xs
xsm
sm
md
lg

เชคบิล“ชินณิชา”ซ้ำรอย “โอ้ค-เอม”บทเรียนสอนลูกให้โกง??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องเชียร์ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์
เมื่อสองปีก่อน เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ออกอาการสะท้อนในหัวอก น้ำตาคลอเบ้าเคล้าด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อตอบคำถามนักข่าวที่ถามถึงกรณีถูกยื่นตรวจสอบข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ซุกทรัพย์สินไว้กับบรรดาลูกๆ ซึ่งร่ำรวยนับพันๆ ล้านอย่างไม่น่าเชื่อ

“ถ้าคุณอลงกรณ์ (พลบุตร) เป็นสุภาพบุรุษอย่านำครอบครัวดิฉันเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะจะไม่เป็นธรรมกับลูกของดิฉันเพราะลูกยังเป็นเด็ก ไม่ทราบอะไร เราไม่ควรเอาการเมืองเข้าไปแปดเปื้อน” ( ผู้จัดการรายวัน 11 เมษายน 2549)

ช่วงนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ และปกปิดบัญชีทรัพย์สินของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ใน 3 ประเด็น คือ การถือหุ้นในโครงการหมู่บ้านชินณิชา วิลล์, การซื้อที่ดินจำนวน 8 ไร่ มูลค่า 256 ล้านบาท ในหมู่บ้านดังกล่าว และการซื้อหุ้นของบริษัท 4 แห่ง มูลค่ากว่าพันล้านของบุตรทั้งสามที่พึ่งบรรลุนิติภาวะและยังศึกษาอยู่

มาถึงวันนี้ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “น้องเชียร์” ลูกสาววัย 27 ปี ที่ “คุณแม่แดง” ออกรับว่า ยังไร้เดียงสาไม่ควรเอาการเมืองเข้าแปดเปื้อนเมื่อสองปีก่อน กลายมาเป็นทายาททางการเมืองของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ในวันที่นางเยาวภา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหลังพรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค โดย ชินณิชา มีตำแหน่งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดพรรคพลังประชาชน และเป็นส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในสภา

ชินณิชา ตกเป็นเป้าหมายถูกตรวจสอบอีกครั้ง ภายหลังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นบิดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คราวนี้เธอถูกตรวจสอบในฐานะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรงไม่ใช่เป็นการตรวจสอบทางอ้อมจากข้อหาของผู้เป็นมารดา

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2551 ในประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อป.ป.ช.

ละในวันที่ 29 ก.ย. 2551 นายเรืองไกร ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าตรวจสอบการถือครองหุ้นในบริษัทเอ็ม ลิงค์ เอเชียฯของนางสาวชินณิชา ซึ่งบริษัทดังกล่าวเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พร้อมๆ กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นบิดาที่ถือครองหุ้นในบริษัทซีเอส ล็อกอินโฟ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งนี้ ตามรายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2551 นางสาวชินณิชา แสดงว่ามีทรัพย์สินรวมเป็นเงิน 362,164,971.40 บาท รวมหนี้สิน 75,136,520.94 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นเงิน 287,028,450.46 บาท

ตามบัญชีที่ยื่นต่อป.ป.ช. นั้น ไม่ได้มีรายการที่นางสาวชินณิชา กู้ยืมมาจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินธุรกิจ ซึ่งถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดไว้แต่อย่างใด

นายเรืองไกร จึงต้องการให้ ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบการไม่แสดงทรัพย์สินในส่วนนี้ ถือว่าเข้าลักษณะจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเอกสารประกอบด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งเข้าข่ายผิดตามมาตรา 263 หรือไม่

ในเรื่องนี้ หาก ป.ป.ช. ตรวจพบว่าไม่แสดงบัญชีดังกล่าวไว้ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ทั้งยังอาจต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 34

“หากเป็นเงินแค่สิบ ยี่สิบบาท อาจจะอ้างว่าลืมได้ แต่กรณีนี้เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท จึงไม่ทราบว่าลืมได้อย่างไร” นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าวซึ่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บอกว่าลูกสาวอาจจะลืม

