ไม่น่าเชื่อ! นักวิทย์เมืองมะกะโรนีที่เคยทำให้หญิงเลยวัยเจริญพันธุ์อายุ 63 ปีตั้งครรภ์ได้อีก เผยว่าเมื่อ 9 ปีก่อนเขาโคลนนิงเด็กสำเร็จ 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1 ปัจจุบันนี้ยังมีชีวิตอยู่ สุขภาพแข็งแรงดี ด้านนักโคลนนิงไทยตั้งข้อสังเกต ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนมายืนยันผลสำเร็จ ระบุในเชิงเทคนิคสามารถทำได้ แต่โอกาสสำเร็จไม่ง่ายนัก
สำนักข่าวเอเอฟพีและเดลีเทเลกราฟรายงานว่า เซเวริโน แอนติโนรี (Severino Antinori) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ได้เปิดเผยขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจากออกกี (Oggi) ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งของอิตาลี ว่าเขาสามารถโคลนนิงมนุษย์ได้สำเร็จ และปัจจุบันเด็กโคลนนิงจำนวน 3 คน มีอายุ 9 ปี และมีสุขภาพแข็งแรงดี โดยอาศัยอยู่ในแถบยุโรปตะวันออก
"ผมช่วยให้กำเนิดเด็ก 3 คน ด้วยเทคนิคการโคลนนิง ซึ่งเป็นเด็กชาย 2 คน และเด็กหญิง 1 คน ปัจจุบันนี้ทั้ง 3 คน อายุ 9 ปี ตอนแรกเกิด ก็มีสุขภาพแข็งแรงดี และตอนนี้ก็ยังดีมากด้วย" แอนติโนรี เปิดเผยกับนิตยสารออกกีเมื่อวันที่ 4 มี.ค.52 ที่ผ่านมา
ทว่า แอนติโนรีไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันคำกล่าวอ้างของเขา แต่เขาบอกว่าเขาโคลนนิงเด็กเหล่านั้นมาจากเซลล์ที่ได้จากชายที่เป็นหมัน 3 คน และยินยอมให้เขาทำโคลนนิงได้ โดยเขาได้ย้ายนิวเคลียสของเซลล์เหล่านั้นใส่ไปในในเซลล์ไข่ของผู้หญิง ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่ใช้ในการโคลนนิงแกะดอลลีเมื่อปี 2539 โดยเอียน วิลมุต นักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์
เมื่อนักข่าวถามถึงประเด็นที่ว่า การโคลนนิงเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้านในสังคมอิตาลีที่เคร่งในคาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักวาติกัน แอนติโนรีบอกว่า เขาชอบที่จะพูดว่ามันเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษา หรือการถอดรหัสพันธุกรรมใหม่ มากกว่าที่จะบอกว่า โคลนนิง
ทั้งนี้ แอนติโนรีเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เมื่อครั้งที่เขาสามารถทำให้หญิงชราอายุ 63 ปี ที่พ้นวัยเจริญพันธุ์หรือหมดช่วงการตกไข่มีประจำเดือนไปแล้ว สามารถตั้งครรภ์และมีลูกได้ในปี 2537
อีกทั้ง เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ แอนติโนรีเพิ่งจุดชนวนให้เกิดการโต้แย้งกันขึ้นอีกครั้ง โดยการประกาศว่า เขาจะผสมเทียมให้กับหญิงผู้หนึ่งที่สามีของเธอกำลังป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมองขั้นโคมา
อย่างไรก็ดี ทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.อานนท์ บุญยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพิ่มเติมทางโทรศัพท์ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ซึ่ง ดร.อานนท์ เผยว่าเคยได้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่ก็เงียบไป เพราะไม่มีข้อมูลทางวิชาการมายืนยันความสำเร็จได้อย่างชัดเจน เช่น ผลการตรวจพันธุกรรม
