xs
xsm
sm
md
lg

เวทีน้ำโลกย้ำวิกฤติ อีก 20 ปีคนครึ่งโลกขาดน้ำจืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเดิมการประชุมด้วย การประท้วงตามธรรมเนียม แต่คราวนี้ถูกสลายด้วยแก๊สน้ำตา
เริ่มแล้วการประชุมระดับโลกทางด้านน้ำจืด "เวิล์ด วอเตอร์ ฟอรั่ม" มีผู้เข้าประชุมมากเป็นประวัติการณ์ ซ้ำข้อมูลยูเอ็นเผยอีก 20 ปีประชากรโลกจะขาดน้ำจืดเกือบครึ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในจีนและเอเชียใต้ เร่งสร้างจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อน้ำ ย้ำแนวคิด “รักษาน้ำเหมือนเป็นสมบัติล้ำค่าของชีวิต”

การประชุมน้ำโลกครั้งที่ 5 หรือ "เดอะ ฟิฟธ์ เวริล์ด วอเตอร์ ฟอรั่ม" (The 5th World Water Forum) จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 3 ปี โดยในปีนี้เริ่มขึ้นแล้ว ณ กรุงอีสตันบุล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 16-22 มี.ค.52

ทั้งนี้ ในการประชุมแต่ละครั้ง ก็จะมีการประกาศประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับน้ำ ทั้งความขาดแคลน แนวโน้มความเสี่ยงอันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศเหนือแม่น้ำ ทะเลสาบต่างๆ รวมถึงทางออกในการรักษาน้ำสะอาด และสร้างน้ำให้สุขอนามัยเพียงพอแก่ประชากรนับพันล้าน โดยปีนี้มีแนวคิดว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤติน้ำจืดมากยิ่งขึ้น และมุ่งการรณรงค์ไปที่ “รักษาสมบัติอันล้ำค่าต่อชีวิต” (to save the precious stuff of life)

ทว่า ก่อนการเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าได้มีประชาชนกว่า 300 คนเดินขบวนประท้วงไปยังสถานที่จัดประชุม ส่งผลให้ตำรวจต้องสลายด้วยแก๊สน้ำตา เพราะกลุ่มผู้ประท้วงได้ขว้างก้อนหิน และใช้ไม้เข้าตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากสลายกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่จับผู้ประท้วงได้อย่างน้อย 15 ราย และคุมตัวไว้สอบสวนต้อไป ส่วนกิจกรรมการประชุมก็สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

สำหรับพิธีเปิดการประชุมเริ่มขึ้น โดย โลอิค โฟชง (Loic Fauchon) ประธานสภาน้ำโลก (World Water Council : WWC) กล่าวปาฐกาว่า มนุษยชาติต้องแสดงปฏิกิริยาต่อต้านการทำให้น้ำเสีย และการใช้น้ำในทางที่ผิด เพราะน้ำนั้นช่วยประทังชีวิต “พวกเราต้องมีความรับผิดชอบ”

“มีความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดต่อน้ำ มีความรับผิดชอบต่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้โลกเปลี่ยนไป และมีความรับผิดชอบต่อผลพวงต่างๆ ที่นำไปสู่ปริมาณน้ำจืดที่ลดลง ซึ่งน้ำจืดเหล่านั้นมีผลต่อการมีชีวิตรอดของมวลมนุษยชาติ” โฟชงกล่าว

นอกจากนี้ เขายังเสริมอีกว่า ทุกๆ ครั้งเมื่อเอ่ยถึงประวัติศาสตร์น้ำ จะพบว่า พวกเรามักใช้ทรัพยากรน้ำมากเกิน ทว่าในเวลาเดียวกันเราก็ต้องปกป้อง ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และแม้กระทั่งนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ ประชากรโลกในปัจจุบันมีมากกว่า 6.5 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านในช่วงกลางศตวรรษ (ประมาณปี ค.ศ.2050) นั่นหมายความว่า จะมีความต้องการน้ำจำนวนมหาศาล มากกว่าปริมาณน้ำที่จะจัดหาได้ในปัจจุบัน

ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ระบุว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาน้ำอย่างรุนแรงนั้น คาดว่าจะสูงถึง 3.9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2030 นับว่าเกือบครึ่งของประชากรทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้จะอยู่ในจีน และเอเชียใต้