ส่วนการเข้าถือครองหุ้นในบริษัทเอ็ม ลิงค์ฯ จำนวน 70,000,000 หุ้น แสดงมูลค่ารวม ณ วันที่แสดงบัญชีไว้เป็นเงิน 128,100,000 บาท ซึ่งบริษัทดังกล่าว ก็เข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อาจเข้าลักษณะการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ที่ห้าม ส.ส. และ ส.ว.เข้ารับสัมปทานจากรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ถึงแม้การยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบครั้งนี้ นายเรืองไกร จะพุ่งเป้าไปที่นายสมชาย ที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินในฐานะที่เป็นรองนายกฯ และรมว.กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2551 ซึ่งพบการลงทุนในบริษัทซีเอส ล็อกอินโฟ จำกัด (มหาชน) จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่า 368,000 บาท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัมปทานกับ กสท. และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

อันเป็นพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายลักษณะเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 106(6) อันเข้าลักษณะเป็นเหตุให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เพราะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ตามมาตรา 171 วรรคสอง

ประกอบกับขาดคุณสมบัติตามมาตรา 48 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเป็นเจ้าของกิจการ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ซึ่งนายสมชายอาจขาดคุณสมบัติจากการเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2551

แต่ผลของการรุกไล่ยื่นตรวจสอบนายสมชายครั้งนี้ ย่อมสะเทือนไปถึง “ชินณิชา” หรือ “น้องเชียร์” กล่องดวงใจของนายสมชาย-นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ไม่ต่างไปจากกรณีการเข้าตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ใช้อำนาจรัฐ แสวงหาประโยชน์ให้กับครอบครัวและพวกพ้องของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งส่งผลให้ลูกชายและลูกสาว นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ติดร่างแหถูกตรวจสอบกรณีเลี่ยงภาษีการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น – แอมเพิลริช – วินมาร์ค

อันเป็นผลจากพฤติการณ์ซุกทรัพย์สินไว้กับบรรดาลูกๆ ของครอบครัวชินวัตรและวงศ์สวัสดิ์

*** “น้องเชียร์” โลดเล่นในโลกธุรกิจ-การเมือง

ก่อนหน้าที่ “เชียร์” ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ จะผันตัวเองเข้าสู่สนามการเมือง เธอได้รับการปลุกปั้นจาก “เจ๊แดง” ผู้เป็นมารดาซึ่งทุ่มทุนสร้างคอนเนกชั่นสานฝันลูกสาวให้โดดเด่นในโลกธุรกิจชนิดเกินวัยเพื่อขยายอาณาจักรชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ให้เติบใหญ่อย่างไม่หยุดยั้ง

ด้วยวัยเพียง 25 ปีกว่าในเวลานั้น “เชียร์” เป็นทั้งผู้บริหารโครงการชินณิชา วิลล์ ของบริษัทสร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน), เอ็ม ลิงค์ เอเชียฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการในหลายบริษัท ได้แก่ บริษัท แซนด์ฮอค พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จำกัด, บริษัท วาย. ชินวัตร จำกัด, บริษัท อินนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อินนิค มีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท แอล แอล เอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เยาวภา หนุนส่งให้ ชินณิชา ลูกสาวคนโตของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ พร้อมทีมบริหารมืออาชีพและพี่น้องในตระกูลชินวัตร – วงศ์สวัสดิ์ มีบทบาทในการ ดำเนินธุรกิจโดยเข้ารับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยอิงแอบอำนาจการเมืองของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

