xs
xsm
sm
md
lg

John Dalton กับอาการตาบอดสี daltonism

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Jonh Dalton
ขณะมีชีวิตอยู่เมื่อ 200 ปีก่อน John Dalton คือ บุคคลที่ทำให้วงการวิชาการยอมรับว่า Manchester เป็นนครแห่งสติปัญญาของโลก และเมื่อเสียชีวิต ชาวเมืองร่วม 40,000 คนได้เดินทางมาคารวะศพเป็นการอำลาครั้งสุดท้าย แต่คนเหล่านั้นหารู้ไม่ว่า ศพของ Dalton ได้ถูกแพทย์ชื่อ Joseph Ransome ควักลูกตาออกไปศึกษาเรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์นี้มิได้เกิดจากความวิปริตของ Ransome แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ Dalton เอง เมื่อก่อนตายได้ขอร้องให้แพทย์ศึกษาอาการตาบอดสีของตนโดยการชำแหละผ่าลูกตาออกดู

Dalton เกิดที่เมือง Eaglesfield เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2309 (รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์) ในวัยเด็ก Dalton มีพ่อเป็นครูสอนหนังสือให้ จากนั้นก็ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมในเมือง เมื่ออายุ 12 ปี Dalton ได้งานเป็นครูสอนหนังสือ หลังจากทำงาน 2 ปี ได้ลาออกไปทำนา เมื่ออายุ 15 ปี ได้หวนกลับมาเรียนหนังสือต่อเพราะพี่ชายที่ชื่อ Jonathan ได้ขอร้องให้มาช่วยสอนหนังสือที่โรงเรียนของพี่ชาย ระหว่างเป็นครู Dalton ได้เรียนหนังสือเพิ่มเติมโดยมี John Gough ผู้ตาบอดเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ วรรณคดี และภาษาต่างประเทศให้

Dalton รู้สึกสนใจวิชาอุตุนิยมวิทยามาก จึงได้บันทึกรายละเอียดของดินฟ้าอากาศในสถานที่ต่าง ๆ ติดต่อกันนานถึง 57 ปี เมื่ออายุ 26 ปี Dalton ได้เรียบเรียงตำราชื่อ Meteorological Observations and Essays ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสืออุตุนิยมวิทยารุ่นบุกเบิก เพราะมีข้อมูลความดันอากาศ และการวิเคราะห์องค์ประกอบของอากาศในเวลาและสถานที่ต่างๆ มากมาย

สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ นั้น Dalton สนใจศึกษาพฤติกรรมของแก๊สมาก ถึงจะเป็นนักทดลองที่ไม่เก่งกาจนัก แต่ Dalton ก็ศึกษาจนได้พบว่า อากาศเป็นของผสมมิใช่สารประกอบ และในกรณีของแก๊สผสม Dalton ก็ได้พบว่า แก๊สแต่ละชนิดประพฤติตัวเสมือนเป็นอิสระจากกัน ซึ่งความจริงนี้ Dalton คิดว่าสามารถอธิบายได้ โดยสมมติว่า แก๊สประกอบด้วยอะตอม

นอกจากนี้ Dalton ก็ยังพบอีกว่า เมื่อเขาทดลองให้ความร้อนแก่แก๊ส โดยให้ความดันของแก๊สนั้นมีค่าคงที แก๊สจะขยายตัวเพิ่ม 1 ใน 273 ของปริมาตรเดิม ทุกครั้งที่อุณหภูมิของแก๊สเพิ่ม 1 องศาเซลเซียส ซึ่งความจริงนี้ Gay Lussac นักเคมีชาวฝรั่งเศสก็ได้พบเช่นกัน

ในยุคที่ Dalton ยังมีชีวิตอยู่ โลกรู้จักธาตุเพียงไม่กี่ชนิด แม้แต่นักเคมีเองก็ตกลงกันเรื่องคำจำกัดความของธาตุยังไม่ได้ Dalton ได้เสนอความคิดว่า การอธิบายปฏิกิริยาเคมีจะสมเหตุสมผล ถ้าอะตอมมีจริงในธรรมชาติ เขาจึงคิดหาวิธีเปรียบเทียบสมบัติของอะตอมแต่ละชนิด และก็ได้พบว่า อะตอมของธาตุแต่ละชนิดมีมวลไม่เท่ากัน จึงได้เสนอแนะให้เปรียบเทียบมวลของอะตอมของธาตุต่าง ๆ กับอะตอมของไฮโดรเจน ทำให้ได้ตารางมวลอะตอมในเดือนกันยายน พ.ศ.2346 แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ผลงาน จนอีก 2 ปีต่อมา

