xs
xsm
sm
md
lg

ถัง CNG ปลอดภัยโดยหลักการ แต่ทางปฏิบัติอาจเชื่อไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม - อุบัติเหตุถังก๊าซระเบิดขณะเติมก๊าซในปั๊ม
วิศวกรชี้ถังก๊าซ CNG ปลอดภัยโดยหลักการ แต่ทางปฏิบัติไม่แน่ หากคนควรทำตามหน้าที่ไม่ทำ รวมถึงความไม่รู้และประมาท จึงต้องมีมาตรการควบคุมการนำเข้าถังก๊าซ ซึ่งไทยยังผลิตเองไม่ได้

ระหว่างการเสวนาเรื่อง "รู้รอบ-ปลอดภัยก่อนใช้ถัง CNG1" ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.51 นี้ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.พิพล บุญจันต๊ะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนและก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของถังก๊าซ CNG ว่า

"โดยหลักการแล้วถังก๊าซมีความปลอดภัยทุกอย่าง ตั้งแต่การผลิต การตรวจสอบและการติดตั้ง แต่ที่มีปัญหาคือผู้มีหน้าที่ทำแต่ไม่ทำ และอีกอย่างคือไม่รู้หรือประมาท เช่น เชื่อมถังเป็นรอยไหม้ ลากถังโดยไม่รู้ ซึ่งถังชนิดนี้จะมีรอยขูดลึกได้ไม่เกิน 1.4 มิลลิเมตร และถูกแสงยูวีไม่ได้ จึงจำเป็นต้องให้การศึกษา ตอนนี้จึงต้องควบคุมการนำเข้า เพราะเราต้องนำเข้าทั้งหมด และต้องเข้มงวดในการตรวจสอบภายในประเทศให้มากขึ้น รวมถึงให้การฝึกอบรมแช่างและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง" ผศ.ดร.พิพลกล่าว

ผศ.ดร.พิพลระบุว่า ไทยนำเข้าถังก๊าซ CNG จากหลายประเทศ อาทิ จีน เกาหลี อิตาลี อาร์เจนตินา เยอรมนี บราซิล เป็นต้น ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไปตามแหล่งที่นำเข้า แต่ปัญหาที่เกิดการระเบิดขึ้นในเมืองไทยเป็นถังที่เข้าจากเกาหลี ทั้งสาเหตุของปัญหาคือการใช้งานผิดประเภท โดยนำถังก๊าซ LPG ซึ่งรับแรงดันได้ต่ำกว่าคือประมาณ 15 บาร์ (bar) มาใช้งานแทนถังก๊าซ CNG ซึ่งต้องรับแรงดันถึง 200 บาร์

"เราต้องดูแลถังก๊าซอย่างดี ยิ่งกว่าไข่ในหิน เพราะมีความดันสุงและมีก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเราจะไม่ยอมให้รั่วหรือระเบิด แต่ถังจะแตก ต้องยอมให้รั่ว กรณีก๊าซ CNG รั่วจะเกิดไฟไหม้ แต่ต้องสะสมความเข้มข้น 5% ขึ้นไป ซึ่งปกติก๊าซชนิดเป็นก๊าซน้ำหนัก เมื่อรั่วจะลอยขึ้นไปและไม่สะสมให้เกิดการไหม้ ส่วนก๊าซ LPG เป็นก๊าซหนักและสะสมเมื่อรั่ว ซึ่งจะติดไฟเมื่อมีความเข้มข้น 2% ทั้งนี้มีอันตรายไปคนละอย่าง แต่อันตรายป้องกันได้ กลัวคนมีหน้าที่ต้องทำ ไม่ทำมากกว่า เพราะถ้าละเลยจะอันตรายมาก"

ทั้งนี้ในขั้นตอนการผลิตถังก๊าซ CNG ผศ.ดร.พิพลแจงกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบแบบในการผลิต 2.ตรวจสอบต้นแบบที่ผลิต 3.หลังผลิตออกมาแล้วต้องดึงออกมาทดสอบ 4% 4.ตรวจทุกถังแบบไม่ทำลาย อาทิ ฉีดอัดน้ำทดสอบความด้านทานแรงดัน เป็นต้น 5.ตรวจสอบระหว่างใช้งาน

"ไม่ใช่แค่ไทยที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับถังก๊าซ สหรัฐฯ แคนาดา พม่า เกาหลี อิหร่าน และทุกที่ที่ใช้ก๊าซ CNG ล้วนเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้งานไม่ถูกต้อง และอาจมีเรื่องความเป็นกรดหรือคุณภาพของก๊าซด้วย นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของถัง การติดตั้ง การตรวจสอบ ข้อจำกัด อาทิ ผิวถังต้องเป็นรอยไม่เกิน 1.4 มิลลิเมตร ถังต้องไม่เสียดสีกับเหล็ก หรือต้องไม่มีรอยไหม้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องบอกแก่ผู้ใช้ เราต้องมีข้อมูลเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้สนใจ หรือไม่รับรู้ด้วยว่าเขามีข้อมูลเหล่านี้หรือไม่" ผศ.ดร.พิพลกล่าว
การเสวนาเรื่องความปลอดภัยการใช้ถัง CNG
ผศ.ดร.พิพล บุญจันต๊ะ
บรรยากาศการเข้าร่วมเสวนา ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการจำหน่าย-ติดตั้งถังก๊าซ วิศวกรและนิสิต-นักศึกษาเข้าร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น