นั่นยังไม่รวมถึงผลกระทบจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โลกร้อน (Global warming) มีผลต่อรูปแบบลมฟ้าอากาศไปแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ฝนหรือหิมะตก ตามการศึกษาข้อผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ ประชากรอีกราว 2.5 พันล้านคนยังไม่มีโอกาสเข้าถึงสุขอนามัยที่เหมาะสม ซึ่งนับเป็นอุปสรรค ต่อการบรรลุหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (UN's Millennium Development Goals)

ข้อมูลจากนักอุทกวิทยาหลายฝ่าย ยังชี้ว่ารากเหง้าของวิกฤติของการขาดน้ำที่แท้จริง เกิดจากการทำเกษตรเกินพอดี การรั่วไหลของน้ำจากแหล่งส่งน้ำเมือง มลพิษของแม่น้ำ และการกักกันแหล่งน้ำจากแหล่งต่างๆ อย่างไร้การควบคุม

เวทีน้ำในครั้งนี้ จัดขึ้นที่กรุงอีสตันบูล และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 22 มี.ค.52 ซึ่งการประชุมเริ่มด้วย การประชุมกลุ่มย่อยของเหล่าผู้นำรัฐและรัฐบาล นำโดยตุรกี และจะสรุปด้วยการประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันหาหนทาง สร้างข้อแนะนำ (guideline) ในการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาด รวมถึงการจัดการกับความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากแหล่งน้ำ

นอกจากภาระที่เป็นของฝ่ายการเมืองแล้ว ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้รวมบริษัทและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเข้ามาร่วมแสดงความเห็นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากรายงานการพัฒนาน้ำสำหรับโลกที่ 3 (the third World Water Development Report) ระบุว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องใช้งบประมาณปีละ 92.4 – 148 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างและรักษาระบบการสำรองน้ำ รวมถึงการทำให้น้ำสะอาด และการเกษตร ลำพังที่จีนและบางประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ก็ต้องใช้งบประมาณมากถึงปึละ 38.2-51.4 พันล้านเหรียญ

“จะทำให้อย่างไร ให้การลงทุนทุ่มเงินเหล่านี้มีประสิทธิภาพ และเพียงพอที่จะจัดการน้ำ” นับเป็นโจทย์สำคัญในการประชุมครั้งนี้

มาร์ก ฮาเยส (Mark Hayes) นักรณรงค์จากกลุ่ม ซีเอไอ (Corporate Accountability International : CAI) ซึ่งติดตามการดำเนินงานของบริษัทมหาชนถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ว่า สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำจากแหล่งใหญ่สู่ประชาชน ทั้งการจัดส่งน้ำ ราคาค่าน้ำ และการจัดการน้ำ ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากวิกฤติน้ำและการดำเนินการของบริษัทเหล่านี้

“ขณะนี้ ประชาชนที่กำลังหิวกระหาย ไม่สามารถส่งเสียงของพวกเขาต่อที่ประชุม” ฮาเยสกล่าว ซึ่งการประชุมเวิล์ดวอเตอร์ฟอรั่มครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 27,000 คน จากกว่า 100 ประเทศ นับว่าทำลายสถิติผู้เข้าร่วมประชุม 4 ครั้งก่อนหน้านี้

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผู้นำจากประเทศหรืออุตสาหกรรมแล้ว ยังมีคนสำคัญที่น่าจับตามอง อาทิ เจ้าชายวิลเลียม อเล็กซานเดอร์ มกุฏราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์, เจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ประธานาธิบดียาลัล ตอลาบานี แห่งอิรัก, ประธานาธิบดีอีโมมาลี ราห์มอน แห่งทาจิกิสถาน และนายกรัฐมนตรีแห่งเกลาหลีใต้ เป็นต้น โดยผู้นำบางท่านจะอยู่ร่วมประชุมตลอดสัปดาห์.

*ภาพทั้งหมดจากเอเอฟพี
แม้แต่ภายในการประชุมก็มีการชูป้าย ไม่เอาเขื่อน
ทุกวันนี้เราใช้น้ำมากเกินกว่าแหล่งน้ำจะสร้างใหม่ได้ทัน
เจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงร่วมการประชุมครั้งนี้
มกุฏราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ (ซ้าย) ทรงสนทนากับประธานาธิบดีอิรัก (ขวา) ระหว่างเปิดการประชุม
ประธานาธิบดีตุรกี (ซ้าย) ต้อนรับนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ (ขวา)

กำลังโหลดความคิดเห็น