ทีเอ็มซี - ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โดย ซอฟต์แวร์พาร์ค ผลักดันเอกชน 4 บริษัท คว้ามาตรฐาน CMMI ใน Level 2 และ 3 พร้อมหนุนบริษัทซอฟต์แวร์ไทยทัดเทียมตลาดโลก ด้านเอกชนมองเห็นความสำคัญในการทำ “มาตรฐาน” ชี้ควรทำมาตรฐานไม่เฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่ต้องมีในทุกอุตสาหกรรมไทย ยิ่งเศรษฐกิจชะลอ ย้ำมาตรฐานดี จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีมูลค่าทางการตลาดสูงและมีบทบาทสำคัญต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แต่การจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่ดี และเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เร่งผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยมีมาตรฐานผ่านโครงการ SPI@ease หวังเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนากระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ นำไปสู่ศักยภาพทางการแข่งขันต่อไป
โดยเฉพาะมาตรฐาน CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration ที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute, SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อีกทั้งบริษัทซอฟต์แวร์ที่นำ CMMI มาใช้จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางการตลาดให้สูงขึ้น
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI รวมทั้งสิ้น 27 ราย โดยเป็นบริษัทในโครงการ SPI@ease ถึง 18 ราย (คิดเป็นเกือบ 70% ของทั้งหมด) ภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก และคาดว่าภายในปี 52 จะมีบริษัทที่ผ่านการประเมิน CMMI ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความน่าเชื่อถือให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่รู้จักและยอดรับในระดับสากลมากขึ้น
สำหรับครั้งนี้มีบริษัทที่ประเมินผ่าน มาตรฐาน CMMI ใน Level 2 จากโครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) 2 บริษัท ได้แก่...
บริษัท ทรีนีตี้ เอ็นเทอร์ไพรซ์ โซลูชั่น จำกัด(Trinity Enterprise Solution Co., Ltd. ) โดยนายพยัคฆินทร์ ศาสตระรุจิ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งมาประมาณสี่ปีแล้ว ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ในการให้บริการด้านไอซีทีและโซลูชั่นแก่ลูกค้า โดยมีจุดประสงค์สามอย่างคือ 1)สร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่ลูกค้า 2)การมีคู่ค้าที่เหมาะสม สำหรับการผนวกโซลูชั่นให้เป็นระบบที่ใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และ 3)สร้างบุคลากรภายในองค์กรให้มีคุณภาพและทักษะที่ดี ซึ่งงานในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทจะเป็นการทำธุรกิจแบบเอาต์ซอร์สที่ให้บริการในสองเรื่องหลัก คือ การจัดหาบุคลากรให้กับงานด้านโทรคมนาคม และรับทำโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์
โดยในปี 2550 บริษัทเล็งเห็นว่า “การทำมาตรฐาน CMMI จะช่วยให้ทำงานได้ครบตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานกับคู่ค้า และการสร้างมาตรฐานในการทำงานขององค์กร ทั้งยังเห็นว่าเป็นประโยชน์กับองค์กร จึงเข้าร่วมโครงการ SPI@ease กับซอฟต์แวร์พาร์ค และขอทำมาตรฐาน CMMI Level 2 โดยหลังจากที่ผ่าน CMMI บริษัทมีบริการเพิ่มขึ้นอีกสองแบบคือ Solution Implementation ซึ่งเป็นการเพิ่มบริการด้านอุปกรณ์ที่ครบครันมากขึ้น โดยมี IBM เป็นคู่ค้า และทำ Software as a Service (SaaS) ที่เป็นการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งการผ่าน Level 2 นี้ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มบริการได้มากขึ้น ช่วยเสริมให้บริษัทก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ได้ง่ายขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทั้งคู่ค้าและลูกค้าอีกด้วย ”
บริษัท เอ-โฮสต์ จำกัด (A-Host Co., Ltd.) โดย นายบุญประสิทธิ์ ตั้งชัยสุข ผู้จัดการ อีกหนึ่งบริษัทที่ผ่าน CMMI Level 2 กล่าวว่า บริษัทให้บริการ 3 ด้านหลักเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ได้แก่ บริการโฮสติ้งและเอาต์ซอร์สเซอร์วิส, บริการให้คำปรึกษา และบริการด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ จากการทำงานในธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นเวลา นานถึง 10 ปี ทำให้ตระหนักถึงการพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ จึงเข้าร่วมในโครงการ SPI@ease ของซอฟต์แวร์พาร์ค และเห็นความสำคัญของการพัฒนาบริษัทซอฟต์แวร์ไทยให้มีความสามารถเทียบเท่ากับต่างประเทศ จึงมองว่ามาตรฐาน CMMI จะมีส่วนช่วยผลักดันให้บริษัทมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2550 และสามารถผ่านการประเมินใน Level 2
