที่ "ฝน" เป็นหลัก

สำหรับตัวแปรที่ทำให้เกิดฝนในเมืองไทยนั้น ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลางกล่าวมี 3 ตัวแปร คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วง พ.ค.-ต.ค. มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมหนาวที่อากาศแห้ง พัดเข้าไทยในช่วงปลาย ต.ค.-ม.ค. และพายุหมุนเขตร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความสำคัญมาก หากขาดพายุชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะแล้งแน่ๆ

ทางด้านภัยธรรมชาตินายประวิทย์ระบุว่า เพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน โดยภัยธรรมชาติที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน คือภัยน้ำท่วม ภัยแห้งแล้ง และผลกระทบจากพายุ ทั้งนี้ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่เกิดภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นชัดเจน และประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่มีตัวเลขเสียหายทางเศรษฐกิจน้อยกว่า ทวีปยุโรปและอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

ขณะที่ นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการวางแผนเพื่อลดผลกระทบและการป้องกันภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อนว่า ปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสาธารณภัยคือ "พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550” ซึ่งใช้ข้อมูลจากภัยพิบัติสินามิและภัยพิบัติที่ไทยเคยประสบมาก่อนหน้านี้เป็นฐานในการปรับปรุงกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 ด้วย
ดร.แสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล
นางลาวัลย์ จีระพงษ์
นายประวิทย์ จีระพงษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น