xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซตามรอยขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบอังกฤษพาทิ้งที่ไนจีเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โทรทัศน์ที่ไม่ใช้แล้ว กองเป็นขยะเพื่อการรีไซเคิลในอังกฤษ
กรีนพีซ - กรีนพีซติดตามการลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฏหมาย พบอังกฤษแอบลักลอบส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่รวบรวมเพื่อรีไซเคิลไปยังไนจีเรีย โดยแจ้งเป็นสินค้ามือสอง ทั้งนี้ไนจีเรียเป็นอีกหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว

ที่ประเทศอังกฤษ กรีนพีซได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบุพิกัด ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทโทรทัศน์ เพื่อสืบค้นเส้นทางการเคลื่อนย้ายและจุดหมายปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแทนที่ขยะจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วน และรีไซเคิลอย่างถูกวิธีในประเทศตามที่กฏหมายได้ระบุไว้

แต่ขยะดังกล่าวกลับถูกส่งต่อไปยังประเทศไนจีเรีย โดยแจ้งว่าเป็นสินค้ามือสอง ทั้งนี้ การลักลอบส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุด เป็นสิ่งผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป(3)

การที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไม่รับผิดชอบในการรับซากผลิตภัณฑ์ของตนกลับไปรีไซเคิลนั้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดการส่งออกขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรป ไปยังประเทศกำลังพัฒนา และทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ (1)

"ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สามารถช่วยหยุดการลักลอบส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตน ให้ปลอดจากสารพิษอันตราย และที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบในการรวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และยังช่วยหยุดการขยายตัวของสถานที่ทิ้งขยะที่ส่งผลกระทบในประเทศที่กำลังพัฒนา" มาร์ติน โฮจซิค ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าว (2)

ปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงตกอยู่กับกลุ่มคนจน ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในหลายกรณีมักเป็นเด็ก โดยต้องแยกชิ้นส่วนหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เกมคอนโซล และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยปราศจากความรู้และมาตรการป้องกันความปลอดภัย จึงได้รับสารพิษอันตราย อาทิ ปรอทที่ส่งผลทำลายสมอง สารตะกั่วที่ทำลายระบบสืบพันธุ์ และแคดเมียมที่ส่งผลกระทบต่อไต เป็นต้น

สินค้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มือสอง ถูกส่งออกจากสหภาพยุโรปไปยังแอฟริกาทุกวัน แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไป มีทั้งอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ สามารถนำกลับมาซ่อมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเสื่อมสภาพ และในที่สุดถูกนำไปทิ้งในประเทศ ที่ยังไม่มีระบบการรีไซเคิลที่ปลอดภัย

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าประเทศในแถบยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีมักจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไนจีเรีย กาน่า ปากีสถาน อินเดียและจีน

เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยการรับคืนกลับ รวมทั้งยุติการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการรีไซเคิลและเพิ่มความปลอดภัยในการจัดการ

หมายเหตุ
(1) ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในประเภทของขยะอันตราย ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจากยุโรปและโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

(2) แม้ว่าบริษัทที่ชี้แจงว่ามีนโยบายการรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตนกลับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล การคำนวณสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตต่างๆ ในอดีตเทียบกับซากผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมได้
พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึงร้อยละ 91 หายไปจากระบบ จากข้อมูลของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ 4 ราย ในปี 2549 และ 2550 มีเพียงร้อยละ 10 ของคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุการใช้งานถูกนำไปรีไซเคิล และมีการรีไซเคิลร้อยละ 2-3 ของโทรศัพท์มือถือ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/e-waste-report-full

(3) โทรทัศน์ที่กรีนพีซติดตามการขนย้ายนั้น ส่วนใหญ่จะชำรุด แตกหัก ไม่สามารถนำกลับมาซ่อมได้ จึงถือว่าจัดอยู่ในประเภทขยะ ทั้งนี้ ส่วนประกอบของโทรทัศน์เช่น จอภาพแบบ CRT มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ จึงควรจัดอยู่ในกลุ่มขยะอันตราย entry A1180 of Annex V, Part 1 (1) บัญชี A ในกฎหมายของสหภาพยุโรป เรื่องการขนย้ายขยะ (Regulation (EC) 1013/2006) และในหัวข้อที่ 36.1 (a) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามส่งออกขยะอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงไนจีเรีย

** ภาพประกอบทั้งหมดจากกรีนพีซ **

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- ภาพการติดตามและตรวจสอบ
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/photo-stories/following-the-e-waste-trail
- รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกาน่า
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/photo-stories/e-waste-in-ghana-kim-schoppi
- ภาพขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปากีสถาน
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/greenpeace-photo-essays/scrap-life-pakistan-with-rob
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีนและอินเดีย
http://www.greenpeace.org/international/press/reports/recyclingelectronicwasteindiachinafull
กรีนพีซได้ติดตั้งอุปกรณ์ลงในโทรทัศน์เครื่องหนึ่ง ในกองขยะเพื่อรีไซเคิล เพื่อตามรอยว่าจะไปสิ้นสุดลงที่ใด
รถขนขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการรีไซเคิลก็ออกเดินทาง
แต่ปลายทางกลับไปไกลถึงประเทศในแอฟริกา
โทรทัศน์ไม่ใช้แล้วที่อังกฤษ กลายเป็นสินค้ามือสองที่ไนจีเรีย
กลุ่มคนเหล่านี้มาแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบางส่วนเป็นสารพิษ โดยที่พวกเขาไม่รู้ เพื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ ไปขายต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น