"กรมวิทย์บริการ" จัดงานครบรอบวันสถาปนา "118 ปี ศาลาแยกธาตุ" 29-31 ม.ค.นี้ เปิดตัวกรมให้เป็นที่รู้จัก หลังทำงานเงียบในห้องแล็บกว่าร้อยปี โชว์ไฮไลท์ ชวนสาวๆ นำครีมและเครื่องสำอางกันแดดไปทดสอบค่า SPF ฟรี พร้อมนิทรรศการผลงานวิจัยเด่น การประชุมวิชาการและเปิดแล็บให้เข้าชม
ในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเตรียมจัดงาน "118 ปี ศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการ" ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค.52 โดยจะจัดขึ้น ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติและบริเวณกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ “ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวจัดงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 ม.ค.52 ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์มีประวัติอันยาวนาน โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งปี 2434 เป็นหน่วยงานชื่อ "สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่” (ห้องแยกแร่) ในสังกัดกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา ก่อนจะย้ายสังกัดและเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง และปรับเป็น "ศาลาแยกธาตุ” ในกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ เมื่อปี 2461
จากนั้นได้ย้ายสังกัดและยกระดับเป็นหน่วยงานหลายครั้ง จนกระทั่งเปลี่ยนเป็น "กรมวิทยาศาสตร์" เมื่อปี 2475 ในสังกัดกระทรวงเกษตรพาณิชย์การ และย้ายอีกหลายกระทรวง แล้วสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานซึ่งเป็นกระทรวงวิทยาศาสให้ปิดสนิท ตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันเมื่อปี 2522
“เราย้ายสังกัดและเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง แต่เราก็ยังคงอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีคุณภาพขององค์กรเรา แต่ที่ผ่านกว่า 100 ปี เราทำงานเงียบมาตลอด ตอนนี้เราจึงอยากเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก จึงถือโอกาสจัดงานขึ้นในวันคล้ายสถาปนากรม" นายปฐมกล่าวระหว่างการแถลงข่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงานดังกล่าวมีงานเสวนา บรรยายพิเศษ พร้อมนิทรรศการผลงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยไฮไลท์ของงานคือ การให้บริการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์ของการปกป้องแสงแดดหรือค่า SPF (Sun Protection Factor) แก่ผู้เข้าชมงานนิทรรศการที่นำเครื่องสำอางไปทดสอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ระบุค่าดังกล่าวกำกับไว้ที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ที่บำรุงและปกป้องผิวซึ่งสัมผัสกับแสงแดด และกรมวิทยาศาสตร์บริการก็มีห้องปฏิบัติการสำหรับให้บริการทดสอบดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์อื่นๆ อาทิ การเปิดให้เข้าชมห้องปฏิบัติการตรวจสารพลาสติไซเซอร์ ซึ่งเป็นสารผสมในการผลิตปะเก็นพลาสติกชนิดพีวีซี (PVC) สำหรับใช้กับฝาโลหะของขวดแก้วเพื่อให้ปิดสนิท แต่สารดังกล่าวปนเปื้อนสู่อาหารได้ง่ายตามอุณหภูมิของอาหารและปริมาณเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เก็บ ผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่น หมวกยางจากยางธรรมชาติสำหรับบล็อกคอนกรีต ยางธรรมชาติสำหรับลู่-ลานกรีฑา และผลงานจากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว เช่น อิฐมวลเบาจากเศษแก้ว เทคนิคการตกแต่งด้วยการเคลือบและโรยเศษแก้ว เป็นต้น
ส่วนหัวข้อเสวนาและบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ "วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าสร้างคุณภาพสินค้าสู่สากล" , "ติดปีกนักวิเคราะห์สู่โลกอุตสาหกรรม”, “วิทยาศาสตร์เป็นรากฐานแห่งการก้าวหน้าของประชาชาติ" และ "หอสมุดกรมวิทย์กัลยาณมิตรของคนไทย" เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค.52 ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซอยโยธี ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