"ในเชิงของเทคนิคทางวิชาการแล้ว สามารถทำโคลนนิงมนุษย์ได้ แต่ไม่ง่ายนัก เพราะขนาดโคลนนิงแกะดอลลี นักวิทยาศาสตร์ก็ใช้เวลาทดลองอยู่ตั้งนานและโคลนนิงจำนวนมากกว่าจะได้แกะดอลลี ซึ่งมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าแกะมาก ฉะนั้นโอกาสสำเร็จก็ยากกว่าด้วย" ดร.อานนท์ อธิบาย
"ส่วนในเชิงของจริยธรรม การโคลนนิงมนุษย์นั้นไม่สามารถทำได้เลย และไม่ควรทำด้วย เพราะว่าเรายังไม่มีความกระจ่างชัดในเรื่องของวิชาการ อย่างแก ะดอลลีที่เกิดจากการโคลนนิงก็มีอายุเพียงแค่ 6 ปี ทั้งที่จริงน่าจะอยู่ได้ถึงราว 13 ปี เพราะว่าเซลล์มันมีนาฬิกาของตัวเอง ถ้าเรานำเซลล์จากคนที่มีอายุมาก มาทำโคลนนิง เด็กที่เกิดมาก็เหมือนกับมีอายุเท่ากับคนที่เป็นต้นแบบ และจะอายุสั้นกว่าเด็กทั่วไป เพราะฉะนั้นเมื่อวิชาการยังไม่สมบูรณ์ ก็ยิ่งไม่ควรทำโคลนนิงมนุษย์ และปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำการโคลนนิงมนุษย์" ดร.อานนท์ กล่าว
ส่วนในกรณีการโคลนนิงมนุษย์สำเร็จตามที่แอนติโนรีอ้าง ซึ่งหากเป็นความจริงแล้ว จะมีความผิดหรือไม่นั้น ดร.อานนท์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับกฎหมายและประชาสังคมของแต่ละประเทศว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งบางประเทศก็มีกฎหมายชัดเจนว่าห้ามโคลนนิงมนุษย์
ด้าน ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ทางโทรศัพท์เช่นกันว่า เขาเคยทราบมาราว 8-9 ปี แล้วว่าแอนติโนรีประกาศว่าจะทำโคลนนิงมนุษย์ แต่จากนั้นมาก็ไม่ทราบอีกเลยว่าสำเร็จหรือไม่ อย่างไร
"ที่เขาไม่ประกาศออกมาในตอนนั้นว่า เด็กโคลนนิงคลอดเมื่อไหร่ อาจเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดปัญหาด้านจริยธรรมและปัญหาอื่นๆ ตามมา และเด็กโคลนนิงเอง ก็อาจจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ขาดความเป็นส่วนตัว ถ้าหากว่าเรื่องแพร่ออกไปสู่สาธารณะ เพราะจะกลายเป็นประเด็นใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นมาทันที แต่ก็ไม่แน่อีกว่าทำสำเร็จจริงหรือเปล่า เพราะว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่เปิดเผยตัวเด็กโคลนนนิง ไม่มีหลักฐานการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับเจ้าของเซลล์ต้นแบบ" ดร.รังสรรค์ แสดงความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดเผยต่อสื่อในครั้งนี้ของแอนติโนรีมีจุดประสงค์เพื่ออะไร
นอกจากนั้น ดร.รังสรรค์ ก็ยังมีความเห็นว่า องค์ความรู้ที่มีอยู่ในตอนนี้ ก็อาจสามารถทำโคลนนิงมนุษย์ได้ ด้วยวิธีการที่อาจไม่แตกต่างจากที่ทำโคลนนิงในสัตว์มากนัก ทว่าปัจจุบันการโคลนนิงสัตว์ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบเพียงพอ ยังพบปัญหาอยู่อีกมาก แท้งบ้าง สัตว์ตายระหว่างหรือหลังคลอด หรือมีความผิดปรกติที่อวัยวะต่างๆ หากโคลนนิงมนุษย์ขึ้นมา แล้วมีชีวิตรอดแต่ไม่เป็นปรกติ ก็จะเป็นปัญหาตามอีกมาก
"แล้วมีความจำเป็นไหมที่จะต้องโคลนนิงมนุษย์ เราจะโคลนนิงคนที่หน้าตาเหมือนกัน ให้ออกมาเดินเล่นไปมากันทำไม หรือบางคนอาจมีความเห็นต่างออกไปก็คงต้องมีการคุยเรื่องนี้กันอีกที แต่หากคิดว่าโคลนนิงคนเพื่อใช้เป็นอะไหล่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ถ้าโคลนนิงมาเพื่อฆ่า ยิ่งไม่สมควรทำ" ดร.รังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย