พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กที่สุด เท่าที่เคยเจอในแคนาดา ตัวเท่าไก่ตัวเล็กๆ คาดเคยมีชีวิตอยู่บนโลกมาเมื่อ 75 ล้านปีก่อน
ตามรายงานของรอยเตอร์และเอพี นักวิจัยแคนาดาได้ออกมาแถลงว่า พบฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยรู้จัก มีขนาดพอๆ กับไก่ตัวเล็กๆ หนักแค่ 1.8-2.2 กิโลกรัมเท่านั้น โดยพบบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ในอัลเบอร์ตาของแคนาดาตะวันตก เชื่อเป็นญาติกับไดโนเสาร์กินเนื้อ "เวโลซิแรปเตอร์" (Velociraptor) โดยเชื่อว่ามีความดุร้ายและกรงเล็บที่ร้ายกาจพอๆ กัน และอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 75 ล้านปีก่อน
ไดโนเสาร์ที่พบดังกล่าว คือ เฮสเปอร์โอนิชัส (Hesperonychus) ซึ่งชื่อดังกล่าวมีความหมายว่า "กรงเล็บแห่งตะวันตก" ทั้งนี้เชื่อว่านักล่าตัวจิ๋วนี้มีชีวิตอยู่ช่วงปลายยุคครีเตเชียส (cretaceous) วิ่งด้วย 2 ขา กินแมลงหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หรือสัตว์อื่นๆ ที่สามารถล่าได้
"เป็นได้ว่า (มัน) อาจล่าและกินอะไรก็ตาม ที่เหมาะกับขนาดของมัน อย่างแมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้กระทั่งลูกไดโนเสาร์" นิโคลัส ลองริช (Nicholas Longrich) จามหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) ผู้ร่วมศึกษาซากฟอสซิลนี้ร่วมกับ ดร.ฟิลิป คูร์รี (Dr.Philip Currie) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) แคนาดา ให้ความเห็น
ทั้งนี้ นักวิจัยศึกษาจากซากฟอสซิลซึ่งเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 แต่ด้วยขนาดที่เล็กพวกเขาจึงสันนิษฐานว่าฟอสซิลดังกล่าวน่าจะเป็นของไดโนเสาร์กินพืช แต่จากการศึกษาฟอสซิลกระดูกเชิงกรานนักวิจัยได้ข้อสรุปว่าไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดนี้โตเต็มที่ได้ 50 เซนติเมตร และยังพบว่ากระดูกสะโพกหลอมเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะของการโตเต็มวัย
ดร.คูร์รีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาขนาดของสะโพกและกระดูกเชิงกรานทำให้ทราบว่าไดโนเสาร์ขึ้นนี้ปีนต้นไม้ได้ อีกทั้งดูคล้ายว่านักล่าโบราณนี้จะใช้อวัยวะที่ยื่นมาช่วยร่อนหรือเป็นชูชีพจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง
บีบีซีนิวส์ระบุด้วยว่า การค้นพบครั้งนี้จะช่วยไขข้อถกเถียงเกี่ยวกับจุดกำเนิดของสัตว์ในการร่อนลงสู่พื้นว่า เริ่มต้นจากการใช้วิธีกระพือแขนหรือเริ่มจากสัตว์ที่ปีนป่ายต้นไม้ร่อนลงสู่พื้น
ส่วนลองริชเชื่อว่า ยังมีไดโนเสาร์กินขนาดเล็กที่รอการค้นพบอีกจำนวนมาก และการค้นพบครั้งนี้ยังนำไปเปรียบเทียบกับการค้นพบไดโนเสาร์ขนาดเล็กซึ่งพบที่จีนก่อนหน้านี้ได้
ทั้งนี้ฟอสซิลของไดโนเสาร์นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า เฮสเปอโอนิชัส อลิซาเบเธ (Hesperonychus elizabethae) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.อลิซาเบธ นิคอลล์ส (Dr.Elizabeth Nicholls) นักบรรพชีวินวิทยาผู้ขุดพบ และงานวิจัยในการจำแนกชนิดไดโนเสาร์นี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of National Academy of Sciences)