xs
xsm
sm
md
lg

Ludwig Wittgenstein (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Ludwig Wittgenstein
ในสัปดาห์หนึ่ง ๆ Wittgenstein จะสอนหนังสือ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมง โดยเริ่มสอนตั้งแต่บ่าย 5-7 โมง เหล่านักศึกษาจะต้องนำเก้าอี้มานั่งฟังด้วยตัวเอง นักเรียนคนใดที่เข้าเรียนสายจะถูก Wittgenstein จ้องดูด้วยสายตาที่น่ากลัว เพราะตามปกติห้องจะแน่นมาก การมาสายจะทำให้เก้าอี้ในห้องเรียนถูกจัดกันใหม่ ซึ่งมีผลทำให้การบรรยายชะงัก

ในห้องพักของ Wittgenstein ไม่มีเก้าอี้นั่งเล่น ไม่มีตะเกียงอ่านหนังสือ ผนังห้องไม่มีภาพประดับใดๆ ห้องจะมีก็แต่เตียงผ้าใบ ส่วนในห้องรับแขกมีเก้าอี้ผ้าใบ 2 ตัว และเก้าอี้ไม้ 1 ตัว เตาผิงที่ให้ความอบอุ่นในห้องทำด้วยเหล็กสไตล์โบราณ Wittgenstein ใช้โต๊ะเล่นไพ่เป็นโต๊ะเขียนหนังสือและเก็บเอกสารที่เขียนในตู้นิรภัย

เวลาสอนหนังสือ Wittgenstein จะนั่งบนเก้าอี้ตรงกลางห้องเวลากลั่นคำพูดออกมา อากัปกิริยาของเขาดูสับสน สไตล์การสอนจะเป็นไปในรูปของการสนทนา และเวลาต้องการถ่ายทอดความคิดที่ลึกซึ้ง Wittgenstein จะยกมือห้ามนักศึกษาส่งเสียง จนในบางเลกเชอร์ความเงียบสงัดจะเกิดบ่อย เพราะ Wittgenstein ต้องการเวลาคิดนาน

ดังนั้นในภาพรวมบรรยากาศการเรียนการสอนในห้อง นิสิตจะมีอาการเกรงกลัวครู ทั้งนี้ เพราะ Wittgenstein ไม่อดทนต่อพฤติกรรมที่ผิดปกติของนิสิต ด้วยเหตุนี้เวลา 2 ชั่วโมงในการบรรยายครั้งหนึ่งๆ จึงนับว่านานมากสำหรับนิสิตที่จะรู้สึกเครียดตลอดเวลา เมื่อหมดชั่วโมงสอน Wittgenstein ชอบไปดูภาพยนตร์กับเพื่อนเพื่อผ่อนคลายจิตใจ ขณะดูภาพยนตร์ Wittgenstein จะซื้อขนมปังแซนด์วิช และชอบนั่งดูภาพยนตร์แถวหน้าสุด เพื่อให้เห็นภาพเต็มจอ และใช้วิธีดูภาพยนตร์เพื่อให้ลืมเรื่องที่ตนสอนไป ดังนั้นไม่ว่าหนังจะห่วยเพียงใด Wittgenstein ก็จะดื่มด่ำ และซาบซึ้งไปหมด ภาพยนตร์อเมริกัน คือ ของโปรด และของเกลียด คือ ภาพยนตร์อังกฤษ

ถึง Wittgenstein จะเป็นนักปรัชญา แต่เขาก็มักยุนิสิตไม่ให้เป็นนักปรัชญา ไม่ใช่จะเห็นว่านิสิตไม่มีความสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ แต่เพราะ Wittgenstein ไม่ชอบชีวิตนักปรัชญา ตามปกติ Wittgenstein จะไม่รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพราะรู้สึกว่า เรื่องที่คนเหล่านั้นสนทนากันล้วนเป็นเรื่องไร้สาระ การคาดหวังจากเพื่อนฝูงและตนเองมาก บวกกับความระแวงทำให้ Wittgenstein มีเพื่อนน้อย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Wittgenstein รู้สึกเหนื่อยกับการทำงานปรัชญา จึงเข้าพักฟื้นที่โรงพยาบาล Guy’s Hospital ในลอนดอน

