xs
xsm
sm
md
lg

Ludwig Wittgenstein (2)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ครอบครัว Wittgenstein มีฐานะดีในกรุง Vienna
เมื่อสงครามสงบ Wittgenstein ได้รับอิสรภาพ จึงได้ไปเรียนครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Vienna และเรียนจบในเวลา 2 ปี จากนั้นก็ได้งานทำเป็นอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนชนบทที่อยู่ห่างไกล กรุง Vienna มาก แต่ก็มีเงินใช้อย่างพอเพียง เพราะเมื่อบิดาเสียชีวิตในปี 2455 Wittgenstein ได้รับมรดกก้อนใหญ่ และใช้ชีวิตอย่างสมถะ ตามแบบฉบับของ Leo Tolstoy การเป็นครูบ้านนอกที่ไม่สังคมกับใคร จึงเหมาะกับนิสัยแต่ไม่เข้ากับอารมณ์ของ Wittgenstein นัก เพราะเขาเป็นคนที่ชอบมีความเห็นขัดแย้งกับคนรอบข้างตลอดเวลา และเมื่อความขัดแย้งทวีขึ้น ๆ ในที่สุด Wittgenstein ก็ลาออกจากงานครู และได้งานใหม่เป็นผู้ช่วยคนทำสวนประจำโบสถ์ใกล้กรุง Vienna การอยู่ใกล้ศาสนาเช่นนี้ทำให้ Wittgenstein นึกอยากบวชเป็นพระ

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2469 Wittgenstein ซึ่งขณะนั้นอายุ 37 ปี ได้ไปลองทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านของพี่สาวใน Vienna โดยใช้วัสดุคอนกรีต แก้ว และเหล็ก บ้านนี้มีหลังคาทรงแบนราบ และมีรูปทรงง่าย ๆ แต่สวยเหมือนภาษาที่ Wittgenstein ใช้ในการเรียบเรียง Tractatus

การเปลี่ยนงานบ่อยและทำงานหลากหลายรูปแบบ แสดงว่า จิตใจของ Wittgenstein ไม่สงบนิ่งและไม่รู้ว่า ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือในลักษณะใด เพราะหลังจากที่ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง และในหนังสือเล่มนั้น ได้พูดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากจะพูดหมดแล้ว นอกจากนี้ ในคำนำของ Tractatus Wittgenstein ก็ได้กล่าวย้ำว่า หนังสือนี้ได้แก้ปัญหาและปริศนาต่าง ในวิชาปรัชญาหมดแล้ว แต่กว่า Tractatus จะออกสู่บรรณโลกก็ถึงปี 2465 ความล่าช้าทำให้ Russell และ Wittgenstein รู้สึกไม่สบายใจ นอกจากเหตุผลนี้แล้ว เมื่อ Russell เขียนคำนิยมให้หนังสือ Wittgenstein กลับไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนนั้นมาก ถึงขนาดขู่จะเลิกทำงานปรัชญาไปตลอดชีวิต

แต่เมื่อผลงานปรากฏในวารสาร Mind คนแปล Frank Ramsey ซึ่งแปล Tractatus ได้วิพากษ์วิจารณ์ผลงานในแง่บวก และได้เดินทางไปหา Wittgenstein ที่ Austria พร้อมได้ขอให้ Wittgenstein เดินทางกลับไปทำงานต่อที่อังกฤษ Wittgenstein จึงกลับใจ และเดินทางกลับอังกฤษด้วย เงินค่าโดยสารที่ Keynes ส่งมาให้ในปี 2468 และได้พบว่า วงการวิชาการได้กล่าวยกย่อง Tractatus ว่าเป็นผลงานดีเด่นระดับสุดยอด

เมื่ออายุ 39 ปี Wittgenstein ได้ฟังนักคณิตศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ L.E.J. Brouwer นักปรัชญาเชิงคณิตศาสตร์ซึ่งได้มาบรรยายที่ Vienna เรื่องพื้นฐานของวิชาคณิตศาสตร์ การได้ยินข้อคิดของ Brouwer ทำให้ Wittgenstein รู้สึกสนใจวิชาปรัชญาอีกครั้งจึงเดินทางกลับไปทำงานในฐานะนักวิจัยที่ Cambridge และได้รับเลือกเป็น Fellow ของ Trinity College จากนั้นก็ได้เขียนบทความปรัชญาเชิงคณิตศาสตร์ออกมาหลายเรื่อง ซึ่งบทความเหล่านี้ให้ข้อคิดที่แตกต่างจากแนวคิดของ Russell และ Frege นอกจากนี้บางบทความยังลบล้างความคิดเดิมบางประเด็นของตนเองใน Tractatus ด้วย

Wittgenstein ใช้ชีวิตที่เหลือส่วนใหญ่ในอังกฤษ เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge และเมื่อ Austria ถูกเยอรมนียึดครอง Wittgenstein ได้แปลงสัญชาติเป็นอังกฤษ เพราะรู้สึกว่า อังกฤษเป็นสถานที่ที่ให้เสรีภาพ ความปลอดภัย และอาหารสมอง แต่อังกฤษก็มิใช่ประเทศที่เขารู้สึกสบายใจที่จะอาศัยอยู่ เพราะ Wittgenstein ไม่ชอบวิถีชีวิตคนอังกฤษ และไม่ชอบบรรยากาศวิชาการที่ Cambridge ในปี 2478 เมื่อทุนวิจัยที่ได้รับจาก Trinity College หมด Wittgenstein ตั้งใจจะอพยพไปรัสเซีย แต่ที่นั่นมีความวุ่นวายทางการเมืองมาก Wittgenstein จึงหนีสังคมไปอาศัยอยู่ในชนบทเล็ก ๆ ในนอร์เวย์ และเริ่มเขียนหนังสือที่สำคัญมากชิ้นที่สอง ชื่อ Philosophical Investigations (ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี 2496 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว และเป็นหนังสือเล่มที่ 2 ที่นักปรัชญาทุกคนต้องอ่าน) เมื่อเขียนจบ เขาก็ได้หวนกลับไป Cambridge อีก เพื่อเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ปรัชญา แทน Moore ขณะนั้น Wittgenstein มีอายุ 49 ปี แต่ดูหนุ่มเหมือนมีอายุเพียง 35 ปี ด้วยความสูง 5 ฟุต 6 นิ้ว ผมสีน้ำตาลหยักศก ใบหน้าเรียว เขาจึงเป็นเป้าสายตากลางที่ประชุมบ่อย ถึงบางเวลาจะพูดติดอ่าง แต่เวลาพูด Wittgenstein จะเน้นคำและออกเสียงคำต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะคำทุกคำที่เขาคัดมาใช้ล้วนแสดงความคิดที่ตรงใจทั้งสิ้น Wittgenstein สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง แต่บางครั้งก็พูดด้วยสำนวนเยอรมัน

ในด้านบุคลิกภาพ Wittgenstein เป็นคนชอบแต่งตัวง่ายๆ ชอบใส่กางเกงสักหลาดสีเทาอ่อน สวมเสื้อเชิ้ต์สักหลาดคอเปิด และใส่เสื้อคลุมหนังสัตว์หรือขนแกะและยามออกไปนอกบ้าน และเวลาฝนตก Wittgenstein จะใส่หมวกที่ทำด้วยผ้าขนสัตว์ และสวมเสื้อฝน อีกทั้งชอบถือไม้เท้า ไม่เคยใส่เสื้อนอก หรือผูกเนกไทเลย นอกจากนี้เสื้อผ้าที่สวมก็สะอาด และรองเท้าขัดมันด้วย (อ่านต่ออังคารหน้า)

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น