สุรินทร์- ผู้ว่าฯ สุรินทร์ลั่นจับมือหน่วยงานรัฐ-ผู้ประกอบการค้าข้าว-เถ้าแก่โรงสี ดันราคาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ฤดูกาลผลิตปี 2551/52 พุ่งไม่ต่ำกว่าตันละ13,000 บาทไล่เบียดราคาทองคำ หวังจูงใจเกษตรกรเมืองช้างแหล่งผลิตข้าวหอมฯหมื่นล้านของโลก หันมาผลิตข้าวหอมฯอินทรีย์เพิ่มรายได้ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ด้านศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวฯ เตือนชาวนาระวังถูกขบวนการแอบอ้างหลอกซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอม และเรียกเก็บเงินล่วงหน้า
นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ได้ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2542 จนถึงปัจจุบันโดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิต ฟื้นฟูระบบนิเวศให้ยั่งยืน และ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ได้ส่งเสริมพัฒนาการผลิตมาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ แต่เกษตรกรยังไม่นิยมเพาะปลูกมากนัก เนื่องจากมีขั้นตอนและวิธีการควบคุมดูแลเพื่อให้ผ่านมาตรฐานระดับต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพียง 33,000 ไร่ ผลผลิตรวม 16,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิทั้งจังหวัดจำนวนกว่า 3 ล้านไร่ ผลผลิตรวมกว่า 1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท/ปี
นายพูลศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดสุรินทร์ได้ทำการหารือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว,โรงสีข้าวในจังหวัด,สหกรณ์การเกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยได้พิจารณาร่วมกันในการผลักดันกำหนดราคาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในฤดูกาลผลิตปี 2551/52 ให้มีราคาสูงขึ้น ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท จากปัจจุบันฤดูกาลผลิตปี 2550/51 อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
“ตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีความต้องการข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้ามีไม่เพียงพอ ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถผลิตได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้จำหน่ายได้ราคาสูง สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการปลูกข้าวทั่วไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อเกษตรกรเห็นว่าการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำหน่ายได้ราคาสูง ต้นทุนต่ำ ก็จะหันมาปลูกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ” นายพูลศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลผลิตปี 2550/51ที่ผ่านมา มีเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิ จ.สุรินทร์ ผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)จำนวน 316 รายพื้นที่ 5,065 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 2,416 ตัน , ผ่านมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จำนวน 239 ราย พื้นที่ 2,404 ไร่ มีผลผลิต 1,168 ตัน และ ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์(มสร.) จำนวน 87 ราย พื้นที่ 795 ไร่ มีผลผลิต 386 ตัน
ด้านนายสายชล สังข์น้อย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี พันธุ์แท้ เป็นที่ต้องการของเกษตรกร ขณะนี้ได้มีขบวนการผู้แอบอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการค้าข้าว ออกตระเวนรับจองเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี กข 15 ,พันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และเรียกรับเงินค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวล่วงหน้า ด้วย
ดังนั้น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์จึงขอแจ้งให้เกษตรกรได้ทราบว่า ตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการค้าข้าวจะต้องจดทะเบียนกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ และมีทะเบียนให้ตรวจสอบได้เท่านั้น หากไม่มีทะเบียนมาแสดงไม่ถือว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายของกรมการค้าข้าว และพันธุ์ข้าวที่นำไปจำหน่ายอาจไม่ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์ ทั้งนี้หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
สำหรับเกษตรกรที่สนใจซื้อเมล็ดข้าวพันธุ์ดี กข 15 , พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 บรรจุถุง ถุงละ 25 กิโลกรัม และ กิโลกรัม ละ 15 บาท จำหน่ายราคาถุงละ 375 บาท ติดต่อซื้อได้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์
“หากสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป ซื้อตั้งแต่ 5,000 บาท ขึ้นไปต่อครั้ง จะได้ส่วนลดร้อยละ 5 ของราคาจำหน่าย ส่วนตัวแทนจำหน่าย หากซื้อตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไปต่อครั้ง จะได้รับส่วนลดร้อยละ 10 ของราคาจำหน่าย” นายสายชล กล่าว