สวทช. ยืมกลยุทธ ม.เท็กซัสลดช่องว่างภาคธุรกิจและนักวิจัย ผุดโครงการ "จากงานวิจัยสู่ตลาด" เปิดอบรมเข้มข้น หวังนำผลงานจากแล็บสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมนักวิจัย-นักศึกษา นำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุน เปิดโอกาสให้นักธุรกิจและนักวิจัย เรียนรู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย กระตุ้นให้นำผลงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโครงการ "แล็บ ทู มาร์เก็ต" (Lab to Market) หรือ "จากงานวิจัยสู่ตลาด" เมื่อวันที่ 11 ก.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และได้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการในด้านการวางแผนธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและนักธุรกิจในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าให้กับผู้ประกอบการได้ ในงานนี้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมงานมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นจึงต้องมีกลไกในการผลักดันให้มีการนำความรู้จากห้องแล็บไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดโครงการ Lab to Market นี้ขึ้นมา
"โครงการนี้จะเป็นช่องทางช่วยนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ นักวิจัยจะได้เรียนรู้วิธีคิดที่จะนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาดได้ ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้ศึกษาว่ามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใดจะช่วยพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แข่งขันได้ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และมีความหลากหลาย เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศชาติ" รศ.ดร.ศักรินทร์เผย
สำหรับโครงการจากงานวิจัยสู่ตลาดนี้ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ทีเอ็มซี เปิดเผยว่า จะประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ค่ายฝึกอบรม Lab to Market Boot Camp, การแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ (Idea to Product) และ การมอบรางวัลพิเศษสำหรับทีมที่เข้ารอบแข่งขันแผนธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีของ สวทช. ไปใช้ในการแข่งขัน (NSTDA Technopreneurship Prizes)
"ค่ายฝึกอบรมเป็นการอบรมสัมมนาแบบเข้มข้นให้กับนักวิจัย นักธุรกิจ และผู้ดำเนินการถ่ายทอดงานวิจัยสู่พาณิชย์ โดยจำลองการสร้างกระบวนการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะสำคัญในกระบวนการนวัตกรรม และช่วยกันระดมสมองแก้ไขปัญหาที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้นักวิจัยและนักธุรกิจเข้าใจความต้องการซึ่งกันและกัน และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมแข่งขันแผนธุรกิจที่หลายสถาบันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี" ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว
ทั้งนี้ ค่ายฝึกอบรมได้จัดไปแล้วเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ดำเนินการ ผู้เข้าร่วมอบรมจึงเน้นที่กลุ่มบุคคลภายใน สวทช. เป็นการนำร่อง และในปีต่อๆ ไปจึงเปิดกว้างสำหรับบุคคลภายนอกมากขึ้น ส่วนการแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ รศ.ดร.ชัชนาถ บอกว่า มีที่มาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐฯ ซึ่งจัดการแข่งขันวางแผนธุรกิจระดับโลกเป็นประจำอยู่แล้ว
ในปีนี้ สวทช. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมประกอบไปด้วยนักศึกษาในสาขาธุรกิจและนักวิจัย ที่ต้องนำเสนอแนวความคิดในการนำเทคโนโลยีไปทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่อคณะกรรมการที่เป็นนักธุรกิจและนักลงทุน เพื่อเฟ้นหาทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนภูมิภาคไปแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐฯ ต่อไป
ส่วนการมอบรางวัลพิเศษนั้น ศ.ดร.ชัชนารถ อธิบายว่า ในช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. ของทุกๆ ปี ในประเทศไทยจะมีการแข่งขันแผนธุรกิจชั้นนำของประเทศที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายสถาบัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกผลงานวิจัยของ สวทช. เพื่อส่งเข้าร่วมแข่งขันด้วย หากผู้เข้าแข่งขันทีมใดได้เข้ารอบสุดท้ายและมีการนำเทคโนโลยีของ สวทช. ไปใช้ในการแข่งขัน ทาง สวทช. ก็จะมีรางวัลพิเศษมอบให้กับทีมนั้นๆ และมอบให้นักวิจัยเจ้าของผลงานด้วย
"โครงการจากงานวิจัยสู่ตลาดแสดงให้เป็นเส้นทางการเดินทางของเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการจนออกไปสู่ตลาดในรูปแบบผลิตภัณฑ์ นักวิจัยได้นำเสนอผลงานต่อนักลงทุน ประเทศไทยได้แสดงเทคโนโลยีต่อต่างประเทศ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้นักวิจัยและนักธุรกิจได้เรียนรู้ความต้องการของกันและกัน ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งหวังว่าภาคธุรกิจจะเกิดความสนใจและนำงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา" ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ (Idea to Product) ระดับภูมิภาคเอเชีย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ideatoproduct-asia.org/ ซึ่งปิดรับสมัครวันที่ 7 พ.ย.51 และประกาศผลการตัดสินในวันที่ 19 ธ.ค.51