“ เมื่อผ่าน CMMI ทำให้เห็นว่าจุดแข็งจุดอ่อนของบริษัทอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นจุดอ่อนในบริการประเภทต่างๆ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นและแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนได้ เกิดการเรียนรู้ในวิธีการคิดแก้ปัญหาที่เป็นระบบ และสามารถประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ด้วย อีกทั้งยังสามารถวางแผนการทำงานในระยะยาวได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการต่างๆ ควรมีการวางแผน ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในแต่ละขั้นตอน และสามารถวัดผลได้จริง ดังนั้นเมื่อปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง จะทำให้มีกฎเหมือนไม่มีกฎ และกลายเป็นวินัยที่ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด”
นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ประเมินผ่านมาตรฐาน CMMI ใน Level 3 จาก โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) ครั้งนี้ อีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อ๊อปติมัส ซอฟต์ จำกัด (Optimus Soft Co., Ltd) โดย นายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวด้วยว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อสี่ปีก่อน จากการปรับโครงสร้างของซีดีจี กรุ๊ป กลุ่มบริษัทที่ให้บริการด้านไอที โดยต้องการให้อ๊อปติมัสมาดูแลด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ พร้อมทั้งเป็นเอาต์ซอร์สด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งการให้บริการก็จะเน้นที่อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการ เช่น การติดตั้งระบบฝากถอน ปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรื่องการจัดเก็บเอกสารหลักประกันต่างๆ ให้มีระเบียบมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาเอกสาร ซึ่งทำบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
สำหรับการเข้าร่วมโครงการ SPI@ease ของซอฟต์แวร์พาร์คนั้น นับว่าเป็นจังหวะเหมาะเพราะเป็นช่วงที่บริษัทต้องการทำมาตรฐาน CMMI Level 3 พอดี ด้วยเห็นว่า “ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการทำงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ และครอบคลุมมาตรฐานของทั้งองค์กร จึงสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านมาตรฐานในปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนในบริษัทยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรว่ามีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบดีขึ้น ทั้งมาตรฐานนี้ยังเป็นมาตรฐานระดับโลกที่ทุกคนรู้จัก และนับเป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่ง ทำให้คู่ค้าและลูกค้าด้านไอทีให้การยอมรับบริษัท ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างกัน เนื่องจากมีมาตรฐานที่ทำให้เข้าใจตรงกันว่าต้องทำอย่างไร และหากเกิดปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งภายในสามปีข้างหน้า บริษัทวางแผนที่จะทำ CMMI Level 5 ที่มีมาตรฐานตรงกับการทำงานของบริษัทมากขึ้น”
ด้านบริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด (Wealth Management System Limited) โดย นายกิตติพงษ์ จงประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ พร้อมด้วยทีมบริหาร ร่วมเปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหารของซิตี้แบงค์และเชลล์ โดยมุ่งพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปด้านการบริหารการเงิน การลงทุน และบริหารความเสี่ยงภายใต้ผลิตภัณฑ์ BONANZA ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของไทย (สำรวจโดยหนังสือพิมพ์ The Nation) โดยใช้บริหารการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ กว่า 1.8 ล้านล้านบาท กลุ่มลูกค้าสำคัญ อาทิ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต ธนาคารชั้นนำของไทย และธนาคารระดับต้นๆของโลก ซึ่งใช้ในหลายประเทศ ดังนั้นในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานเป็นหลัก ทำให้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการทำมาตรฐาน CMM และผ่านการประเมินใน Level 2 มาตั้งแต่ พ.ศ.2545 จึงเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานที่เป็นระบบ จนปัจจุบันสามารถผ่านการประเมิน CMMI ใน Level 3 และวางเป้าหมายสู่การประเมินให้ผ่าน CMMI Level 4 และ 5 ภายในระยะเวลาสองปี
“CMMI กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้ทุกคนมีขั้นตอนการปฏิบัติงานและการทำงานต่างๆชัดเจน ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง และขอบเขตการทำงานของ CMMI ที่เข้ามาควบคุม ยังทำให้คุณภาพซอฟต์แวร์ดีขึ้น อีกทั้งยังลดจำนวนของเสียจากกระบวนการผลิต เนื่องจากหากกระบวนการทำงานไม่ชัดเจนอาจเกิดข้อผิดพลาดและนำมาซึ่งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น หากสามารถควบคุมคุณภาพและส่งงานได้ตามกำหนดเวลา จะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ จึงมองเรื่อง “มาตรฐาน” ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่เฉพาะในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่ต้องมีในทุกอุตสาหกรรมไทยด้วย ยิ่งเศรษฐกิจชะลอ มาตรฐานการทำงานยิ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน” หนึ่งในทีมบริหาร เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม กล่าว