“ดร.สุจินดา” แม่บ้านกระทรวงวิทย์ขอแรงลูกกระทรวงทำงานให้ดีขึ้น นำพาฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มาจ่อด้วยความตั้งใจทำงานและความรู้ "เรารักวิทยาศาสตร์”
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงสรุปผลงานในรอบปี 2551 ณ โรงแรมเซนจูรี พาร์ค เมื่อคืนวันที่ 25 ธ.ค.51 นี้ โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งมี ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับหน้าที่เป็นประธานเปิดงานและแถลงสรุปผลงาน รวมมีผู้บริหารหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนหลายสำนักได้เข้าร่วมงานด้วย
ในช่วงหนึ่งของการกล่าวเปิดงาน ดร.สุจินดากล่าวว่า ช่วงปีหน้าซึ่งเป็นปีที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงขอให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ช่วยออกแรงในการทำงานให้ดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งความตั้งใจดังกล่าวจะทำได้เพราะ "เรารักวิทยาศาสตร์" เช่นเดียวกับเข็มกลัดข้อความ "ฉันรักวิทยาศาสตร์” (I Love Science) ที่สื่อมวลชนทำให้ โดยหากมีความรักในวิทยาศาสตร์แล้ว ย่อมมีความตั้งใจที่จะทำงานฝ่าวิกฤติไปได้
สำหรับผลงานในรอบ 2551 นั้นเป็นผลงานภายใต้นโยบายของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ซึ่งเป็น 2 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งผลงานออกเป็นด้าน
1.การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ วัสดุระบบโครงสร้างโรงเรือนเพาะชำ พัฒนาพันธุ์ข้าวต้านทานโรคไหม้ สนับสนุนด้านการเงินและวิชาการโดยบ่มเพาะธุรกิจให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
2.การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต อาทิ กิจกรรมถนนสายวิทยาศาสตร์ในวันเด็กแห่งชาติ การประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา เวทีเสวนา "คุยกัน...ฉันท์วิทย์” เป็นต้น
3.มุ่งพัฒนากำลังคนทั้งในและนอกระบบ อาทิ สนับสนุนนักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี1,400 คน สนับสนุนจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 4 โรงเรียน โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
4ผลักดันงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่มาตรฐานสากล โดยความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ การเชิญบริษัต่างชาติเช่าพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ทำความตกลงร่วมมือด้านภูมิสารสนเทศกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมธีออส จัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมมือทางดาราศาสตร์กับมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร
5.ภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ อาทิ ต้นแบบเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อขัดขวางการจุดระเบิด ต้นแบบเครื่องบินเล็กไร้คนขับสำรวจในระยะไกล ชุดลดอันตรายจากสะเก็ดระเบิดสังหารบุคคล เป็นต้น