xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 10 ปีมี "ซูเปอร์พืช" ตัดต่อหลายยีนในต้นเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.มานูเอล โลโกรโน
ผู้บริหารซินเจนตาเผย ตลาดพืชจีเอ็มโอเติบโตต่อเนื่อง ชี้อีก 10 ปี พืชดัดแปลงยีนเดียวมีแนวโน้มหยุดนิ่ง แต่จะมีพืชชนิดใหม่ที่ดัดแปลงหลายลักษณะในต้นเดียวเริ่มแจ้งเกิด พร้อมขยายไลน์จากเพิ่มผลผลิต สู่จีเอ็มโอเพื่อเพิ่มโภชนาการ กำจัดสารพิษ ผลิตวัคซีน ส่วนผลสำรวจผู้บริโภคใน 5 ประเทศ ระบุส่วนใหญ่กังวลเรื่องสารเติมแต่งและสารเคมีตกค้างมากกว่าเป็นจีเอ็มโอ

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ความก้าวหน้าในการพัฒนาพันธุ์พืช และผลิตภัณฑ์จากพืชเทคโนโลยีชีวภาพ" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วย โดยมี ดร.มานูเอล โลโกรโน (Dr. Manuel Logrono) ผู้บริหารจากบริษัทซินเจนตาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Syngenta) และ ดร.จอร์จ ฟูลเลอร์ (Dr. George Fuller) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ข้อมูลด้านอาหารแห่งเอเชีย (Asian Food Information Center: AFIC) เป็นวิทยากรพิเศษ

ดร.โลโกรโน กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากพืชเทคโนโลยีชีวภาพแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะที่มีการใช้มากที่สุดคือพืชต้านทานยาปราบวัชพืช และต้านทานยาฆ่าแมลง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และจะต่อเนื่องไปอีกราว 5-10 ปี ก็จะเริ่มคงที่

ทั้งนี้เนื่องจากในอนาคต จะเริ่มมีพืชดัดแปลงพันธุกรรมตัวใหม่ออกมา ที่มีการตัดต่อพันธุกรรมรวมเอาหลายๆ ลักษณะมาไว้ในพืชชนิดเดียว จากแต่เดิมที่จะดัดแปลงพันธุกรรมเพียงลักษณะเดียวในพืชชนิดนั้นๆ

ฉะนั้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม 4 ลักษณะ หรือ 8 ลักษณะ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีที่ช่วยในการถ่ายสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่งก้าวหน้าขึ้นมาก และทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีด้านไบโออินฟอร์เมติก (Bioinformatic) ที่มีการนำเอาเทคนิคทางคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

ส่วนรูปแบบของพืชดัดแปลงพันธุกรรมและการใช้ประโยชน์ก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นจากที่มุ่งในด้านการเพิ่มผลผลิต แก้ปัญหาโรคและแมลง ไปสู่การดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่น เพิ่มกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย เพิ่มวิตามินเอในข้าว มะเขือเทศโฟเลทสูง, ยืดอายุผลผลิตและการเก็บเกี่ยวในมะเขือเทศ มะละกอ และพืชตระกูลแตง

ดัดแปลงพันธุกรรมพืชพลังงานให้มีชีวมวลเพิ่มมากขึ้น หรือให้มีการสร้างเอนไซม์สำคัญที่เปลี่ยนเซลลูโลสให้เป็นเอทานอลได้ดี รวมถึงใช้พืชจีเอ็มโอเป็นเสมือนโรงงานผลิตชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น วัคซีนป้องกันตับอักเสบบีจากมันฝรั่ง และใช้เพื่อกำจัดสารพิษในสิ่งแวดล้อม อาทิ โลหะหนัก ทีเอ็นที

ดร.โลโกรโน บอกอีกว่าในส่วนของซินเจนตาเองก็มีการวิจัยและพัฒนาพืชจีเอ็มโอเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าวหลายชนิด และที่ใกล้จะได้ผลในเร็วๆ นี้คือ ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมให้สร้างเอนไซม์อะไมเลสสูง สามารถเปลี่ยนแป้งและเซลลูโลสให้เป็นเอทานอลได้ดีสำหรับใช้เป็นพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ตาม ซินเจนตาก็ยังห่วงกังวลในเรื่องความเข้าใจของสังคมต่อพืชจีเอ็มโอ การตรวจสอบความปลอดภัย กฏระเบียบและการควบคุมดูแล รวมถึงการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเกษตรกรและนักวิชาการ

ด้าน ดร.ฟูลเลอร์ ได้ทดลองสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคประมาณ 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ในเมืองหลวงของประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ พบว่าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของอาหาร และการติดฉลาก โดยที่ความเชื่อมั่นนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลบนฉลาก และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับส่วนผสมที่มาจากพืชจีเอ็มโอมากนัก แต่กังวลในเรื่องของสารเติมแต่งอาหาร สารพิษ สารเคมีตกค้าง และแหล่งผลิตมากกว่า

ผู้บริโภคจำนวน 2 ใน 3 ระบุว่าอ่านฉลากสินค้าเป็นประจำ ในจำนวนนี้ชาวเกาหลีอ่านฉลากน้อยกว่าเพื่อน ส่วนข้อมูลบนฉลากที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือวันหมดอายุ รองลงมาคือสารเติมแต่งอาหาร คุณค่าทางโภชนา มากกว่าจะสนใจว่ามีจีเอ็มโอหรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าชาวเกาหลีและญี่ปุ่นจะพิจารณาถึงจีเอ็มโอมากกว่าอีก 3 ประเทศที่เหลือ

เมื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้าใจ โดยที่ฟิลิปปินส์เข้าใจมากกว่าเพื่อน ขณะเดียวกันทั้งฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน ซึ่งเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอกันอย่างจริงจังจะมองเห็นด้านบวกและประโยชน์ของพืชจีเอ็มโอมากกว่าเกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพืชจีเอ็มโอ

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่งในประเทศที่นำเข้าพืชจีเอ็มโอ และเกือบทั้งหมดในประเทศผู้ผลิต ยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นพืชจีเอ็มโอหรือไม่ หากมาจากการผลิตอาหารแบบยั่งยืน คือมีปริมาณเพียงพอ ราคาเหมาะสม และไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง

จากผลการสำรวจข้างต้น ดร.ฟูลเลอร์ ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจนและมีความสมดุลทั้ง 2 ด้าน ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคได้.
ดร.จอร์จ ฟูลเลอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น