xs
xsm
sm
md
lg

ดูอีสานทำ "ธุรกิจเกษตร" บนฐานนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุงชวินกับไร่น้ำนางฟ้าแช่แข็งที่ทำเป็นงานยามว่างจากการเพาะเลี้ยงลูกปลา
คงนึกภาพได้ยากว่า ในท้องถิ่นอีสานที่น่าจะมีแต่ความแห้งแล้งนั้น จะสร้างธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรมได้อย่างไร แต่การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ยังพอมีความหวังที่จะนำไปต่อยอดให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมได้ ซึ่งก้าวแรกได้เริ่มขึ้นผ่าน "เครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมร้อยแก่นมหากาฬ"

ทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้ร่วมเดินทางไปกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างวันที่ 9-11 ก.พ.52 เพื่อเยี่ยมชมธุรกิจนวัตกรรมที่ทาง สนช.ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและวิชาการของสำนักงาน

โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สนช.ได้ให้การสนับสนุนโครงการต้นแบบระบบการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสิรินธรเชิงพาณิชย์และโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยชีวภาพจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงซึ่งใกล้จะสิ้นสุดโครงการแล้ว

จากไรน้ำไร้ค่า-สู่ตลาดเพาะเลี้ยงปลา มูลค่านับแสน

รอบบ้านของ ชวิน นะวะชีระ อดีตข้าราชการกรมชลประทานที่เกษียณมาร่วม 10 ปีแล้ว ใน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม มีบ่อปลาทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนส์ ซึ่งเขาใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาน้ำจืด ทั้งปลานิล ปลากะโห้ ปลาไน ปลาตะเพียน นับเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่นอกจากบ่อปลารอบๆ บ้านแล้ว เขายังมีบ่อดินเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาจากทุ่งนาเก่าซึ่งรวมพื้นที่เพาะเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 3 ไร่

ชายวัย 70 ผู้นี้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าพันธุ์ปลาที่เขาเพาะเลี้ยงนั้นมีอัตรารอดและน้ำหนักสูงกว่าปลาของเกษตรกรรายอื่น แรกๆ เขาก็แปลกใจจนกระทั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ "ไรน้ำนางฟ้า" จึงพบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวกับที่พบในบ่อเลี้ยงปลาของเขา ซึ่งข้อมูลจากการฝึกอบรมทำให้ทราบว่าไรน้ำนางฟ้าช่วยให้อัตราการรอดของลูกปลาสูงและได้น้ำหนักตัวดี เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต

ทั้งนี้ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์น้ำจืดขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้งตัวเล็กๆ แต่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้ม กินแพลงก์ตอน โปรโตซัวและสารอินทรีย์ในน้ำเป็นอาหาร ทั่วโลกมีไรน้ำนางฟ้าอยู่หลายชนิดแต่สำหรับเมืองไทยพบไรน้ำนางฟ้า 3 ชนิด คือ ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสยาม ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติมานานแล้ว จนกระทั่ง ศ.ดร.ละออศรี เสนาะเมือง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาและจำแนกชนิดไรน้ำนางฟ้า แล้วตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันไรน้ำนางฟ้าเป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงาม เนื่องจากเป็นอาหารเสริมที่ทดแทนอาร์ทีเมียน้ำเค็มที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีสารอาหารในกลุ่มแคโรทีนอยด์สูงซึ่งช่วยเร่งสีให้กับปลาสวยงามได้ อย่างไรก็ดี สำหรับชวินแล้ว เขาเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสิรินธรเพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับลูกปลาน้ำจืดที่เขาเพาะขาย ซึ่งช่วยลดค่าอาหารสำหรับเลี้ยงปลาได้ถึง 20%

"พอเอาไรน้ำพวกนี้ลงไปเลี้ยงครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องลงเพิ่ม เพราะจะมีไข่ตลอดและทนแล้งได้ดี เวลาลุงเก็บปลาขาย ก็สูบน้ำแล้วตากบ่อฆ่าเชื้อโรค โดยตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน และลงปูนขาวด้วยไร่ละ 50-60 กิโลกรัม ซึ่งไข่ไรน้ำนางฟ้าก็ยังอยู่ได้ พอสูบน้ำเข้าไปใหม่ ไข่ก็จะฟักและเป็นอาหารให้ปลาได้พอดี แต่บ่อของลุงมีไรน้ำนางฟ้าเต็มบ่ออยู่แล้ว มีไรน้ำเกิดตลอดเพราะที่ตรงนี้เคยถูกน้ำท่วมทุกปี จึงมีไข่ไรน้ำอยู่เยอะ ไม่ต้องหาพันธุ์ไรน้ำมาปล่อย" ชวินกล่าว และบอกกับเราด้วยว่า ปกติเลี้ยงไรน้ำไว้เป็นอาหารเสริมให้ปลา แต่หากมีเวลาว่างก็จะทำไรน้ำแช่แข็งส่งขายให้ตลาดจตุจักรหรือผู้เลี้ยงปลาใน จ.ชลบุรี