โดยเฉพาะบริษัท เอ็มลิ้งค์ คอร์ปอเรชั่น เอเชีย (MLINK) ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ที่เติบโตมาควบคู่กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เรียกว่า พี่เป็นผู้ให้บริการ (Operator) น้องสาวขายเครื่องลูกข่าย โดยเอ็ม ลิงค์ฯ ได้แตกบริษัทใหม่ ชื่อ พอร์ทัลเน็ต เข้าประมูลงานภาครัฐ เมื่อปี 2546 พร้อมตั้งเป้าหมายสร้างรายได้นับหมื่นล้านให้กลุ่มเอ็ม ลิงค์ฯ ก่อนที่พอร์ทัลเน็ตจะถูกขายให้กับกลุ่มสามารถ พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ก่อนวันรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เพียงหนึ่งวัน

*** บ่วง เอ็ม ลิงค์ฯ – สัมปทานรัฐฯ มัดแน่น

สำหรับโครงการที่พอร์ทัลเน็ต เป็นผู้ประมูลงานได้ และกลายเป็นบ่วงมัด ชินณิชา ในเวลานี้ ก็คือ โครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 3,192 ล้านบาท อันเป็นโครงการที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และถูกยื่นตรวจสอบจากหลายฝ่ายมากที่สุดโครงการหนึ่ง

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ที่ยื่นตรวจสอบโครงการดังกล่าว ต่อ ป.ป.ช. เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน ซึ่งเป็นประธานพิจารณาคัดเลือกและพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการ (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟภ.) เรียน วปรอ.รุ่น 4414 รุ่นเดียวกับนายพายัพ ชินวัตร อดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย พี่ชายของนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล (ชินวัตร) กรรมการผู้จัดการบริษัทเพอร์ทัลเนท เครือเอ็มลิงค์ ที่ชนะประมูล และเป็นน้องของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก

ส่วนการดำเนินการในการประกวดราคาที่ส่อว่ามีการทุจริต ฮั้วประมูลสมยอมกันระหว่างบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก คือ ในขั้นตอนประมูลจัดให้แยกซองราคาและซองเทคนิก โดยให้เปิดซองเทคนิกก่อน ซึ่งจากผู้ยื่นซองเทคนิก 6 ราย ปรากฏว่าผ่านเพียงรายเดียว คือกลุ่มบริษัทเพอร์ทัลเนท ส่วนอีก 5 บริษัทซึ่งเป็นบริษัทใหญ่มีประสบการณ์การทำงานไม่ผ่านเทคนิกเพราะมีเจตนาสมยอมกัน

กล่าวคือ กลุ่มบ.เอคเซนเชอร์ –ไอทีวัน-ยิบอินซอย ได้ถอด ยิบอินซอย ออกในการยื่นแบบประกวดราคาเพราะต้องการทำให้ผิดเงื่อนไข และไอทีวันซึ่งมีตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้น ก็ถือหุ้นใหญ่ในเครือเอ็ม ลิงค์ ด้วย

ส่วนกลุ่มสามารถเทเลคอม มีผู้ถือหุ้นในตระกูลจุฬางกูร เครือญาติกับตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นใหญ่ในสามารถเทเลคอมและเพอร์ทัลเนท ขณะที่กลุ่มบริษัทธุรกิจร่วมค้า สยามเทลเลคอมพิวเตอร์ฯ เป็นบริษัทในเครือจัสมินของนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลทักษิณ เป็นต้น

โครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก มูลค่า 3,192 ล้านบาท เริ่มต้นขึ้นในปี 45 โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 45 คณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด) ให้จ้างบริษัทอาร์เธอร์แอนด์เดอร์เซน จำกัด ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทที่ปรึกษาอินทนนท์ จำกัด ในภายหลัง ให้ดำเนินการจัดทำคุณสมบัติเฉพาะซอฟท์แวร์สำเร็จรูป, ปรับโครงสร้างธุรกิจหลักและโครงสร้างหน่วยงานไอทีและจัดกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด, วิเคราะห์ผลการประกวดราคาจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์สำเร็จรูป, ควบคุมการติดตั้ง โดยมีระยะเวลาจ้าง 30 เดือน

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 45 บอร์ดกฟภ.ให้ความเห็นชอบผลการศึกษาของบริษัทอินทนนท์ฯ จากนั้น วันที่ 30 ก.ย. 45 บริษัทอินทนนท์จัดส่งร่างคุณสมบัติเฉพาะของซอฟท์แวร์สำเร็จรูปให้ กฟภ. และวันที่ 30 พ.ย. 45 เจ้าหน้าที่กฟภ. จำนวน 12 คน ร่วมกับบริษัทอินทนนท์ แก้ไขร่างคุณสมบัติฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของ กฟภ.

