xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสเล็งปลูกชิงเฮาในไทย พร้อมใช้สิทธิวิธีตรวจวัดสารต้านมาลาเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะผู้บริหารของ สวทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร Artemisinin & Farming International ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง การอนุญาตใช้สิทธิในกรรมวิธีตรวจหาปริมาณสารอาร์ติมิซินินในต้นชิงเฮา ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล และทีมวิจัย
จุฬาฯ - ไบโอเทค เปิดทางให้เอกชนจากฝรั่งเศสได้ใช้สิทธิกรรมวิธีตรวจหาสารต้านมาลาเรียในต้นชิงเฮา ทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าวิธีเดิม เตรียมนำไปติดตามการทดลองปลูกชิงเฮาในเชียงใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้เอกชนไทยด้วย หวังเกิดการต่อยอดงานวิจัยจนทำให้ไทยผลิตยาต้านมาลาเรียได้เอง

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง "การอนุญาตใช้สิทธิในกรรมวิธีตรวจหาปริมาณสารอาร์ติมิซินิน (Artemisinin) ในต้นชิงเฮา" กับบริษัท อาร์ติมิซินิน แอนด์ ฟาร์มมิง อินเตอร์เนชันแนล (Artemisinin & Farming International) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.52 ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง "ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" และสื่อมวลชนอีกมากมายให้ความสนใจร่วมงาน

รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอาร์ติมิซินินในต้นชิงเฮานั้น ทำได้ยาก จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาพันธุ์ วิธีการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม โดยวิธีตรวจแบบเดิมต้องใช้เครื่องเอชพีแอลซี (HPLC) ซึ่งมีราคาแพงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสูงในการวิเคราะห์ ใช้เวลานาน และวิเคราะห์ได้ครั้งละหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น

วิธีใหม่ที่พัฒนาขึ้นนั้น ทำได้โดยสกัดสารอาร์ติมิซินินจากใบต้นชิงเฮา แล้วหยดสารลงบนแผ่นทีแอลซี (Thin Layer Chromatography: TLC) จากนั้นนำไปแช่ในแทงก์แอมโมเนีย เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาร์ติมิซินินเพื่อให้สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องสแกนเดนซิโตมิเตอร์ (Densitometer)

เทคนิคนี้สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างได้มากกว่า 20 ตัวอย่างพร้อมกัน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแผ่นทีแอลซี ภายใต้แสงยูวีด้วยกล้องดิจิทัลแทนการใช้เครื่องเดนซิโตมิเตอร์ แล้ววิเคราะห์ปริมาณสารอาร์ติมิซินินจากความเข้มแสงในภาพถ่ายเทียบกับกราฟมาตรฐาน ซึ่งวิธีการตรวจวิเคราะห์นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการติดตามปริมาณสารอาร์ติมิซินินในต้นชิงเฮา เพื่อคัดเลือกพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมต่อไปได้

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ซึ่งจดสิทธิบัตรแล้ว และได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการ อาร์ติมิซินิน ฟอรัม 2008 (Artemisinin Forum 2008) ที่ประเทศจีน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจ ขอใช้สิทธิจากบริษัท อาร์ติมิซินิน แอนด์ ฟาร์มมิง อินเตอร์เนชันแนล ของฝรั่งเศส ซึ่งผลิตและจำหน่ายอาร์ติมิซินินในรูปของสารบริสุทธิ์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาต้านมาลาเรียกลุ่มเอซีที (ACT) มาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีฟาร์มเพาะปลูกชิงเฮาอยู่ในเวียดนาม อินเดีย และออสเตรเลีย

สำหรับต้นชิงเฮานั้น มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนซึ่งใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้มานานกว่า 2,000 ปีแล้ว และปัจจุบันพบว่าอาร์ติมิซินินซึ่งเป็นสารสำคัญในต้นชิงเฮา และสารอนุพันธ์ เป็นสารเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เกือบจะไม่พบการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเลย จึงเป็นความหวังของนักวิจัยและผู้ป่วยโรคมาลาเรียอีกหลายล้านคนทั่วโลก

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. กล่าวว่า การขอใช้สิทธิในครั้งนี้ เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของนักวิจัยไทย ซึ่งได้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเวลา 3 ปี และเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น แต่ได้มีการตกลงให้การยกเว้นสำหรับประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนไทยนำเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดได้เช่นกัน

ส่วนประโยชน์ที่ไทยจะได้นอกจากได้เงินเข้าประเทศแล้ว ยังนำไปสู่ความร่วมมือกันในการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งแม้ในตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีการปลูกชิงเฮาในเชิงการค้า แต่ในอนาคตเราอาจผลิตสารอาร์ติมิซินินจากชิงเฮาได้ภายในประเทศก็เป็นได้

หลังจากนี้บริษัทดังกล่าวมีโครงการจะทดลองปลูกชิงเฮาในประเทศไทยประมาณ 100 ไร่ โดยขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของโครงการหลวง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ดังกล่าวไปใช้ในการติดตามการสร้างสารอาร์ติมิซินินอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกชิงเฮาและผลิตสารอาร์ติมิซินินต่อไป

นอกจากนั้น ดร.วันชัย และทีมคณะยังมีงานวิจัยการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสารอาร์ติมิซินินของต้นชิงเฮาอีกหลายวิธี เช่น การทดลองฉายรังสีแกรมมาให้ต้นชิงเฮา และการทำสำเนายีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารอาร์ติมิซินิน เป็นต้น.
(ที่ 2 จากขวา) รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน, ศ.นพ.ดร.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาฯ และ นายมาร์ค บลองเชร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ขอใช้สิทธิผลงานของนักวิจัยไทย
รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล
ต้นชิงเฮา พระเอกตัวจริงที่เป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายล้านคนทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น