xs
xsm
sm
md
lg

Ludwig Wittgenstein (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Wittgenstein
เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นิตยสาร Time ของสหรัฐฯ ได้ยกย่อง Ludwig Wittgenstein ว่าเป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ จากการเรียบเรียงหนังสือ ชื่อ Tractatus logicophilosophicus ซึ่งงานชิ้นนี้ได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการปรัชญาอย่างมากมาย ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และจะตลอดไปในอนาคต

Ludwig Josef Johann Wittgenstein เกิดที่กรุง Vienna เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2432 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในครอบครัวเชื้อชาติยิวที่มีฐานะดีมาก ตระกูลนี้ในอดีตเคยตั้งรกรากอยู่ในแคว้น Saxony แล้วอพยพไป Austria และได้แปลงศาสนาจากโปรเตสแตนต์มาเป็นคาทอลิก บิดาของ Wittgenstein เป็นวิศวกรที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ทั้งบิดาและมารดาเป็นบุคคลที่มีความรู้สูง ครอบครัวนี้มี Johannes Brahms เป็นเพื่อนสนิท ดังนั้น สมาชิกของครอบครัวทุกคนจึงสนใจดนตรี Ludwig มีพี่ชาย 4 คน และมีพี่สาวกับน้องสาว 3 คน ถึงพ่อแม่จะร่ำรวย แต่บรรดาทายาทของตระกูลก็ไม่มีความสุข เพราะพี่น้องของ Ludwig 3 คนฆ่าตัวตาย และ Ludwig เองบางครั้งก็รู้สึกคลั่ง จนใคร่จะฆ่าตัวตายตามไปด้วย ในวัยเด็กบิดามารดาได้จัดให้ Ludwig เรียนหนังสือที่บ้าน จนกระทั่งอายุ 14 ปี จึงส่งไปเรียนที่โรงเรียนในเมือง Linz ประเทศออสเตรีย แล้วส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนใน Berlin ประเทศเยอรมนีในระยะแรก Ludwig ตั้งใจจะเรียนฟิสิกส์กับ Ludwig Boltzmann ที่มหาวิทยาลัย Vienna แต่เมื่อ Boltzmann ฆ่าตัวตาย Wittgenstein จึงหันไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์แทน

เมื่ออายุ 19 ปี Wittgenstein ได้ไปเรียนวิศวกรรมการบินระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Manchester ในประเทศอังกฤษ และได้รู้วิธีออกแบบใบพัดเครื่องบินซึ่งต้องอาศัยคณิตศาสตร์ การเรียนนาน 3 ปีที่นี่ทำให้ Wittgenstein ไม่รู้สึกชอบวิชาวิศวกรรมศาสตร์เลย แต่กลับดื่มด่ำในความเป็นนามธรรมของคณิตศาสตร์มาก ยิ่งเมื่อได้อ่านตำรา Principia Mathematica (Principles of Mathematics) ของ Bertrand Russell ที่ตีพิมพ์ในปี 2456 Wittgenstein ก็รู้สึกว่า หนังสือนี้ได้ทำให้ตนเข้าใจหลักการและวิธีคิดของนักคณิตศาสตร์ดีขึ้นมาก และเมื่อได้อ่านงานเขียนของ Gottlob Frege เรื่อง Symbolic Logic อีก เขาก็เริ่มซึ้งในวิชาปรัชญามาก จึงเดินทางไปหา Frege ที่เมือง Jena ในเยอรมนี และ Frege ก็ได้แนะนำให้ Wittgenstein ศึกษาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ กับ Bertand Russell และ John Maynard Keynes

ดังนั้น Wttgenstein วัย 23 ปี จึงได้เข้าเรียนวิชาปรัชญาและจิตวิทยาที่ Trinity College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge โดยได้เรียนกับปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เช่น John Maynard Keynes และ George. Hardy รวมทั้งได้สนทนาวิชาการกับ G.E. Moore และ Alfred North Whitehead ด้วย ขณะเรียนที่นั่น Wittgenstein มีเพื่อนที่สนิทมากชื่อ David Pinsent ซึ่งในเวลาต่อมาได้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ตำรา Tractitus ที่ Wittgenstein เขียนได้อุทิศให้แก่ Pinsent)

