ตั้งแต่ฐานวิจัยในแอนตาร์ติก ไล่ไปจนถึงมหาปิรามิดแห่งอียิปต์ และที่อื่นๆ ทั่วโลก ต่างปิดไฟที่ไม่จำเป็น เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour เป็นเวลา 60 นาที เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมในการบรรเทาภาวะโลกร้อน
เมื่อค่ำคืนของวันที่ 28 มี.ค.52 ที่ผ่านมา แต่เมือง แต่ละประเทศ ในแต่ละทวีป ได้ปิดไฟที่ไม่จำเป็นลงเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยมีกำหนดเวลาร่วมใจกันที่ 20.30 - 21.30 น. ไล่ตามกันไปในแต่ละช่วงเวลา (Time Zone) ตามแผนรณรงค์ของกิจกรรม Earth Hour (เอิร์ธ อาว) โดยมีกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF : World Wildlife Fund) เป็นโต้โผหลัก
คาดกันว่าข้อตกลงที่จะมาแทนที่พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2555 นั้น จะได้ข้อสรุประหว่างการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือน ธ.ค.นี้ นั่นเพราะนักสิ่งแวดล้อมเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ โดยเห็นได้จากจำนวนเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour โดยปีที่แล้วมีเพียงแค่ 400 เมือง ขณะที่ปีนี้มีมากถึง 4,000 เมือง
อย่างไรก็ดี แม้ว่า โลกของเรากำลังเผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้จัดงานกังวลกันอยู่ว่าอาจไม่ได้รับความร่วมมือมากเท่าใดนัก แต่กลับเป็นตรงกันข้ามที่ ได้รับผลตอบรับอย่างดียิ่ง
"Earth Hour เป็นกิจกรรมเชิงบวก ตามท้องถนนเต็มไปด้วยความยินดี ไม่ใช่กิจกรรมการรณรงค์เดินประท้วง เป็นแนวคิดแห่งความหวัง ไม่ใช่ความสิ้นหวัง ไม่คิดว่าปีนี้จะเกิดผลสำเร็จอย่างเกินคาดหมาย เพราะปีนี้เป็นปีที่ความวิตกกังวลแพร่กระจายไปทั่ว" แอนดี้ ริดเลย์ (Andy Ridley) ผู้อำนวยการโครงการ Earth Hour ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวเอพี
ทันทีที่ หมู่เกาะแชแทม (Chatham Islands) เกาะเล็กๆ ที่ห่างจากนิวซีแลนด์ออกไป 800 ก.ม.ได้ปิดเครื่องปั่นไฟ ที่ใช้กำเนิดไฟฟ้าลง นับเป็นการลั่นฆ้องเปิดกิจกรรม Earth Hour ขึ้นอย่างเป็นทางการ จากนั้นโอ๊คแลนด์สกายทาวเวอร์ (Auckland's Sky Tower) สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ที่สูงที่สุดในนิวซีแลนด์ก็มืดลง
ขณะเดียวกัน ที่ฐานวิจัยขั้วโลกใต้สก็อต เบส (Scott Base) ในแอนตาร์กติกา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ชาวนิวซีแลนด์อยู่ 26 คน ได้ปิดอุปกรณ์ต่างๆ เหลือแต่เพียงแสงไฟที่จำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัย เพื่อส่งสัญญาณขอร่วมกิจกรรมเพื่อโลกในครั้งนี้ด้วย
ไล่ไปจนถึงมหาปิรามิด ในอียิปต์ก็มืดมิดไปพร้อมๆ กับสฟิงก์ รวมถึงโบราณสถานของประเทศอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โคลอสเซียม และมหาวิหารเซ็นปีเตอร์ในอิตาลี วิหารนอเทอร์ดามในฝรั่งเศส ทว่าสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างหอไอเฟล ขอปิดไฟได้แค่ 5 นาที ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เพราะยังมีนักท่องเที่ยวใช้บริการอยู่
"มากกว่าความกังวลเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ เราควรส่งสัญญาณความตั้งใจในการพิทักษ์โลก" เคลาส์ โวเวไรต์ (Klaus Wowereit) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงเบอร์ลิน ซึ่งพาเมืองหลวงของเยอรมนีเข้าร่วมกิจกรรม Earth Hour เป็นครั้งแรกกล่าว
เช่นเดียวกันกับประเทศจีนที่ร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรก โดยได้ปิดไฟสถานที่สำคัญที่เพิ่งจัดโอลิมปิก 2008 ที่ทั่วโลกรู้จักดี คือ สนามกีฬาแห่งชาติรังนก และสระว่ายน้ำ (Water Cube)
ที่สเปน เมืองหลวง 582 แห่งของทุกจังหวัดได้ปิดไฟลงเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังอาทิตย์ตกดิน อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาติในนิวยอร์ก ก็หรี่แสงไฟลงเช่นกัน เพื่อส่งเสียงสนับสนุนสนธิสัญญาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่
ส่วนในประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมหลักคือ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี ทีมรณรงค์ปิดไฟให้โลก ก็บอกว่า ไม่ได้มีเกณฑ์การวัดการประหยัดพลังงานที่ชัดเจนจากกิจกรรมนี้ ทว่าบัน คีมุน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกกิจกรรม Earth Hour ครั้งนี้ว่า เป็นหนทางที่ให้ประชากรโลกได้ส่งข้อความที่ชัดเจนว่า ต้องการมีปฏิกิริยาต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ.
ชมภาพกิจกรรม Earth Hour ทั่วโลกได้ที่
http://www.flickr.com/photos/earthhour_global/
กิจกรรมในส่วนของเอเชีย (จาก youtube : Earth Hour 2009)