ทั้งนี้การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าของเกษตรกรวัยดึกผู้นี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจาก ผศ.โฆษิต ศรีภูธร อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นอดีตประธานชมรมคนรักไรน้ำนางฟ้า และได้รับทุนในโครงการอุดหนุนด้านวิชาการจาก สนช.เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบระบบการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าสิรินธรเชิงพาณิชย์

ผศ.โฆษิตกล่าวว่า การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้านั้นลงทุนไม่สูง ในราคาไม่กี่พันบาท และเพียงแค่ซื้อไข่ไรน้ำลงไปปล่อยในบ่อครั้งเดียวไรน้ำก็ขยายพันธุ์ได้ตลอดไป เนื่องจากไรน้ำมีปริมาณไข่มากและไข่ทุกวันๆ ประมาณ 3,000 ฟอง ซึ่งหากเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าขายจะมีรายได้ไร่ละ 30,000-40,000 บาท โดยราคาไรน้ำนางฟ้าปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท แต่หากต่อยอดโดยนำไปเลี้ยงปลาอย่างลุงชวินแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นไร่ละ100,000-200,000 บาท ถึงอย่างนั้นแม้ลงทุนต่ำ แต่เพาะเลี้ยงได้ยากและต้องบริหารจัดการอย่างดี ซึ่งหากชำนาญแล้วจะเป็นเรื่องง่าย

โอกาสปุ๋ยชีวภาพจากของเหลือทิ้งการเกษตร

นอกจากต่อยอดไรน้ำนางฟ้าซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมของอีสานมายาวนาน ไปสู่ธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มนับหมื่น-นับแสนแล้ว ทรัพยากรการเกษตรเหลือทิ้งก็เป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจเกษตร โดยเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมได้อีกทางด้วย โดยอีกตัวอย่างที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้เยี่ยมชมคือ โรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ตั้งอยู่ใน อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ของ บริษัท รุ่งเจริญอุตสาหกรรม (1994) จำกัด ซึ่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพซึ่งมีส่วนผสมของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจำหน่าย

ไพสันต์ จาดพิมาย ผู้จัดการทั่วไปบริษัทรุ่งเจริญอุตสาหกรรมกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า บริษัททำธุรกิจทางด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเครื่องจักรผลิตปุ๋ย ซึ่งหลังจากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จึงเห็นโอกาสที่จะทำธุรกิจการผลิตเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และได้จัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงขึ้น โดยนำงานวิจัยของ ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร อาจารย์คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาต่อยอดกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพ

"โดยทั่วไปในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบมากอง ใส่น้ำหมัก เติมน้ำแล้วใช้จอบกลับด้านกองวัตถุดิบทุกสัปดาห์เพื่อเติมอากาศให้กองปุ๋ย และให้จุลินทรีย์ได้ทำหน้าที่หมักปุ๋ย ซึ่งวิธีดังกล่าวใช้เวลานานประมาณ 3 เดือน ส่วนวิธีของเราจะต่อท่ออากาศเข้าไปเพื่อไม่ต้องเสียเวลากลับกองปุ๋ย และย่นระยะเวลาหมักเหลือเพียง 1 เดือน สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ เปลือกไม้ยูคา ซังข้าวโพด ฟางข้าว ชานอ้อยและอื่นๆ เมื่อได้ปุ๋ยแล้วนำไปตากลมเพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ตาย จากนั้นนำเข้าเครื่องอัดเม็ดและฉีดจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเข้าไป" ไพสันต์ อธิบายขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพของบริษัท

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (Photosynthetic Bacteria) เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยตรึงไนโตรเจนให้กับพืช ปรับปรุงคุณภาพดินเสื่อม รวมทั้งจำกัดก๊าซไข่เน่าที่เป็นสาเหตุให้รากของพืชเน่าได้ และไพสันต์ได้บอกกับเราด้วยว่า ปุ๋ยชีวภาพที่บริษัทผลิตขึ้นนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อวางจำหน่ายแล้ว ขณะเดียวกันทางบริษัทก็กำลังยื่นจดทะเบียนเป็นปุ๋ยชีวภาพกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยมีโครงการพิสูจน์คุณภาพปุ๋ยภายใต้การสนับสนุนจาก สนช.ในโครงการ "แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน" ซึ่งได้ ดร.มงคล ตะอุ่น ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้วิจัยประสิทธิภาพของปุ๋ยดังกล่าว

ผลจากการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพปุ๋ย ดร.มงคลกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ปุ๋ยชีวภาพให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมี โดยจากการทดลองปลูกข้าวพบว่าให้ผลผลิตประมาณ 903 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ปุ๋ยเคมีให้ผลิตประมาณ 913 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ข้อเสียของปุ๋ยชีวภาพคือดูแลรักษายาก เนื่องจากห้ามนำปุ๋ยไปตากแดดเพราะจะทำให้จุลินทรีย์ตาย และหากเป็นปุ๋ยชนิดน้ำก็ไม่ควรปิดภาชนะใส่ปุ๋ยให้สนิทเพื่อให้จุลินทรีย์ได้มีอากาศหายใจ อีกทั้งยังต้องใช้ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยแห้งผสมรวมกัน จึงเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกร

