xs
xsm
sm
md
lg

แนะไทยเร่งพัฒนาวิธีประเมินความเสี่ยงอาหาร ให้ทัดเทียมสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยด้านอาหารจากจุฬาฯ เผย ไทยยังล้าหลังเรื่องการประเมินความเสี่ยงอาหาร แนะภาครัฐต้องพัฒนาวิธีการบนพื้นฐานงานวิจัย ให้ใช้ได้ในระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ด้าน ผอ.สำนักมาตรฐานสินค้าฯ บอกไทยต้องเข้าร่วม WTO กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศด้วย จะได้ไม่ต้องจำใจยอมตามในภายหลัง

ผศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในระหว่างการสัมมนาเรื่องการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหาร ในงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2552 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (NAC 2009) ว่า ปัจจุบันหลายประเทศมีแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านอาหารที่ชัดเจนและก้าวหน้าไปมาก แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้เลย

"เป้าหมายของการจัดทำมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission: CAC) ก็เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และต้องไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันได้มองเลยไปว่าผู้บริโภคกินอาหารนั้นๆ แล้วจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่การประเมินอาหารที่ตัวอาหารเพียงอย่างเดียว" ดร.ศุภชัย กล่าว

อีกทั้ง เขายังบอกว่าในหลายๆ ประเทศได้มีการนำวิธีประเมินความเสี่ยงของอาหารมาใช้ในการจัดทำมาตรฐานอาหารกันแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีใครทำ

พร้อมกันนี้ ดร.ศุภชัย ได้เสนอแนะว่าภาครัฐควรหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้และดำเนินการอย่างจริงจังในการพัฒนาวิธีการประเมินความเสี่ยงของอาหาร โดยต้องมีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้นด้วย และกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม ซึ่งอาจเริ่มต้นจากพัฒนาการประเมินความเสี่ยงในเชิงคุณภาพ แล้วค่อยประยุกต์หรือพัฒนาให้เป็นในเชิงปริมาณต่อไป เพื่อบอกให้ผู้บริโภคทราบได้ชัดเจนขึ้น

"มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศไทย ได้มีการกำหนดปริมาณเอาไว้เป็นตัวเลขว่า ให้มีได้เท่านั้น หรือห้ามเกินเท่านี้ แต่ไม่ได้บอกให้รู้ว่า มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน" ดร.ศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ศุภชัยกล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงมีการศึกษาวิจัยกันอยู่แต่ในสถาบันศึกษาและหน่วยงานของรัฐ ยังไม่มีการนำมาใช้งานจริง ซึ่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญและกำหนดเป็นมาตรการการประเมินความเสี่ยง และต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรู้ถึงความสำคัญของวิธีการปฏิบัติในการประเมินความเสี่ยงของอาหารด้วย

นอกจากนี้ ควรทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของอาหารของประเทศไทยเทียบเท่ากับของต่างประเทศ เพื่อให้ใช้ได้กับการประเมินอาหารทั้งนำเข้าและส่งออก

ด้านนางอรทัย ศิลปนภาพร ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาการปนเปื้อนในอาหาร มีทั้งการปนเปื้อนจุลินทรีย์และสารต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในการผลิตขั้นต้น การแปรรูป และหลังการแปรรูป ซึ่งองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้การวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาหารต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

"ประเทศไทยต้องเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศร่วมกับ WTO และองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่ WTO ให้การยอมรับ เพื่อนำแนวทางของมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาบังคับใช้ภายในประเทศ มิเช่นนั้นแล้วหากมีมาตรฐานการประเมินความเสี่ยงระหว่างประเทศเกิดขึ้นโดยที่ไทยไม่ได้มีส่วนร่วม เราจะต้องยอมปฏิบัติตามโดยที่ไม่สามารถคัดค้านอะไรได้" นางอรทัย กล่าว ซึ่งขณะนี้ มกอช. ก็กำลังเร่งพัฒนาวิธีการและบุคลากรด้านการประเมินความเสี่ยงของอาหารด้วย

อย่างไรก็ดี ดร.ศุภชัย ยังได้เปิดเว็บไซต์ให้บริการด้านการประเมินความเสี่ยง ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดมาได้เกือบ 1 เดือนแล้ว นอกจากนั้นยังเปิดเป็นเว็บไซต์เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยงของอาหารให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจด้วย โดยผู้สนใจจะประเมินความเสี่ยงของอาหารสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.FoodRiskHub.com


กำลังโหลดความคิดเห็น