จากนั้น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 46 ผู้เกี่ยวข้องทำบันทึกถึงผู้ว่าการ กฟภ. ขออนุมัติหลักการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์สำเร็จรูป สรุปสาระสำคัญ คือ ระบบนี้มี 9 โมดูล, มูลค่า 1,926 ล้านบาท, บริษัทอินทนนท์ ประเมินผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 12.6%, แนวทางการลงทุนเปรียบเทียบระหว่างการเช่ากับลงทุนเอง คิดเป็นราคาค่าเช่า 1,809 ล้านบาท ลงทุนเอง 2,087 ล้านบาท,

แผนดำเนินการประกวดราคา, ขออนุมัติหลักการฯ โดยการเช่า และขออนุมัติราคากลางในการประกวดค่าเช่าระบบ แบ่งเป็นค่าเช่าระบบไม่เกิน 1,926 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ ไม่เกิน 10% หลังติดตั้งใช้งานครบ 3 ปี ค่าบำรุงรักษาซอฟท์แวร์ ไม่เกิน 15% หลังติดตั้งใช้งานครบ 1 ปี อีกทั้งยังขอแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นและพิจารณาผลการประกวดราคา จำนวน 9 คน

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 46 บอร์ดกฟภ. อนุมัติตามที่ผู้ว่าการฯ เสนอ โดยมีมติอนุมัติเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ฯ ราคาประมาณการระบบคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์สำเร็จรูป คิดเป็นเงิน 1,926 ล้านบาท ระยะเวลาติดตั้งระบบ 3 ปี ระยะเวลาเช่า 5 ปี ค่าเช่ารวมค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ย (อัตรา 6.75%) ปีละ 666 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,330 ล้านบาท

ถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 46 บอร์ด กฟภ.อนุมัติผลการพิจารณาด้านเทคนิกให้กับกลุ่มบริษัทค้าร่วมซีเมนท์ SPIES ประกอบด้วย บริษัทซีเมนส์ – ซีเมนส์ เอจี – ไอบีเอ็ม และ พอร์ทัลเน็ท ผ่านเกณฑ์เทคนิคและให้คณะกรรมการคัดเลือกเปิดซองราคาต่อรองตกลงกันเป็นเงิน 3,192 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ระยะเวลาเช่า 60 เดือน โดยบอร์ด กฟภ.มีมติอนุมัติผลการประมูลเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 47

โครงการนี้มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้น คือ 1) ผู้บริหารของบริษัทอินทนนท์ ที่บอร์ดกฟภ.อนุมัติให้ว่าจ้างวางระบบและกำหนดสเปกงานประมูลครั้งนี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

เนื่องจากนายวรนันท์ ถาวรนันท์ ผู้จัดการโครงการและหัวหน้าคณะทำงานจัดทำคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลของบริษัทอินทนนท์ ได้ลาออกจากบริษัทอินทนนท์ หลังจากกำหนดคุณสมบัติฯ เสร็จ เพื่อไปเป็นผู้บริหารในกลุ่มบริษัทร่วมค้าซีเมนส์ โดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ของบริษัทไอบีเอ็ม บิสสิเนส คอนซัลติ้ง เซอร์วิส ประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูลในครั้งนี้ และบริษัทอินทนนท์ ยังจะต้องเป็นผู้ดูแลควบคุมการติดตั้งระบบอีกด้วย

