นักเคมีญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลโนเบลจากการค้นพบ "พอลิเมอร์นำไฟฟ้า" เชื่ออีก 2-3 ปี มีทีวีจอบางเฉียบ-ช่วยโลกได้ เพราะกินไฟต่ำสุด และวัสดุเดียวกัน ยังนำไปผลิตโซลาร์เซลล์ที่มีกระบวนการผลิตง่ายและราคาถูก อีกทั้งยังมีทรัพยากรวัตถุดิบเหลือเฟือ
ศ.ฮิเดกิ ชิรากาวา (Prof.Hideki Shirakawa) นักเคมีชาวญี่ปุ่นผู้ค้นพบพอลิเมอร์นำไฟฟ้า (Conductive Polymer) และได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี เมืื่อปี 2543 จากการค้นพบดังกล่าว และเกษียณอายุการทำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยซึคูบะ (University of Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า ในอีก 2-3 ปี เราจะมีโทรทัศน์ที่บางที่สุด และยังใช้พลังงานต่ำสุด ซึ่งพัฒนาจากพอลิเมอร์นำไฟฟ้า
แม้ว่าปัจจุบันจะมีโทรทัศน์ที่บางลงเรื่อยๆ แต่โทรทัศน์เหล่านั้น ผลิตจากหลอดแอลอีดี (LED) ซึ่งต้องใช้หลอดไฟแบล็คไลท์ (Black Light) ที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ในขณะที่โทรทัศน์ซึ่งผลิตจากพอลิเมอร์นำไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องใช้หลอดดังกล่าว ทำให้เราพัฒนาโทรทัศน์ที่บางและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุดได้
ทั้งนี้ ศ.ชิรากาวาได้รับเชิญให้มาบรรยายพิเศษภายในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ฉลองครบรอบ 48 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย.52 ณ โรงแรมมิลเลเนียมฮิลตัน กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อรักษาโลก: วิสัยทัศน์ 2050” (Sustainable Development to Save the Earth: Technologies and Strategies Vision 2050)
นักเคมีญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลโนเบล ได้ตอบคำถามทีมข่าววิทยาศาสตร์ ถึงการนำพอลิเมอร์ไปใช้เพื่อรักษาโลกว่า จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น ในการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์อีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่พัฒนาจากพอลิเมอร์นำไฟฟ้านั้น มีกระบวนการผลิตที่ง่ายมาก ราคาถูก และยังมีทรัพยากรในโลกอีกเหลือเฟือที่จะนำมาผลิตเป็นพอลิเมอร์นำไฟฟ้าได้ โดยวัตถุดิบสำคัญคือพอลิเมอร์จากปิโตรเคมี และแม้ว่าน้ำมันปิโตรเลียมจะหมดไปจากโลกแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังสามารถสกัดพอลิเมอร์ทดแทนจากพืชได้
“ไม่ว่าอะไรจะหมดไปจากโลก นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ เพราะเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องคิดค้นหาอะไรใหม่ๆ ส่วนที่ผมมาบรรยายครั้งนี้ ก็คาดหวังว่าจะทำให้คนไทยได้รู้จักพอลิเมอร์นำไฟฟ้า" ศ.ชิรากาวากล่าว
พร้อมกันนี้ ศ.ชิรากาวายังได้พูดถึงบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ว่า ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ลืมที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก ซึ่งโลกมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ขาดการสื่อสารกับสังคม ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ขณะเดียวกันสังคมก็ไม่นำผลงานของนักวิทยาศาสตร์มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
ทั้งนี้ เขาอยากให้มีเสียงจากสังคมสะท้อนว่า อยากให้นักวิทยาศาสตร์ทำอะไร แต่สังคมยังขาดการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์และสังคม โดยสื่อมวลชนเองก็ให้ความสำคัญแต่กีฬาและบันเทิง
สำหรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2543 นั้น ศ.ชิรากาวาได้รับร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีก 2 คนคือ ดร.อลัน เจ ฮีเจอร์ (Dr.Alan J. Heeger) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานตาบาร์บารา (University of California, Santa Barbara) สหรัฐอเมริกา และ ดร.อลัน จี แมคไดอาร์มิด (Dr.Alan G MacDiarmid) จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) สหรัฐฯ
ระหว่างบรรยาย ศ.ชิรากาวาระบุว่า การค้นพบพอลิเมอร์นำไฟฟ้านี้เป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาและมีที่มาต่างกัน โดย ดร.ฮีเจอร์ นั้นเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ขณะที่ ดร.แมคไดอาร์มิด เกิดและเติบโตที่นิวซีแลนด์ ส่วนเขาเองเกิดและเติบโตที่ประเทศญี่ปุ่น
ส่วนการค้นพบพอลิเมอร์นำไฟฟ้าของ ศ.ชิรากาวานั้น เขาบอกว่าเป็น "ความผิดพลาดที่นำไปสู่ความสำเร็จ" โดยแรกทีเดียว เขาตั้งใจจะวิเคราะห์โครงสร้างของ "พอลิอะเซทิลีน" (Polyacetylene) ซึ่งเป็นที่สนใจในช่วงนั้น เขากลับผสมสารผิดปริมาณไป จึงได้พอลิเมอร์ที่มี่คุณสมบัตินำไฟฟ้าได้
แรกทีเดียวเขารู้สึกตกใจ และไม่คิดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันพอลิเมอร์นำไฟฟ้ามีอยู่ในโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรีบางชนิด ซึ่งเราไม่สามารถเห็นวัสดุชนิดนี้ได้โดยตรง แต่ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราและอนาคตจะยิ่งมากขึ้น.