เมื่ออายุ 55 ปี Wittgenstein ได้กลับไปที่ Trinity College อีก เพื่อเขียนบทความเรื่อง Philosophical Investigation และได้อ่านเรื่อง Life of Pope ที่ Samuel Johnson เรียบเรียง Wittgenstein รู้สึกชื่นชม Freud มากว่าเป็นคนมีแนวคิดแปลก และประสบความสำเร็จสูง

เมื่ออายุ 58 ปี Wittgenstein ได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge หลังจากที่สิ้นสุดชีวิตนักวิชาการ Wittgenstein ได้เดินทางท่องเที่ยวในไอร์แลนด์โดยไปพำนักในชนบทที่ห่างไกลสังคม ในกระท่อมริมทะเล และบอกไม่ต้องการพบใครนอกจากคนส่งนม ในช่วงนี้ Wittgenstein รู้สึกไม่สบาย เขาจึงเดิน นั่งคิด ดูนกทะเล และเขียนหนังสือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อได้เรียบเรียงหนังสือ Philosophical Investigation จบ Wittgenstein ได้จัดการให้ลูกศิษย์พิมพ์ แล้วตนเองเดินทางกลับอังกฤษ ขณะนี้สุขภาพทรุดโทรมมาก Wittgenstein รู้สึกมั่นใจว่าตนเป็นมะเร็งและกลัวการผ่าตัด แต่ตั้งใจว่าจะตายในยุโรปเพราะตนเป็นคนยุโรป ในที่สุด Wittgenstein ก็รู้ว่าตนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงเดินทางไป Vienna แล้วไป Oxford จากนั้นก็ไปพำนักใน Norway นาน 1 เดือน แล้วเดินทางกลับ Cambridge อีก ในปี 2494 เพื่อไปพักที่บ้านแพทย์ประจำตัว เมื่อถึงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2494 Wittgenstein ก็จากโลกไปด้วยคำพูดประโยคสุดท้ายว่า  “Tell them I’ve had a wonderful life.”

เวลาเปิด Tractatus ออกอ่าน หน้าทางซ้ายทุกหน้าจะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ส่วนทางหน้าขวาคือคำแปลที่เป็นภาษาอังกฤษ ประโยคทุกประโยคมีเลขกำกับเสมือนแสดงว่านี่คือการพิสูจน์ในวิชาคณิตศาสตร์ เช่น “1. The world is everything that is the case.” “Die Welt ist alles, was der Fall ist.”

แล้วจบด้วยประโยคว่า

“7. Where of one cannot speak, there of one must be silent.”

หากใครถามนักปรัชญาว่าให้เลือกระหว่าง (1) พบความรู้ที่สมบูรณ์จนไม่มีใครสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีก กับ (2) เขียนหนังสือที่คนทุกคนเมื่อได้อ่าน รู้สึกตื่นเต้น และดีใจจนวงการวิชาการบังคับให้นิสิตที่เรียนปรัชญาทุกคนต้องอ่าน นักปรัชญาส่วนใหญ่จะเลือกข้อ (2) แต่สำหรับ Wittgenstein เขาจะเลือกข้อ (1) แล้วจบชีวิตโดยการได้ทำข้อ (2)

คุณหาอ่านเรื่องราวชีวิตและผลงานของ Wittgenstein เพิ่มเติมได้จาก
(1) Ludwig Wittgenstein : A Memoir โดย Norman Malcolm ที่พิมพ์โดย Oxford University Press
(2) The Blue and Brown Books โดย Ludwig Wittgensteinที่พิมพ์โดย Harper and Brothers
(3) Philosophical Remarks on the Foundations of Mathematics ที่รวบรวมคำพูดของ Ludwig Wittgensteinและจัดพิมพ์โดย The Macmillan Company ครับ




สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น