2) กลุ่มบริษัท SPIES ซึ่งมีบริษัทพอร์ทัลเนท อยู่ด้วยนั้น บริษัทดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเอ็ม ลิงค์ ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในข้อเสนอเข้าประกวดราคา ระบุว่า ในการเข้าประมูลงานของกฟภ.ทางพอร์ทัลเนท จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน ทำหน้าที่ประสานงานบริการทางด้านการจัดการ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านบริหารโครงการ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 49 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานตรวจสอบทุจริตของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสตง.ขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งในการอนุมัติโครงการและขั้นตอนการประมูล รวมทั้งมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 5 ประเด็นหลัก คือ

1. การอนุมัติโครงการในคณะกรรมการ กฟภ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ทำสัญญาส่อพิรุธ เช่น การเปลี่ยนจากการซื้อเป็นเช่า ซึ่งเมื่อเทียบกับการจัดซื้อแล้วรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่าการเช่า

2.วงเงินงบประมาณการเช่าจำนวน 3,192 ล้านบาทสูงเกินจริง

3.ขั้นตอนการประมูลไม่โปร่งใส จากผู้ยื่นประกวดราคาทั้งสิ้น 8 ราย แต่กลับมีผู้ผ่านเทคนิคเพียงรายเดียวที่ได้รับการเปิดซองราคา ซึ่งราคาที่ผู้ชนะการประมูลนั้นมีราคาใกล้เคียงกับราคากลางมาก

4.บริษัทในกลุ่มกิจการค้าที่ชนะการประมูลของ กฟภ.เป็นของน้องสาวนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท แต่ชนะการประมูลมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท

และ 5.บริษัทที่ปรึกษาอินทนนท์ ที่ได้รับจ้างให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว มีผลการศึกษาที่น่าเคลือบแคลง

***ขายทิ้งหุ้นเอ็ม ลิงค์ - วินโคสท์ ??

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2551 นางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขายหุ้นเอ็มลิ้งค์ออกมาจำนวน 70 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.61 บาท ได้รับเงินทั้งสิ้น 112.70 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นนักการเมืองหลังได้รับการเลือกตั้ง โดยผู้ที่รับซื้อได้แก่ บริษัท เอ็ม แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มโกวิทเจริญกุล (ชินวัตร)

เช่นเดียวกับ หุ้นในบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารพื้นที่คลังสินค้า บนเนื้อที่ 70 ไร่ ริมถนนบางตราด กิโลเมตรที่ 53 ซึ่ง ชินณิชา จำหน่ายหุ้นเกือบทั้งหมดในช่วงก่อนลงเลือกตั้งให้แก่กลุ่มของนายจักร จามิกรณ์ จำนวนรวม 172.50 ล้านหุ้น หรือ 35.18% โดยเป็นการขายบิ๊กล็อตเพื่อทำกำไร โดยคนในวงการตั้งข้อสังเกตว่ายังเป็นกลุ่มเดียวกัน

แต่ในรายการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2551 ชินณิชา ระบุว่า มีหลักทรัพย์/พันธบัตร อยู่ใน 13 บริษัท เช่น ไทยน็อกสตีล, บมจ.เอ็ม ลิงค์ เอเชียฯ จำนวน 70,000,000 หุ้น มูลค่า ณ วันแสดงบัญชี 128,100,000 บาท, บมจ. วินโคสท์ 26,049,070 หุ้น มูลค่า 12,764,044.30 บาท, บจก.อินนิค เซอร์วิส, บจก.อินนิค คอร์ปอเรชั่น, บจก.วาย ชินวัตร, บจก.เพอร์ทัลเน็ท, บจก.เอ็ม ชอป โมบาย เป็นต้น

การเคลียร์ปมแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐหรือรัฐวิสาหกิจของ ชินณิชา จะมีผลลงเอยเช่นใด หรือจะซ้ำรอยบทเรียนสอนลูกให้โกง ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ “โอ้ค – เอม” ลูกชายและลูกสาวของ “ทักษิณ – พจมาน ชินวัตร” อีกไม่นานคงรู้คำตอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น