สำหรับงานเขียนของ Dalton ในช่วงที่สนใจเคมีนี้ คือ ตำรา System of Chemistry และ A New System of Chemical Philosophy ซึ่งถือว่าเปิดศักราชของวิชาเคมียุคใหม่ให้แก่โลก ณ วันนี้เรารู้ว่าถึง Dalton จะมีชื่อเสียงในฐานะบิดาคนหนึ่งของทฤษฎีอะตอม แต่เขาก็ไม่ได้เสนอความคิดเห็นเรื่องความแตกต่างระหว่างอะตอมกับโมเลกุล

ในบั้นปลายชีวิต Dalton มีฐานะดี และได้รับเกียรติยศมากมาย รวมทั้งได้บำนาญจากกษัตริย์ George ที่ 3ด้วย แต่ก็ยังทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนจนกระทั่งอายุ 75 ปี จึงเกษียณ และในบรรดาเกียรติยศที่ Dalton ได้รับนั้น คือได้เป็น Fellow of the Royal Society (F.R.S.) เมื่ออายุ 56 ปี และเป็นสมาชิกของ French Academy of Science เมื่ออายุ 72 ปี รวมถึงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย Oxford, Berlin, Munich กับ Moscow ด้วย

Dalton เสียชีวิตที่ Manchester เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2387 ขณะอายุ 78 ปี และหลังจากที่ตายได้ 1 วัน ตาทั้งสองข้างก็ถูกควักออก

สำหรับบทบาทของ Dalton ในเรื่องตาบอดสีนั้น Dalton ได้รายงานว่า ตนเห็นสีเขียวเป็นสีม่วง และเห็นสีน้ำเงินเป็นสีชมพู และในเวลากลางวันเขาจะเห็นดอกไม้สีชมพูดูมีสีฟ้า แต่ถ้าดอกไม้นี้อยู่ในแสงเทียนก็จะมีสีแดง การเห็นสีที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ Dalton ได้อธิบายว่า เกิดจากของเหลวที่อยู่ภายในลูกตาของเขามีสีน้ำเงิน ดังนั้น มันจึงดูดแสงสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไป และเพื่อเป็นการทดสอบความคิดนี้ Dalton ได้ขอให้แพทย์ Ransome ผ่าลูกตาของตนออกดู หลังจากที่ตนตายแล้ว และโลกก็ได้พบว่า ความคิดของ Dalton เกี่ยวกับสาเหตุตาบอดสีผิด สำหรับ Ransome เองก็คิดว่าความผิดปกติด้านนี้เกิดจากความบกพร่องในสมอง ซึ่งก็ผิดเช่นกัน

ในการศึกษาสาเหตุของตาบอดสีนั้น ในปี 2324 Giros von Gentilly ชาวเยอรมันได้เคยอธิบายว่า ในจอตา (retina) มีโมเลกุล 3 ชนิด ซึ่งทำหน้าที่รับแสง และอาการตาบอดสีเกิดจากการที่โมเลกุลหนึ่งหรือสองชนิดขาดหายไปจากจอตา หรือทำงานบกพร่อง เมื่อถึง วันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า จอตามี เซลล์รูปกรวย (cone cell) 3 ชนิดที่ว่องไวในการรับแสงสีน้ำเงิน (ความยาวคลื่น 420 นาโนเมตร) ชนิดที่ว่องไวในการรับแสงสีเขียว (ความยาวคลื่น 530 นาโนเมตร) และชนิดที่ไวต่อแสงสีแดง (ความยาวคลื่น 560 นาโนเมตร) และเมื่อเซลล์ทั้งสามชนิดทำงานอย่างกลมกลืนกัน ตาคนจึงเห็นสีต่างๆ ตามธรรมชาติของมันได้

เมื่อ 13 ปีก่อนนี้ John D. Molton กับคณะจากมหาวิทยาลัย London และ Cambridge ได้ศึกษาลูกตาของ Dalton ซึ่งขณะนี้เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Manchester Literary and Scientific Society เพื่อดูว่า Dalton ตาบอดสีอะไร และได้รายงานผลการศึกษาในวารสาร Science ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ว่า จอตาของ Dalton ไม่มี gene ที่ทำหน้าที่รับแสงที่มีความยาวคลื่นปานกลาง และแพทย์ปัจจุบันรู้จักอาการนี้ในนาม Deuteranopia ซึ่งทำให้ Dalton มีปัญหาในการมองวัตถุสีแดง

นี่จึงเป็นการศึกษาประวัติของบุคคล โดยการดู gene แล้วสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจจิตใจของคนที่ตายไปแล้ว (ถ้าอวัยวะบางส่วนของเขายังอยู่) ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส
ชิ้นส่วนตาของ Dalton ที่ถูกเก็บดองไว้
ความไวแสงของเซลล์กรวย 3 ชนิดในตาคนปกติ (รูปล่าง) ตาคนบอดสีชนิด protanopia (รูปกลาง) และ deuteranopia (รูปบน)
กำลังโหลดความคิดเห็น