xs
xsm
sm
md
lg

คนธรรมดาอย่างเราจะเป็น "แบทแมน" ได้ไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบทแมนและโรบิน จาก Cartoon network ตอน Brave&Bold (ภาพไลฟ์ไซน์)
เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา "ชายในชุดแบทแมน" ได้กลายเป็นฮีโร่ของใครหลายๆ คน และถ้าพูดกันตามการ์ตูนแล้ว "ไอ้มนุษย์ค้างคาว" ดูจะเป็นฮีโร่พันธุ์เดียวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะสวมบทบาทและลอกเลียนความเก่งได้ เพราะอัศวินแห่งรัตติกาล ไม่ได้มีอำนาจพิเศษเหมือนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่อื่นๆ

ตามรายงานของไลฟ์ไซน์ระบุว่า พลังอำนาจของแบทแมน (Batman) หรือมนุษย์ค้างคาวนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหวนสักวงหรือผ้าคลุมผืนใด และไม่มีอำนาจจากเทพเจ้าใดๆ หากแต่อาศัยทักษะโลดโผนอันเป็นเยี่ยม พร้อมผนวกทักษะศิลปะป้องกันตัวที่ยอดเยี่ยม กล้ามเนื้ออันแข็งแรง และความเฉลียวฉลาด เข้ากับการอุทิศตัวอย่างแข็งขันเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม

อีกทั้งนัยจากแก่นของเรื่องแบทแมน ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่การปรากฏตัวของ "แบท-แมน" ในการ์ตูนยุคแรกๆ เมื่อปี 2482 ชี้ให้เห็นว่าใครก็สามารถเป็น "อัศวินแห่งรัตติกาล" (Dark Knight) ได้ หากมีการฝึกฝนร่างกายที่เพียงพอ และชื่นชอบการสวมใส่ชุดรัดรูป

แล้วจริงไหมที่มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ จะได้รับการฝึกฝนจนกลายเป็นแบทแมนได้?

อี พอล เซียร์ (E.Paul Zehr) ศาสตราจารย์ทางด้านประสาทวิทยาและการเคลื่อนไหวร่างกาย จากมหาวิทยาลัยวิคทอเรีย (University of Victoria) เมืองบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะป้องกันตัว ได้ไขข้อสงสัยข้างต้น ด้วยการวิเคราะห์ภารกิจของแบทแมนในทุกแง่มุม

ตั้งแต่ความแข็งแรงของร่างกาย ที่จำเป็นในการต่อสู้กับวายร้าย จนถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเข็มขัด ที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ค้างคาวอีกมาก

ทั้งนี้ รายละเอียดคำตอบของ ศ.เซียร์อยู่ในหนังสือที่เขาแต่งขึ้น "การเป็นแบทแมน: ความเป็นไปได้ของสุดยอดฮีโร่" (Becoming Batman: The Possibility of a Superhero) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins University Press) แต่สิ่งที่น่าจะทำให้แปลกใจมากที่สุด น่าจะเป็นการส่งผลต่อกันระหว่างพันธุศาสตร์ ความตั้งใจ ความมั่งคั่ง สิ่งแวดล้อม และการมีเวลาว่างอย่างเหลือเฝือ

หากจะแข่ง "ความกำยำ" กับแบทแมนแล้ว ศ.เซอร์บอกว่า เป็นความพยายามที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย โดยใช้เวลาเพียง 3-5 ปี ฝึกพละกำลังด้วยการยกน้ำหนักทุกวัน ก็จะทำให้เราได้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงสูงสุด ดูตัวอย่างผู้ว่าฯ คนเหล็ก อาร์โนล์ด ชวาร์ซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่ฝึกหนักอยู่ 5 ปีก่อนจะได้ชัยชนะในการแข่งขัน "ชายงามจักรวาล" (Mr. Universe)

พันธุกรรมก็มีส่วนเหมือนกันในกรณีนี้ ทาง ศ.เซียร์ว่าอย่างนั้น โดยแม้ว่าเราจะฝึกหนักพอๆ กับอาร์โนล์ดหรือแบทแมน แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลออกมาเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลจากหลายๆ ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ เช่น การสร้างโปรตีนไมโอสตาติน (myostatin protein) ในร่างกายที่สูงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และดูเหมือนว่าแบทแมนจะไม่มีเนื้อเยื่อไมโอสตาตินเลย หากแต่แบทแมนมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากกว่า

