xs
xsm
sm
md
lg

4 ชาติลุ่มน้ำโขงหารือแนวทางทำได้จริง รับภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศประชุม 4 ชาติลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีตัวแทนจากออสเตรเลียผู้ให้ทุนสนับสนุนครั้งนี้เข้าร่วมด้วย (ภาพฝ่ายจัดงาน)
4 ชาติลุ่มน้ำโขง เขมร-ลาว-ไทย-เวียดนาม ประชุมหารือแนวทางปฏิบัติได้จริง รับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของประชากรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) จัดสัมมนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัว ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.52 ณ โรงแรมพลาซาเอธินี ซึ่งมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 150 คนจาก 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทยเข้าร่วม พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์การความช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย (AusAID) ซึ่งให้ทุนสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัว (MRC Climate Change and Adaptation Initiative) ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง และการประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้มีการแถลงข่าวถึงการจัดงานดังกล่าวในวันเปิดสัมมนา โดย ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ สมาชิกกรรมาธิการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประเทศไทยและอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวภายในการแถลงข่าวซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้เข้าร่วมฟังการแถลงในครั้งนี้ด้วย

ดร.ศิริพงศ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ คาดหวังให้เกิดมาตรการรองรับในเชิงปฏิบัติเพื่อรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีแนวทางที่ปฏิบัติได้ และการปฏิบัตินั้นต้องไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ไม่เช่นนั้นจะเปลืองค่าใช้จ่าย

"เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไทยได้ทำยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่เมื่อดูแล้วลำพังแค่ไทยคงไม่ครอบคลุม ต้องดูทั้งภูมิภาค จึงเกิดความร่วมมือกันขึ้น และดูประกอบกับส่วนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย ทั้งนี้ยิ่งเราทำความเข้าใจในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ก็จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสและทำให้เราอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อย่างมีความสุข" ดร.ศิริพงศ์กล่าว

ด้านายเจเรมี เบิร์ด (Jeremy Bird) ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจกระทบต่อลุ่มน้ำโขงและคาดว่าสภาพอากาศอาจแปรปรวนมากขึ้น เช่น ฝนตกน้อยลงในฤดูแล้งแต่กลับตกมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหารการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วมบ่อยขึ้น

รวมถึงกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำ ภาคเศรษฐกิจในส่วนของการเพาะปลูก การประมล และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอื่นๆ และอาจส่งผลถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงนับล้าน ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่นี้

พร้อมกันนี้ นายฟิลิปป์ แอเลน (Phillippe Allen) ที่ปรึกษารัฐมนตรีสถานทูตออสเตรเลีย กล่าวถึงการสนับสนุนของออสเตรเลีย ต่อโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของเอ็มอาร์ซี ว่า ออสเตรเลียให้การสนับสนุนเอ็มอาร์ซีในหลายเรื่อง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาค

สำหรับโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง มีกรอบการระหว่างปี 2552-2554 โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง คือช่วงก่อตั้ง ช่วงประเมินผลกระทบและการปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สุดท้ายคือการวางแผนนโยบายที่ยั่งยืนรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นิทรรศการลุ่มน้ำโขงภายในงานประชุม
ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์
นายเจเรมี เบิร์ด
การแถลงข่าวงานประชุม (ซ้ายสุด) นายฟิลิปป์ แอเลน (ที่ 2 จากซ้าย) ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ (ที่ 2จากขวา) นายเจเรมี เบิร์ด (ภาพฝ่ายจัดงาน)
กำลังโหลดความคิดเห็น