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนช.ได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเครือข่าย "ธุรกิจนวัตกรรมร้อยแก่นมหากาฬ" ซึ่งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์ โดยได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในเครือข่ายดังกล่าวแล้วทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ระบบลมแห้ง โครงการปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต และโครงการ PRO-R: อุปกรณ์กรองก๊าซเอ็นจีวี/แอลพีจี (NGV/LPG) ประสิทธิภาพสูง

ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมร้อยแก่นมหากาฬ คิดเป็นวงเงิน 1,232,800 บาท และตั้งเป้าให้ทุนสนับสนุนในปี 2552 นี้เป็นวงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ยังให้การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายนวัตกรรมในภูมิภาคอื่นๆ อีก ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมล้านนาสำหรับภาคเหนือตอนบน และเครือข่ายสี่แยกอินโดจีนสำหรับภาคเหนือตอนล่าง และจะสนับสนุนให้เกิดการเครือข่ายธุรกิจที่ภาคใต้ต่อไป

เครื่องลดความชื้น ความหวังธุรกิจเมล็ดพันธุ์

พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปเยี่ยมชมเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ระบบลมแห้ง ของ รศ.ดร.บุญมี ศิริ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีหลักการทำงานคือเป่าลมแห้งผ่านเมล็ดที่มีความชื้น แล้วนำพาความชื้นออกจากเมล็ดพันธุ์ ต่างจากวิธีเดิมที่เผาอากาศให้ร้อนแล้วเป่าผ่านเมล็ดเพื่อดึงน้ำออก ซึ่งทำให้เมล็ดพันธุ์เสียหายได้มากกว่า แต่วิธีใหม่มีข้อจำกัดคือ เมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กจะยึดติดกันแน่น ทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาแยกเมล็ดพันธุ์ และเครื่องดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.บุญมีได้รับทุนสนับสนุนจาก สนช.พัฒนาเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ร่วมกับ บริษัท ยูแมคไซแอนทิฟิค จำกัด บริษัทผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร โดยได้ออกแบบเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์แบบใหม่ที่ให้ระบบเป่าลมแห้งผ่านท่อที่มีเมล็ดพันธุ์พืชอยู่รอบๆ และหมุนได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์แห้งติดกัน รวมถึงลดขนาดเครื่องให้เล็กลงด้วย

สำหรับโอกาสในการทำตลาดนั้น รศ.ดร.บุญมีกล่าวว่า มีบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืชทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 บริษัท ซึ่งคาดว่าแต่ละบริษัทต้องการเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ประมาณบริษัทละ 10 เครื่อง โดยเครื่องแบบใหม่นั้นออกแบบให้มีต้นทุนเครื่องละ 100,000 บาท ขณะที่ต้นแบบเดิมนั้นมีต้นทุนเครื่องละ 200,000 บาท และจะผลิตต้นแบบเครื่องใหม่แล้วเสร็จได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

นายสุรพล ทวีแสงสกุลไทย ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และประธานคณะอนุกรรมการเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมร้อยแก่นมหากาฬ กล่าวว่าที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเพียงน้อยรายที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนวัตกรรมอันเป็นผลจากการขาดความเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจระหว่าง หน่วยงานวิชาการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ และการเข้าร่วมรับความเสี่ยงของธุรกิจนวัตกรรม

"การเข้าไปสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมของ สนช. และตัวอย่างความสำเร็จของโครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนนี้ จะเป็นตัวอย่างในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมต่อไป" นายสุรพลกล่าว

เครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมร้อยแก่นมหากาฬมีสมาชิกและผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาและกลั่นกรองโครงการนวัตกรรมเบื้องต้นมาได้ 4 เดือนแล้ว
คนงานของลุงชวินกำลังช้อนไร่น้ำนางฟ้าขึ้นจากบ่อมาให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอีกหลายคนชม
ปลาทองกำลังเอร็ดอร่อยกับไรน้ำนางฟ้า
ดูกันเต็มๆ ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร หน้าตาเป็นอย่างนี้ ทั้งนี้ไรน้ำบางตัวมีไข่ (สีเหลืองๆ) อยู่เต็มท้อง
ผศ.โฆษิต ศรีภูธร (ซ้าย) กับลุงชวิน บริเวณบ่อเพาะเลี้ยงลูกปลาน้ำจืด ที่ดัดแปลงจากทุ่งนาในอดีต
ไพสันต์ จาดพิมาย ผู้จัดการทั่วไปบริษัทรุ่งเจริญอุตสาหกรรม
ดร.มงคล ตะอุ่น
ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ
รศ.ดร.บุญมี ศิริ กับข้าวโพดที่ผ่านการลดความชื้นด้วยระบบลมแห้ง (เครื่องด้านหลัง)
กำลังโหลดความคิดเห็น