แบทแมนมีความเชี่ยวชาญเรื่องยูโด เทควันโด วิชานินจาและอาจมีศิลปะป้องกันตัวอื่นๆ อีก 2-3 อย่าง และเพื่อจะเชี่ยวชาญในวิชาเหล่านี้ ศ.เซอร์กล่าวว่า ฮีโร่ค้างคาวต้องใช้เวลาฝึกฝน 6-12 ปีเลยทีเดียว และยังต้องนำทักษะเหล่านี้ไปฝึกบนถนนในสถานการณ์ที่เกิดกับชีวิตจริง ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 6-8 ปี และการเป็นเศรษฐีพันล้านของแบทแมนก็ทำให้อะไรง่ายขึ้น
 
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ แม้ว่าเราจะมีพร้อมทั้งฐานะและพันธุกรรมที่เอื้ออำนวยแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลามากถึง 15-20 ปีเพื่อเตรียมตัวเป็น "อัศวินแห่งรัตติกาล"

สิ่งที่ยากเย็นที่สุดของการเป็นแบทแมนคือ การคงความเป็นแบทแมน อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความตายได้ การใช้ร่างกายของเขาดูเหมือนจะนำไปสู่โรคเส้นเอ็นอักเสบ อาการบาดเจ็บแบบซ้ำไปซ้ำมา และอาจรวมถึงโรคข้ออักเสบ เหมือนที่เห็นได้ในเหล่านักฟุตบอลอาชีพที่แขวนสตั๊ดแล้ว

นอกจากนี้การออกไปปฏิบัติภารกิจนอกบ้านของเขายิ่งเสริมความเลวร้ายเข้าไปอีก ทั้งการถูกตีศรีษะบ่อยครั้งและอาการบาดเจ็บจากการปะทะอย่างรุนแรง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบให้เขาสูญเสียความจำและหัวยุบ ทำให้การต่อสู้กับอาชญากรรมยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่

ในความเป็นจริงดูเหมือนว่าแบทแมนจะออกไปช่วยชาวโลกในแบบคืนต่อคืนไม่ได้ เพราะต้องรักษาร่างกายตัวเองให้กับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าพันธุกรรมส่วนบุคคลจะส่งผลให้ร่างกายของคนๆ นั้นรักษาอาการบาดเจ็บสาหัสได้อย่างรวดเร็ว

การเป็นแบทแมนย่อมมีความกดดัน ซึ่งข้อมูลจากไลฟ์ไซน์บ่งชี้ว่าทหารและตำรวจมีอัตราฆ่าตัวตายสูง เนื่องจากได้พบเห็นอาชญากรรมและความตายอยู่ทุกวัน อีกทั้ง แบทแมนไม่อาจได้รับกำลังใจจากครอบครัวได้ เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะมีครอบครัว หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่ตึงเครียดในความสัมพันธ์

นอกจากนี้เขายังอยู่ในภาวะที่หลับไม่เต็มอิ่มด้วย เนื่องจากต้องทำภารกิจของฮีโร่ในตอนกลางคืน ทั้งนี้การทำงานกะกลางคืนก็ไม่ได้เลวร้ายนัก แม้ว่าคนงานกะกลางคืนจะมีอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ มากกว่าคนงานกะกลางวัน หากแต่แบทแมนยังต้องใช้ชีวิตในช่วงกลางวันด้วย

จากการวิเคราะห์ทั้งหมดของ ศ.เซียร์ ฟังดูคล้ายอาจไม่มีมนุษย์คนไหนเลยที่เป็นแบทแมนได้ หรือเป็นได้แต่ไม่นานนัก แต่เขาก็หวังว่าสิ่งที่เขาวิเคราะห์ทั้งหมดนี้จะไม่ทำให้ใครต่อใครสิ้นหวังเสียทีเดียว

อย่างน้อยแบทแมนยังได้สอนเราว่า เราสามารถเปลี่ยนเหตุการ์ณอันเลวร้าย (ในกรณีที่พ่อแม่ของเขาถูกฆาตกรรม) ให้กลายเป็นช่วงเวลาที่จะเพิ่มศักยภาพของตัวเราเองและทำให้โลกดีขึ้นมาได้หน่อย
ชายในชุดแบทแมน ฮีโร่ของไทยเมื่อเร็วๆ นี้



เมืองไทยก็มีแบทแมน แม้จะไม่ได้บู้อย่างในหนัง อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา



กำลังโหลดความคิดเห็น