ขณะเรียนที่ Cambridge Wittgenstein สนิทสนมกับอาจารย์ Russell มาก และความสัมพันธ์นี้ได้มีอิทธิพลต่อความนึกคิดของกันและกันมาก โดยในตอนแรก Russell ไม่มั่นใจว่า Wittgenstein เป็นอัจฉริยะตัวจริงหรือเป็นบ้ากันแน่ แต่เมื่อเรียนหนังสือไปได้หนึ่งภาคเรียน Wittgenstein ก็ได้ไปถาม Russell ให้ช่วยบอกว่า ตนเป็นคนโง่เง่าหรือไม่ Russell จึงบอก Wittgenstein ให้เขียนเรียงความมาให้อ่านระหว่างปิดภาคเรียน

เมื่อเปิดเทอม Wittgenstein ได้นำเรียงความไปให้ Russell อ่าน ทันทีที่ได้อ่านประโยคแรก Russell ก็ห้ามไม่ให้ Wittgenstein เรียนวิศวกรรมการบินต่อ จากนั้นคนทั้งสองก็ได้ไปเดินเล่นและสนิทสนมกันมากขึ้นๆ จน Wittgenstein สามารถไปเยี่ยม Russell ที่บ้านได้ในเวลาเที่ยงคืน และเวลาไปเยี่ยมบางครั้ง Wittgenstein ก็จะเดินไปมาในห้องเป็นชั่วโมงเหมือนเสือติดจั่น เย็นวันหนึ่งหลังจากที่คนทั้งสองได้นั่งด้วยกันนานสองชั่วโมงโดยไม่มีใครพูดอะไร Russell ได้เอ่ยถาม Wittgenstein ว่า กำลังคิดเรื่อง logic หรือเรื่องบาปที่ได้ทำไป Wittgenstein ก็ตอบว่า กำลังคิดทั้งสองอย่าง แล้วนั่งครุ่นคิดต่อ ประสบการณ์การได้สนทนากับ Wittgenstein ในโอกาสต่างๆ ทำให้ Russell ปรารภว่า นั่นเป็นการผจญภัยเชิงปัญญาที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิตของ Russell

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 Wittgenstein ได้ไปสมัครเป็นทหารในกองทัพของออสเตรีย เมื่อออสเตรียแพ้สงคราม Wittgenstein ถูกทหารอิตาลีจับตัวเป็นเชลย Wittgenstein ก็เช่นเดียวกับ Rene Descartes คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือเวลาใดก็สามารถทำงานวิชาการได้ ดังนั้น วันหนึ่งขณะอยู่ในสนามเพลาะ เมื่อ Wittgenstein อ่านข่าวที่มีภาพชุดเหตุการณ์อุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน Wittgenstein จึงได้ความคิดว่า คำพูด หรือคำสนทนา จริงๆ แล้วก็คือภาพ ดังนั้นในตำรา Tractitus เขาจึงได้เสนอความคิดว่า ภาษา คือ ภาพของความจริงที่พูดไม่ได้ แต่แสดงได้ และโครงสร้างของประพจน์ (proposition) เป็นการรวบรวมสมการของความจริง

ขณะถูกจับเป็นเชลยสงครามที่ Monte Casino Wittgenstein ได้รับความช่วยเหลือจาก Keynes ในการส่งต้นฉบับหนังสือ Tractatus ไปให้ Russell และ Frege อ่าน ซึ่งเมื่ออ่านจบ Russell รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจ ในเนื้อหา และความหมายที่มีในหนังสือมาก เพราะรู้สึกว่า นี่คือการบุกเบิกความคิดเชิงปรัชญาที่แปลกใหม่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ในปี 2465 หนังสือนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ โดยมี Bertrand Russell เป็นผู้เขียนคำนิยม (อ่านต่ออังคารหน้า)

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น