xs
xsm
sm
md
lg

มติ "อาเซียนเว็น" เดินหน้าอนุรักษ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิฟรีแลนด์– ในการเดินหน้าครั้งใหญ่ของการประชุมอาเซียนเว็นซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา มีบทสรุปพร้อมข้อตกลงจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย และองค์กรความร่วมมือนานาชาติ ในการร่วมมือด้านงานปราบปรามเพื่อหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและการทำลายถิ่นอาศัย

ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศในหัวข้อ “วิกฤติการณ์ที่ถูกลืม : เสริมประสิทธิภาพความร่วมมือนานาชาติเพื่อหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในเอเชีย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 -12 เมษายน 2552 ที่พัทยา

อาเซียนเว็น คือเครือข่ายปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุด อันประกอบไปด้วย องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ตำรวจ ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ตุลาการจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการสืบสวนและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อต่อต้านการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าและพืชป่า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

การประชุมที่พัทยาครั้งนี้ มีรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก อาเซียนเว็น องค์กร Save the Tiger Fund, TRAFFIC International และ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และ มูลนิธิฟรีแลนด์ (FREELAND Foundation)

การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นรองเพียงมูลค่าการค้าอาวุธและยาเสพติดเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เรียกร้องให้มีการลงมือปฏิบัติ โดยการตกลงร่วมกันให้มีการประกาศข้อตกลงฉบับใหม่ “การต่อสู้อาชญากรรมด้านสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชีย” โดยได้รับการสนับสนุนจากฯ ฯพณฯ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ฯพณฯ สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายโรเบิร์ต โซลิค ผู้นำธนาคารโลก

นายโซลิค ส่งสาสน์ถึงผู้ร่วมประชุมว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆในเอเชียที่มีความสนใจ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกต่างก็มารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อร่วมกันต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่า และหาแนวทางการทำงานร่วมกันในขั้นต่อไปสำหรับประสานงานด้านการปราบปรามในระดับภูมิภาคเพื่อปกป้องชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าในธรรมชาติ เช่น เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ปกป้องอย่างเร่งด่วน

ในการนี้ ธนาคารโลกร่วมกับองค์กรความร่วมมือต่างๆเพื่อร่วมอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียซึ่งปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วจาก 100,000 ตัวเหลือเพียง 4,000 ตัวในธรรมชาติในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านสำหรับผลการประชุมในครั้งนี้และขอขอบคุณคณะรัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้”


ความพยายามหลักในการริเริ่มโครงการ Global Tiger Initiative ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2551 โดยธนาคารโลก สถาบันสมิธโซเนี่ยน The Global Environment Facility และ The International Tiger Coalition ซึ่งเป็นพื้นฐานความร่วมมือระดับนานาชาติที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์เสือโคร่งและความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวแทนจากประเทศต่างๆได้เริ่มการวางแผนเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดปีเสือ (Year of the Tiger Summit) ในปี 2552 ซึ่งจะนำผู้นำระดับสูงมาร่วมลงมติในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของเอเชียและเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

แม้ปัจจุบันรัฐบาลของแต่ละประเทศและองค์กรอนุรักษ์ต่างก็ทำงานเพื่อปกป้องทรัยพากรธรรมชาติอย่างแข็งขัน แต่เสือโคร่งและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดยังคงค่อยๆลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง การอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้ไว้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรในระดับสากลประกอบกับการสนับสนุนจากผู้นำระดับสูงและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 เครือข่ายอาเซียนเว็นนับว่าเป็นตัวอย่างเครือข่ายความร่วมมือด้านการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ฯพณฯ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการประชุมในสัปดาห์นี้ว่า “เรามีความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างและอุดมสมบูรณ์ซึ่งต้องการการดูแลปกป้องด้วยความใส่ใจ เราต้องร่วมกันทำงานเพื่ออนุรักษ์มรดกทางธรรมชาตินี้ไว้ ผมขอชมเชยธนาคารโลก ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่ออาเซียนเว็น เพื่อทำงานปกป้องและต่อสู้กับการคุกคามสัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย”

ระหว่างการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งรวมถึงตัวแทนจากรัฐบาลในกลุ่มอาเซียน ตัวแทนจากประเทศต่างๆอีก 20 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์อีกจำนวนมากที่มีความแข็งขันในการดำเนินงานด้านสัตว์ป่าและพืชป่าและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมถกปัญหาและระบุปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้เกิดการลักลอบค้าในตลาดมืด เอกสารประกาศที่จัดทำขึ้นนี้จะช่วยพัฒนาเครือข่ายการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียใต้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายเป็นไปในแนวทางดังกล่าว หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่า ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานปราบปรามอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อแกะรอย ตรวจสอบ สืบสวนและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและจับกุมอาชญากรในภูมิภาคนี้

ฯพณฯ สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในระหว่างการประชุมครั้งนี้ว่า “เช่นเดียวกับวิกฤติการทางด้านการเงินในระดับโลกที่เรากำลังเผชิญครั้งนี้ได้ทำให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจของทุกประเทศนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างละเอียดอ่อน อาชญากรรมสัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน มีผลกระทบทั้งในระดับข้ามพรมแดนและในระดับโลก ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ต้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่อพยายามหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ที่ถูกลืมนี้” นอกจากนี้ ฯพณฯ รัฐมนตรียังได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานของกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ขึ้นภายในในปีนี้ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นสัญญาณสำหรับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ต่อข้อเสนอแนะในคำประกาศข้อตกลงฉบับใหม่จากการประชุมในครั้งนี้อีกด้วย

ผลจากการรายงานฉบับใหม่ในหัวข้อ “อะไรคือสิ่งกระตุ้นการค้าสัตว์ป่า?” ได้ถูกนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ รายงานฉับบนี้ศึกษาโดย TRAFFIC และธนาคารโลก แสดงถึงสิ่งกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้เกิดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว และเวียดนาม

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานมูลนิธิฟรีแลนด์ (FREELAND Foundation) กล่าวว่า “ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและธนาคารโลกทำถูกต้องแล้วที่รับฟังนักอนุรักษ์ทั้งหลายและนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปแบ่งปันกับผู้นำระดับสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย เราหวังว่าผู้นำต่างๆในเอเชียจะรับฟังปัญหาในครั้งนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น