xs
xsm
sm
md
lg

EUบอกปัดแผนกอบกู้ศก.ยุโรปตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 มิเรค โทโปลาเนค นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเชก ประธานอียูวาระปัจจุบัน
เอเอฟพี - บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งประชุมฉุกเฉินที่กรุงบรัสเซลส์ในวันอาทิตย์ (1) ออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับแผนกอบกู้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือยุโรปตะวันออก ถึงแม้ฮังการีได้เตือนแกมขู่ไว้ก่อนว่า อาจเกิด "ม่านเหล็กใหม่" ที่จะแบ่งทวีปนี้ออกเป็นสองส่วนอีกครั้ง ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่ใช้ลัทธิกีดกันทางการค้าเป็นเครื่องมือต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจ

ผู้นำชาติยุโรปในที่ประชุมสุดยอดอียูวาระฉุกเฉินได้ให้สัญญาว่า จะเพิ่มความช่วยเหลือกับสมาชิกในกลุ่มอียูประเทศใดก็ตาม ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือจะเป็นการพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่พวกเขาไม่ยอมรับแผนการช่วยเหลือยุโรปตะวันออกแบบครอบคลุมทั้งหมด

"ผมคิดว่ามันชัดเจนอย่างยิ่งที่สหภาพยุโรปจะไม่ทอดทิ้งใคร" เป็นคำแถลงของ มิเรค โทโปลาเนค นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเชก ในฐานะประธานอียูวาระปัจจุบัน และเป็นประธานในที่ประชุดสุดยอดครั้งนี้

ทั้งนี้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจเวลานี้ได้ส่งผลกระทบหนักหน่วงเป็นพิเศษต่อประเทศในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ล้วนแต่พึ่งพิงสินเชื่อจากโลกตะวันตก

ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเฟเรนซ์ เกอร์คซานี แห่งฮังการี ซึ่งเป็นชาติยุโรปตะวันออกที่กำลังประสบปัญหารายหนึ่ง ได้เรียกร้องว่าเพื่อแสดงถึงความสมานฉันท์ภายในยุโรป ควรที่จะจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือระหว่างประเทศมูลค่า 190,000 ล้านยูโร (240,000 ล้านดอลลาร์)

"เราไม่ควรปล่อยให้เกิดการสร้างม่านเหล็กใหม่ขึ้นมาแบ่งยุโรปเป็นสองส่วนอีก" ผู้นำฮังการีกล่าวพร้อมเสนอด้วยว่าควรมีการผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับในการพิจารณาชาติอียูหนึ่งใดที่ต้องการเข้าอยู่ในยูโรโซน นั่นคือใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินของตน

อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ภายหลังการประชุมชี้ว่าบรรดาผู้นำของสหภาพยุโรปเลือกใช้แนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่เกิดปัญหาเป็นรายๆ ไป "โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมด"

"ส่วนแนวคิดการแบ่งขั้วออกเป็นประเทศสมาชิกยุคแรก ประเทศกลุ่มยูโรโซนกับไม่ใช่กลุ่มยูโรโซน กลุ่มเหนือกับกลุ่มใต้ หรือกลุ่มตะวันออกกับตะวันตกนั้น เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธอย่างชัดเจน" โทโปลาเนคระบุ

ด้านโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็กล่าวว่ายุโรปตะวันออกเป็นฝ่ายบอกเองว่า "พวกเขาไม่ต้องการแผนช่วยเหลือสำหรับทั้งกลุ่ม" เพราะ "สถานการณ์ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก"

ทว่า ผู้นำของสหภาพยุโรปหลายคนก็ระบุในวันอาทิตย์เช่นกันว่า อาจเป็นไปได้ที่จะเร่งขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกในยูโรโซนให้เร็วขึ้น เพื่อที่ว่าประเทศในยุโรปตะวันออกและประเทศขนาดเล็กจะได้เข้าถึงความมีเสถียรภาพของสกุลเงินร่วมของกลุ่ม

นอกจากนั้น หลายประเทศแสดงความวิตกเกี่ยวกับลัทธิกีดกันทางการค้าที่เริ่มมีเค้าลางขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมรถยนต์โดยตั้งเงื่อนไขว่าบริษัทเหล่านั้นจะต้องไม่ย้ายฐานการผลิตออกไป ซึ่งแม้คณะกรรมาธิการยุโรปจะลงความเห็นแล้วว่าแผนการของฝรั่งเศสไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้า แต่หลายฝ่ายยังหวั่นเกรงกันว่าหากเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปกว่านี้ รัฐบาลประเทศต่างๆ จะจัดทำแผนกอบกู้ธุรกิจโดยทำให้ประเทศอื่นๆ เดือดร้อน

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ได้ปฏิเสธเรื่องการกีดกันทางการค้าว่า "เราไม่เคยขอให้ปิดโรงงาน (ที่อยู่นอกฝรั่งเศส) เพื่อรักษาโรงงานในฝรั่งเศสไว้ เราเรียกร้องว่าไม่ให้ปิดโรงงานของเรา นี่เป็นคนละประเด็นกัน"

ส่วนนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษกล่าวว่า การต่อสู้กับการกีดกันทางการค้าไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ควรจะเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก และเขาจะเสนอแนวคิดเรื่อง "การเจรจาต่อรองครั้งใหญ่ทั่วโลก" เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ในระหว่างการเยือนวอชิงตันในวันจันทร์ (2) ด้วย

อนึ่ง กลุ่มอียูจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 19 มีนาคม เพื่อเตรียมการก่อนเข้าประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ จี 20 ที่กรุงลอนดอน ในวันที่ 2 เมษายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น