"ค้างคาว" ไม่ระบุสายพันธุ์ (และที่มา) เกาะติดถังเชื้อเพลิงดิสคัฟเวอรีแน่น กระทั่งถึงเวลาปล่อยยาน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะไปไหน พากันทะยานฟ้า ไม่ทราบชะตากรรมเจ้าตัวน้อย เชื่อนกมีหูหนูมีปีกตัวนี้เจ็บเกินจะบินไหว แถมไม่รู้ถูกโฉลกกันท่าไหน นักบินญี่ปุ่นได้ทำสถิติมีค้างคาวมาเกาะแกะที่ยานถึง 2 ครั้ง
ระหว่างการปล่อยกระสวยอวกาศ "ดิสคัฟเวอรี" ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 16 มี.ค.52 ทีผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) นั้นเป็นไปด้วยความประทับใจของเหล่าเจ้าหน้าที่ ทว่าเมื่อพิจารณาภาพระหว่างการส่ง พบค้างคาวตัวน้อยเกาะติดถังเชื้อเพลิงภายนอกระหว่างที่ยานพุ่งออกจากฐาน
ทั้งนี้ นาซาสังเกตเห็นค้างคาวตัวนี้ เกาะอยู่ที่บริเวณถังเชื้อเพลิงด้านนอกของดิสคัฟเวอรีมาพักหนึ่ง และหวังว่าเมื่อถึงเวลาจุดระเบิดปล่อยเครื่องยนต์ ค้างคาวตัวนี้จะบินออกไป แต่เมื่อนับถอยหลังถึงศูนย์ก็หาได้เป็นเช่นนั้น
"เจ้าค้างคาวขยับตัวเปลี่ยนทิศทาง ระหว่างนับถอยหลังอยู่ตลอด แต่ท้ายที่สุดก็ไม่บินหนีออกไป" เจ้าหน้าที่จากนาซาให้สัมภาษณ์แก่สเปซด็อตคอม
ทว่า เมื่อดิสคัฟเวอรีทะยานออกไป ภาพบันทึกในย่านอินฟราเรดยังแสดงผลออกมาว่า ค้างคาวตัวนั้นยังคงมีชีวิต และเกาะติดกับถังเชื้อเพลิงด้านนอกอยู่ โดยที่ไม่ได้แข็งตาย ตามอุณหภูมิของถังเชื้อเพลิงและสภาพอากาศระหว่างทางแต่อย่างใด
อีกทั้งหลังวิเคราะห์การปล่อยยานแล้ว เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ค้างคาวก็ยังเกาะติดอยู่กับถังเชื้อเพลิง จนกระทั่งยานสละถังดังกล่าวในขั้นสุดท้าย ที่ขอบฟ้า ก่อนพุ่งสู่อวกาศ นั่นก็ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานภาพของค้างคาวตัวนั้นได้อีกแล้ว
นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่จากศูนย์อวกาศเคนนาดี (NASA's Kennedy Space Center) ที่แหลมคานาเวอรัล มลรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นจุดปล่อยดิสคัฟเวอรีริมทะเลนั้น ยังวิเคราะห์ว่า ค้างคาวที่เกาะอยู่นั้น ไม่น่าจะแข็งแรง
"ดูจากภาพถ่ายและวิดีโอแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าบอกว่า ค้างคาวที่เกาะอยู่นั้น ดูเหมือนจะปีกซ้ายหัก และบริเวณไหล่ขวา หรือไม่ก็ข้อมือ (ปลายปีก) ก็ดูเหมือนจะมีปัญหา" เจ้าหน้าที่นาซาเล่า ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าค้างคาวโชคร้านตัวนี้น่าจะตาย (อย่างทรมาน) ระหว่างที่ดิสคัฟเวอรีไต่ระดับสู่วงโคจร
เพราะว่า ศูนย์อวกาศเคนนาดีนั้น อยู่ในบริเวณศูนย์อพยพสัตว์ป่า (Florida's Merritt Island National Wildlife Refuge) จึงทำให้บริเวณฐานปล่อยจรวดต้องติดตั้งอุปกรณ์มากมาย เพื่อส่งสัญญาณถึงเหล่าสัตว์ก่อนปล่อยยาน ไม่ว่าจะเป็น ไซเรนส่งเสียงไล่สัตว์ หรือทำตาข่ายกั้นนก ให้พ้นเขตอันตราย รวมทั้งยังมีเรดาร์สำรวจให้แน่ใจว่าจะไม่มีฝูงนก มาติดอยู่บริเวณฐานปล่ยจรวด เมื่อถึงเวลาปล่อยยานอวกาศ
ทว่า ค้างคาวที่เกาะอยู่ตรงถังเชื้อเพลิงก็ไม่มีทีท่าว่าจะหนีออกไป แม้กระทั่งจุดระเบิดเครื่องยนต์แล้วก็ตาม
ค้างคาวเจ้ากรรม เกาะอยู่บริเวณท่อนบนของถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและออกซิเจนเหลวเย็นยิ่งยวด ซึ่งเป็นด้านที่หันหน้าสู่วงโคจร โดยนาซาประมาณว่าเมื่อทะยานขึ้นฟ้า บริเวณนั้นจะมีอุณหภูมิประมาณ 14-21 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าปล่อยยาน ทีมไอซีอี ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบขั้นสุดท้าย (ICE : NASA's Final Inspection Team) พยายามจะขอตรวจดูก่อนว่า การที่ค้างคาวเกาะติดยานไปด้วยนั้น จะส่งผลต่อฉนวนกันความร้อนใต้ท้องยาน ขณะที่ต้องรับภาระผ่านชั้นบรรยากาศหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของนาซา ยืนยันว่า ค้างคาวเกาะไปอย่างนั้น ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ตัวยานแน่นอน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีค้างคาวพยายามจะขอติดสอยห้อยตามไปสู่อวกาศด้วย ค้างคาวตัวอื่นๆ ก่อนหน้าก็เคยเกาะติดถังเชื้อเพลิงด้านนอกเช่นกัน อาทิ ยานเอนเดฟเวอร์ เที่ยวบิน STS-72 ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งตอนนั้นก็มีการตรวจตรากันถึงความเสี่ยง แต่ท้ายที่สุดค้างคาวก็เปลี่ยนใจ บินหนีไปก่อนจะปล่อยยาน
อีกครั้งก็ในปี 2541 ค้าวคาวเกาะที่ยานโคลัมเบีย เที่ยวบินที่ STS-90 แต่ท้ายสุดก็บินหนีไปก่อนเช่นเดิม
นอกจากนี้ โคอิชิ วาตากะ (Koichi Wakata) ซึ่งเป็นนักบินอวกาศญี่ปุ่นคนแรกที่มีชั่วโมงอยู่บนอวกาศยาวนานที่สุดของประเทศ ก็เตรียมแลกกะปฏิบัติหน้าที่แทนซานดรา แมกนัส (Sandra Magnus) 1 ใน 3 นักบินที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนั้น โดยตอนนี้วาตากะได้รับตำแหน่งนักบินอวกาศคนแรกของโลก ที่ได้บินพร้อมค้างคาวถึง 2 ครั้งซ้อน
ไม่รู้ว่า วาตากะจะถูกโฉลกกับค้างคาว หรือเป็นญาติกับแบทแมน เพราะตอนเที่ยวบิน STS-72 เขาก็อยู่ด้วย และเที่ยวบินล่าสุดSTS-119 พร้อมค้างคาวนี้ วาตากะก็เป็นลูกเรือโดยสารอีกรอบ.