xs
xsm
sm
md
lg

อียูบอก RoHS ไม่กระทบยอดส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปยุโรป 1.5 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคริส สมิธ (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอ็มเทค)
ตัวแทนอียูประจำประเทศไทย บอกระเบียบ RoHS ไม่กระทบตัวเลขส่งออกสินค้าไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยุโรป ที่มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท ด้านเอ็มเทคหน้าด่านดันผู้ประกอบการไทยตื่นตัว ย้ำระเบียบนี้เป็นเรื่องของเครดิต ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ ถ้ามีเอกสารยืนยันว่าปลอดสารต้องห้าม

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะแลวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิก และศูนย์ข้อมูลธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย จัดงาน รวมพลคน ThaiRoHS Alliance 2009 ระหว่างวันที่ 4-5 มี.ค.52 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไ ปยังประเทศสมาชิกในสภาพยุโรป ได้ทำความเข้าใจในระเบียบ RoHS ซึ่งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าวด้วย

สำหรับระเบียบ RoHS นั้นเป็นระเบียบที่สภาพยุโรป (อียู) กำหนดให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมายห้ามใช้สารอันตราย 6 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว, ปรอท, แคดเมียม, เฮกซาวาเลนต์ โครเมียม, พอลิโบรมิเนต ไบฟีนิลส์ (Polybrominated biphenyls: PBB) และพอลิโบรมิเนต ไดฟีนิลส์ อีเทอร์ (Polybrominated diphenyls: PBDE) ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค.49

ภายในพิธีเปิดงาน นายเปกกา เพนท์ติลา (Pekka Penttila) ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงระเบียบ RoHS ว่า เป็นระเบียบที่มีสวนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้บ้าง โดยปัจจุบันชาวยุโรปทิ้งขยะที่เป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือวันละนับแสนๆ ชิ้น ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาขยะทั้งหมด

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในระดับนี้ จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หากจำกัดสารตะกั่ว ปรอทและสารอันตรายอื่นๆ ในขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง

นายเพนท์ติกล่าวด้วยว่า ตลาดสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรป ถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าระเบียบ RoHS ที่ออกมานั้น ไม่ได้กระทบการส่งออกสินค้าของไทยไปยังยุโรป เนื่องจากตั้งแต่ประกาศใช้ระเบียบนี้ ก็ไม่เห็นว่าตัวเลขการส่งออกนี้จะลดลง ดังนั้นระเบียบนี้จึงไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรที่ใหญ่โตกับประเทศไทย

ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผอ.เอ็มเทค ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าใจว่าระเบียบ RoHS คือการส่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปตรวจสอบยังประเทศที่เราส่งสินค้าไปจำหน่าย หากแต่จริงๆ แล้ว ถ้าแสดงหลักฐานได้ว่าสินค้าที่ผลิตนั้นใช้วัสดุที่ปลอดสารต้องห้าม ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบสินค้านั้นๆ อีก

“ถ้ามี (เอกสารยืนยันว่าสินค้าปลอดสารตั้งห้าม) ก็ไม่ต้องทดสอบสินค้าอีก แต่เอกสารนั้น ต้องเป็นที่เชื่อถือได้ด้วย และทางอียูเองก็ฉลาด เขาจะทำงานลงลึกและตรวจสอบสินค้าในรายที่เขาสงสัยเท่านั้น เพราะตรวจสอบทั้งหมดก็ไม่ไหว"

"เรื่อง RoHS นี่เป็นเรื่องของเครดิต ไทยเราจับเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนบังคับใช้กฎหมายหลายปี ซึ่งเขาก็ทราบ ทำให้เขาไว้ใจเรา และประทับใจผู้ประกอบการไทยที่เอาใจใส่ เมื่อส่งสินค้าเขาก็ผ่านโดยง่าย แต่กับบางประเทศไม่สามารถผ่านไปได้ง่ายๆ”
รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

ผู้อำนวยการเอ็มเทคกล่าวด้วยว่า ในสายตาของเขามองว่า ผู้ประกอบการไทยที่ทำตลาดสิ่งสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังยุโรปมีความเข้าใจในเรื่อง RoHS ดี และที่ผ่านมาการส่งสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศก็เป็นไปอย่างราบรื่นดี

ส่วนการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการไทยได้รวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่า ที่ไหนบ้างมีสินค้าที่ผ่านระเบียบดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับฟังลักษณะการทำงานตรวจสอบของทางอียูจากเจ้าหน้าที่ของอียูโดยตรง

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า เอ็มเทคมีห้องปฏิบัติการ “ทีแล็บ” (TEA Lab.) ที่สามารถตรวจสอบสินค้าว่าผ่านระเบียบของ RoHS หรือไม่ แต่นอกจากห้องปฏิบัติการของเอ็มเทคแล้ว หน่วยงานอื่นๆ หรือผู้ประกอบการบางราย ก็มีความสามารถที่จะตรวจสอบมาตรฐานสินค้าได้เองว่า ปลอดจากสารพิษต้องห้ามตามระเบียบนี้หรือไม่

ทั้งนี้เอ็มเทคได้ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรับกับระเบียบ แต่หวังว่าสักวันหนึ่งสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีความเข้มแข็งพอที่จะรับเรื่องนี้ไปดูต่อได้ แต่เอ็มเทคก็จะได้ดูมาตรฐานและระเบียบบังคับอื่นๆ ซึ่งทำควบคู่อยู่แล้วต่อไป

ส่วนนายคริส สมิธ (Chris Smith) หัวหน้าทีมบังคับใช้ระเบียบ RoHS ของสหราชอาณาจักร (UK RoHS Enforcement Team) และประธานเครือข่ายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย RoHS ของสหภาพยุโรป (EU RoHS Enforcement Authorities Informal Network) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการบังคับใช้ระเบียบ RoHS ในสหราชอาณาจักรว่า สินค้าที่วางขายในสหราชอาณาจักร ต้องเตรียมและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ ไว้อย่างดี และต้องเก็บไว้นาน 4 ปี นับแต่วางขายสินค้าชิ้นสุดท้าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เรียกดูเมื่อต้องการภายใน 28 วัน หากไม่มีก็ถือว่าผิดกฎหมาย

“เมื่อปีที่ผ่านมาได้เพิกถอนสินค้าที่ไม่ทำตามระเบียบคิดเป็นมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาลอังกฤษอยู่ 2 คดี ซึ่งโดยกลไกแล้วตามกฎหมายของอังกฤษผู้ทำผิดระเบียบจะไม่เสียค่าปรับ แต่บริษัทจะมีประวัติอาญาอยู่ นอกจากนี้ยังมีกลไกในการประสานผ่านสาธารณชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการขึ้นศาลมาก” นายสมิธกล่าวถึงความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายตามระเบียบ RoHS ภายในสหราชอาณาจักร

ทางด้าน น.ส.มาดาลินา คาปรูซู (Madalina Caprusu) เจ้าหน้าที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ถึงภาพรวมความสำเร็จของระเบียบ RoHS ว่า มีสัญญาณที่ดีทั้งจากประเทศต่างๆ ที่ให้การยอมรับเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามยังต้องมีการทบทวนกฎหมายโดยคณะกรรมาธิการสภาพยุโรปซึ่งเป็นสัญญาณว่าระเบียบดังกล่าวก็มีปัญหา ซึ่งแนวโน้มในการทบทวนกฎหมายคาดว่าจะมีการเพิ่มชนิดสารต้องห้ามอีก ทั้งนี้ทราบว่าไทยกำลังจะออกกฎหมายเกี่ยวกับ RoHS จึงอยากให้รอผลการทบทวนของคณะกรรมาธิการก่อน.
ซ้ายไปขวา นายเพกกา เพนท์ติลา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา และ นายจารึก เฮงรัศมี ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมเปิดนิทรรศการภายในงาน รวมพลคน ThaiRoHs
น.ส.มาดาลินา คาปรูซู
กำลังโหลดความคิดเห็น